จากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2-8 กันยายน 2560 |
โลกได้พิสูจน์แล้วว่าแม้ทุกคนได้เวลามาเท่ากันวันละ 24 ชั่วโมง แต่ประสิทธิภาพการใช้เวลา เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าต่อตัวเองและคนอื่นนั้นไม่เท่ากัน
การจัดสรรเวลาหรือการบริหารเวลาอย่างฉลาดและใช้เวลาอย่างคุ้มค่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่งผลลัพธ์ได้ทั้งแง่บวกและลบ จนกล่าวได้ว่า “เวลาคือต้นทุนที่แพงที่สุด”
คะซึโยะ คัตสึมะ เขียนหนังสือเล่มใหม่ที่ ณิชากร อุปพงษ์ ผู้แปลให้ชื่อพากษ์ไทยว่า “จัดสรรเวลาดี มีรายได้เพิ่ม 10 เท่า”
เธอเคยเขียนหนังสือชื่อ “หลักการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มรายได้ต่อปี 10 เท่า ด้วยวิธีสมเหตุสมผลและทำได้ต่อเนื่อง” ก็ฮือฮาขายดีกว่า 100,000 เล่ม เมื่อวางขายไม่ถึงเดือน
หนังสือเล่มล่าสุดนี้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการบริหารเวลาที่เธอเรียกว่า “วิธีการลงทุนกับเวลา” เพราะให้ผลเชิงกำไรและขาดทุนจากการใช้เวลานั่นเอง
นี่ไม่ใช่หนังสือหลักการบริหารเวลาที่บอกเชิงทฤษฎีที่มีทั่วไป แต่ผู้เขียนได้บอกเล่าประสบการณ์ที่สรุปผลมาเป็นความรอบรู้ในการทำงานและการใช้เวลากับครอบครัว มีกลยุทธ์ในการจัดการที่ให้ข้อคิดผ่าน “กฎ 10 เท่า” ซึ่งมีถึง 35 ข้อ
•ประหยัดเวลาได้แน่
ถ้าเปลี่ยนกลไกการทำงาน
คนทั่วไปมักทำอะไรไปโดยความเคยชิน จากความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ซึ่งเมื่อปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยน ก็ต้องคิดใหม่ เปลี่ยนวิธีการใช้เวลา และสร้างพฤติกรรมใหม่ ด้วย “หลักการลงทุนกับเวลา”
น่าสนใจที่จุดมุ่งหมายของหนังสือเล่มนี้คือ
“จะใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพและมีชีวิตแบบที่มีเวลาเหลือได้อย่างไร” การบริหารเวลา จึงมีความหมายเดียวกับ “การลดสิ่งที่ทำ” นั่นเอง เพราะมีการจัดการงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ก็สามารถเพิ่มเวลาที่แสนจะมีความหมายด้วย “การลงทุนกับเวลา”
การสร้างวงจรที่ดี
หนังสือเล่มนี้มุ่งหาคำตอบว่าทำอย่างไรจึงจะสร้าง “วงจรที่ดี” เพราะยิ่งสร้างความสามารถที่แท้จริงหรือค้นหาสิ่งที่ชอบและถนัดหรือทำได้ดี (ก็คือ Passion) ให้ตัวเองได้เท่าไหร่จะยิ่งจำกัดสิ่งที่ทำได้ดีมากขึ้น ผลสำเร็จก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
“สิ่งที่ไม่ทำ” สำคัญกว่า “สิ่งที่ทำ”
การได้แปลงผลข้อมูลเป็นเชิงปริมาณที่เป็นตัวเลข จะจัดค่าความสำเร็จที่จูงใจให้ตัดสินใจได้ดี ดังนั้น จึงต้องตั้งสติเสมอว่าตัวเองกำลังใช้เวลาทำอะไรอยู่ และทำให้ผลงานต่อหน่วยเวลา (เช่นต่อชั่วโมงหรือต่อวัน) มากขึ้นไหม และบรรลุตัวชี้วัดหรือไม่
อย่างผู้เขียนบอกว่า “ฉันจะตัดสินใจรับงานที่ได้ค่าแรงสูงกว่า” และเวลาทำงานจะตั้งสติว่า “ต้นฉบับนี้ตัวอักษรละกี่เยน” “หนึ่งชั่วโมงฉันเขียนได้กี่ตัวอักษร” เป็นต้นที่สุดแล้ว คัตสึมะได้ระบุเป็น 5 ข้อของ “กฎเวลาเป็นเงินเป็นทอง” ที่น่าสนใจมาก ได้แก่
ข้อ 1. อย่าเสียดาย “การลงทุน” ทุกด้านเพื่อสร้างเวลา
(1)การลงทุนเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น ยานพาหนะ คอมพิวเตอร์และเครื่องเขียน
(2)การลงทุนการสร้างสมรรถภาพทางกาย เพื่อให้สุขภาพดีมีประสิทธิภาพในการใช้เวลาได้ตลอดชีวิต
(3)การลงทุนการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงกิจวัตรในการดำเนินชีวิต เช่น เลิกสิ่งเสพติด เช่น เหล้า- บุหรี่ หรือแม้แต่ละครโทรทัศน์และการติดเครื่องมือสื่อสารในเรื่องไม่มีสาระ ซึ่งเสมือนเป็น “โจรขโมยเวลา”
