xs
xsm
sm
md
lg

ลดการใช้ยา ด้วยการเพิ่มปัญญา!! ม.รังสิต เตรียมเปิด "วิถีชีวาเวชศาสตร์" / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด
ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 3 กันยายน 2560

ภายหลังจากการที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้เล็งเห็นความสำคัญของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสูงสังคมผู้สูงวัยมากขึ้น จึงได้จัดตั้ง "สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต" ขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เพื่อเป็นขุมพลังแห่งปัญญาในการที่จะทำให้การสาธารณสุขของประเทศไทยเข้มแข็งขึ้นในทุกระดับ ทั้งประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์

หนึ่งในหลักสูตรประเดิมของสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยคือการหลักสูตรที่เรียกว่า "วิถีชีวาเวชศาสตร์" (Lifestyle Medicine) หรือการแพทย์จากพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิต ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนถึงเข้านอน

หลักสูตรนี้จึงไม่เพียงเหมาะกับคนธรรมดาทั่วไปที่ต้องการเป็นหมอสำหรับตนเองและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับผู้ประกอบการด้านสุขภาพที่ต้องการให้คำปรึกษาในด้านวิถีการดำเนินชีวิตของลูกค้าอย่างถูกต้อง และยังเหมาะสำหรับนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ที่จะช่วยให้คำแนะนำผู้ป่วยให้ป้องกันและรักษาโรคที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างถูกต้องและเป็นวิทยาศาสตร์จากงานวิจัยล่าสุด

เพราะสาเหตุการเจ็บป่วยในยุคนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย ภาษาอังกฤษเรียกโรคในกลุ่มนี้ว่าโรค NCDs หรือ non-communicable diseases.

ตัวอย่างของโรค NCDs ได้แก่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วนลงพุง โรคตับแข็ง โรคสมองเสื่อม ฯลฯ ซึ่งตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย โดยมีคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs ถึง 14 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 300,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี และโรคเหล่านี้สามารถป้องกันและเยียวยาได้อย่างตรงประเด็นที่สุดคือ "การปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้ถูกต้อง"

แต่หลักสูตร "วิถีชีวาเวชศาสตร์" (Lifestyle Medicine) ของสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย แห่งมหาวิทยาลัยรังสิตนั้น ไม่ได้ให้องค์ความรู้อยู่เพียงการป้องกันและเยียวยาโรค NCDs เท่านั้น

แต่จะขยายขอบเขตถึงการให้องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้ "ชะลอวัย"ด้วย เพราะการชะลอวัยก็คือการชะลอความเสี่อมของร่างกาย ถ้ามีผู้เข้าเรียนมากขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทยนั้นมีคุณภาพมากขึ้น เจ็บป่วยจากความเสื่อมช้าลง ขยายความสามารถในการทำงานและสร้างเศรษฐกิจของผู้สูงวัยได้นานขึ้น

นอกจากนี้ หลักสูตรนี้ยังจะทำให้ผู้เข้าเรียนในหลักสูตรจะสามารถเป็นหมอเบื้องต้นสำหรับตนเองและครอบครัวด้วย โดยระดมผู้รู้และแพทย์หลากศาสตร์หลายแขนงจากการปฏิบัติจริง มาบูรณาการองค์ความรู้กันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเรียนการสอนให้กับประชาชนทั่วไป ได้แก่ นักธรรมชาติบำบัด แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์ทางเลือก นักโภชนาการบำบัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายสำหรับเฉพาะบุคคล จิตแพทย์ นักสืบค้นข้อมูลจากงานวิจัยด้านสุขภาพ ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อคัดสรรสกัดนำองค์ความรู้มาบูรณาการเฉพาะสำหรับการลงมือปฏิบัติใช้ประโยชน์ได้จริงในครอบครัวให้กับผู้เข้าเรียนหลักสูตรนี้

ตัวอย่างวิชาที่จะเรียนและอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ได้แก่ โภชนาการบำบัด, ธรรมานามัย, การนวดและกดจุดแก้อาการในบ้าน, การบริหารระบบภูมิคุ้มกัน, การล้างพิษด้วยตนเอง, การแพทย์ฉุกเฉินในบ้าน, การใช้สมุนไพรในบ้าน, การฝังเข็มแก้บางอาการในบ้าน, การค้นคว้าและวิธีการอ่านงานวิจัยจากต่างประเทศในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารจัดการสภาพจิต ฯลฯ

แนวทางการเรียนในหลักสูตรข้างต้นก็เพื่อทำให้คนทั่วไปมีสุขภาพที่ดีขึ้น ดูแลตัวเองและคนในครอบครัวได้ดีขึ้น พึ่งพายาและหมอน้อยลง ทำให้ลดภาระงบประมาณของรัฐในการการสร้างโรงพยาบาลและการจัดซื้อยาให้น้อยลง ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลภาครัฐ อีกทั้งยังทำให้คุณภาพชีวิตของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐและชนบทดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลจะมีคุณภาพดีขึ้นไปด้วยในท้ายที่สุด

หลักการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือ
"เปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นหมอดูแลตนเองและครอบครัว" !!!
และ "ลดการใช้ยา ด้วยการเพิ่มปัญญา"!!!

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนี้ไม่ได้ปฏิเสธหรือละเลยการใช้ยาและหมอแผนปัจจุบัน ในทางตรงกันข้ามจะเปิดการเรียนการสอนเพื่อสังเกต ตรวจดูอาการ ประเมินผู้ป่วยในบ้าน เพื่อดูแลอาการฉุกเฉินเบื้องต้นหรือการใช้ยาอย่างถูกวิธี และตัดสินใจส่งโรงพยาบาลให้ได้ทันเวลาอีกด้วย

ในขณะเดียวกันก็จะได้รับความรู้ในหลักคิดของแพทย์แผนไทย แพทย์ทางเลือกและแพทย์บูรณาการทั้งระบบในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ผู้เข้าเรียนสามารถใช้เป็นเครื่องมือตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาเมื่อตนเองหรือคนในครอบครัวเจ็บป่วย นอกเหนือจากแพทย์แผนปัจจุบันแต่เพียงอย่างเดียว

หลักสูตรนี้จะใช้เวลาการเรียนเฉพาะช่วงเช้าและบ่ายวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ไม่กำหนดวุฒิการศึกษา (ขอเพียงอ่านออกเขียนได้) อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีขึ้นไป และไม่จำกัดเพดานอายุ เพราะการศึกษาเรื่องวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีนั้น ควรจะให้โอกาสคนไทยทุกคนในการวางรากฐานด้านสุขภาพให้แข็งแรงให้กับทุกครอบครัว

และเพื่อควบคุมคุณภาพการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติได้จริง ในหลักสูตร "วิถีชีวาเวชศาสตร์" รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย แห่งมหาวิทยาลัยรังสิตนี้ จะจำกัดหรือคัดเลือกผู้เข้าเรียนรุ่นแรกประมาณ 50 คนเท่านั้น และคาดว่าจะประเดิมเปิดการเรียนการสอนรุ่นแรกได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2560

แม้วันนี้จะยังไม่เปิดหลักสูตรอย่างเป็นทางการและอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ แต่ท่านใดสนใจที่จะเรียนหลักสูตร "วิถีชีวาเวชศาสตร์" ของสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต สามารถลงทะเบียนแจ้งความจำนงเพื่อจองการเรียนล่วงหน้าได้ โดยติดต่อที่สถาบันรังสิตวิชชาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต เบอร์โทรติดต่อที่ 02-791-5681, 02-791-5683, 02-791-5684

กำลังโหลดความคิดเห็น