(4)การลงทุนเพื่อให้มีความรู้
เป็นการเพิ่มความรอบรู้ เป็นการจัดการชีวิตและกิจวัตร เพื่อให้มีเวลาทำสิ่งที่มีคุณประโยชน์ เช่น หนังสือ “เลิกบุหรี่ด้วยวิธีง่ายๆ” หรือหาความรู้ด้านโภชนาการในการเรียนรู้อาหารที่ดีต่อสุขภาพ หรือความรู้ด้านพฤติกรรมเพื่อเปลี่ยนนิสัยให้ได้
(5)ลงทุนใช้บริการจากมืออาชีพ
นี่เป็นการขอใช้แรงคนอื่นช่วยทำในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ หรือไม่มีเวลาทำ เช่น ครอบครัวที่พ่อ แม่ทำงานนอกบ้าน อาจต้องจ้างคนรับ-ส่งลูก หรือผู้หญิงที่ต้องการดูแลความสะอาด ความสวยก็ต้องใช้บริการช่างเสริมสวยมืออาชีพ
ข้อ 2 ยึดผลสำเร็จต่อหนึ่งหน่วยเป็นหลัก
(1)ตระหนักถึง “รายได้ต่อชั่วโมง” ของตัวเอง คือ การหารเงินเดือนด้วยชั่วโมง ซึ่งผู้เขียนแนะน ว่าควรฝึกนิสัยหารทุกอย่างทั้งราคาและค่าใช้จ่ายด้วยจำนวนชั่วโมง
(2)ตระหนักถึง “ราคาต่อชั่วโมง” ของการใช้บริการ
ถ้ารายได้ต่อชั่วโมงที่เราได้มากกว่าค่าบริการต่อชั่วโมง ก็จะตัดสินใจลงทุนซื้อบริการง่ายขึ้น
(3) คิดให้ดีถึงค่าใช้จ่ายนอกเวลาทำงาน
การรับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ ก่อให้เกิดความรู้หรือได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่เป็น ประโยชน์หรือเกิดรายได้ในอนาคตหรือไม่
ก็จะเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการไปร่วมงาน รวมทั้งเวลาที่สูญเสียไปว่าคุ้มค่าไหม
แต่บางครั้งการไปงานเพื่อการผ่อนคลายก็ยังถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่ดีได้
หลักเหล่านี้จึงเป็นเพียงกรอบให้พิจารณาในการจัดแบ่งเวลา จำเพื่ออะไร จะได้ไม่ใช้เวลาโดยสิ้นเปลือง
(4)ตระหนักเรื่องรายได้ต่อชั่วโมง คำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างผลของงานและชีวิตส่วนตัวโดยคำนวณ “ผลสำเร็จต่อชั่วโมง”
เพราะเราจะใช้เวลาของตัวเองกับสิ่งที่มีความหมายเท่านั้น
ข้อ 3. ไม่เป็น “คนดี” เกินความจำเป็น
(1)ไม่ตอบรับคำขอร้องโดยไม่จำกัด
(2)กล้าที่จะปฏิเสธคำชักชวนที่ไม่มีความหมาย
ข้อ 4 ให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยากทำ สิ่งที่ถนัดและสิ่งที่ทำเงินได้ก่อน
(1)เลือกทำสิ่งที่ถนัดเป็นอันดับแรก
(2)ไม่ฝืนทำสิ่งที่ไม่ถนัด
ข้อ 5 กำหนดตารางเวลาหลวมๆ
(1)ไม่ใส่ตารางงานจนแน่น ควรเว้นช่องว่างระหว่างรายการที่ 1 กับรายการถัดไป
(2) แบ่งตารางเวลาเป็นช่องว่าและแบ่งเป็นรายการส่วนย่อย
ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ การจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนกับเวลา
•เวลาเพื่อการลงทุน (ไม่เร่งด่วน แต่สำคัญ)
-การศึกษาหาความรู้ เพื่อพัฒนาตัวเอง
-กีฬาและการสร้างสุขภาพ
-การรักษาสมดุล ตัวเรา ความรักและครอบครัว
•เวลาเพื่อการดำรงชีวิต (เร่งด่วนและสำคัญ)
-ภารกิจในระบบงาน
-เวลาพัก
•เวลาที่ใช้อย่างสิ้นเปลือง (เร่งด่วน แต่ไม่สำคัญ)
-เวลาเดินทาง
-การผลิตเอกสารที่ไม่มีความหมาย
-ดูละครโทรทัศน์
•เวลาเพื่อสิ่งไร้ประโยชน์ (ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ)
-เล่นอินเทอร์เน็ตเรื่อยเปื่อย
-นอนขี้เกียจบ่ายวันหยุด
-พูดคุยเรื่องไร้สาระ
-สูบบุหรี่
หลักคิดเหล่านี้จึงเป็นเพียงกรอบให้พิจารณาในการจัดแบ่งเวลา ที่ต้องมีเหตุผลว่าทำเพื่ออะไร จะได้ไม่ใช้เวลาโดยสิ้นเปลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มองการจัดการเวลาด้วยมิติ “การลงทุนด้านเวลา” เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์และคุ้มค่า
ข้อมูลจากหนังสือ
จัดสรรเวลาดี มีรายได้เพิ่ม 10 เท่า
คะซิยะ คัดสึมะ เขียน
ณิชากร อุปพงษ์ แปล
สำนักพิมพ์ AMARIN How-To