xs
xsm
sm
md
lg

สกัดอุปนิสัยที่สำคัญ นำพาชีวิตสู่ความสำเร็จ / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 -
30 กรกฎาคม 2560


ถ้าจะกล่าวถึงหนังสือยอดนิยม ผมคิดว่า “The 7 Highly Effective People” หรือชื่อปกพากษ์ไทยว่า
“7 อุปนิสัย สำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง” ซึ่งเขียนโดย ดร.สตีเฟน อาร์. โควีย์ น่าจะติดทำเนียบหนังสือระดับอมตะ ประเภทพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่พิมพ์ซ้ำ ยืนยาวมาราว 25 ปี ด้วยจำนวนขายทั่วโลกไม่น้อยกว่า 15 ล้านเล่ม


ตอนนี้ฌอน โคลีย์ ลูกชายของท่านได้นำชุดบทความของพ่อที่เขียนไว้ก่อนอำลาโลก มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มล่าสุด สำนักพิมพ์ดีเอ็มจีตั้งชื่อว่า “อุปนิสัยที่ยิ่งใหญ่ : หลักแห่งชีวิต 12 ประการ”

ท่านที่เคยอ่านเล่มต้นตำรับคือ “7 อุปนิสัย สำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง” ลองทบทวนดูการใช้ประโยชน์จากหลัก “วงจรวุฒิภาวะ” ทั้ง 7 อุปนิสัยนั้น สามารถแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้

อุปนิสัยที่เป็นนายตัวเอง (Private Victory)

1.เลือกตัดสินใจทำเชิงรุก (Be Proactive)
2.เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ (Begin With the End in Mind)
3.ทำสิ่งที่สำคัญก่อน (Put First Things First)

อุปนิสัยได้ใจสังคม (Public Victory)

4.คิดแบบชนะ-ชนะ (Think Win-Win)
5.เข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา (Seek First yo Understand, Then to be Understand)
6.สร้างผลึกผนึกความต่าง (Synergize)

อุปนิสัย 7 ลับเลื่อยให้คมเสมอ (Sharpen the Saw)

เป็นที่ยอมรับกันว่าอุปนิสัยทั้ง 7 ดังกล่าวเป็นคุณลักษณะสำคัญที่สร้างเสริมให้เกิด “ประสิทธิผล” ที่ดีแก่การดำเนินชีวิตและการสร้างผลงานแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมประทับใจในอุปนิสัยที่ 2 “การเริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ” ซึ่งเป็นภาวะของผู้นำที่มีจินตภาพเห็นผลลัพธ์ที่เป็นเป้าหมายความสำเร็จที่ต้องการ เป็นความรู้สึกเสมือนว่าได้เกิดขึ้นจริงแล้ว

หากเป็นคนใฝ่ดี ใฝ่เห็นการพัฒนา เห็นผลการปฏิรูป นั่นคือ จินตภาพของผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้น เมื่อมองย้อนมาถึงยังจุดเริ่มปฏิบัติการในปัจจุบันขณะ ก็ต้องสร้างเหตุปัจจัยที่เอื้อให้เกิดผลลัพธ์ปลายทางดังที่ต้องการได้

ในหนังสือเล่มใหม่ที่มาจากมรดกบทความของสตีเฟน อาร์. โควีย์ จึงน่าจะเป็นการขยายความอุปนิสัยที่ 2 ดังกล่าวได้ดี

โควีย์ ย้ำสอนลูกทั้ง 3 คนเสมอว่า ชีวิตคนเรามี 2 แนวทาง คือ

1.ชีวิตที่ยึดหลัก “คุณค่าภายใน” ที่สะท้อนจากการมีพฤติกรรมที่สั่งสมเป็นคุณสมบัติ มีอุปนิสัย การยึดหลักคุณธรรม มีแรงจูงใจในการใช้ชีวิต และมีความปรารถนาในส่วนลึกของหัวใจ


2.ชีวิตที่คำนึงถึง “คุณค่าภายนอก” ที่มาจากการกำหนดของปัจจัยภายนอก เช่น ตำแหน่งหน้าที่ ชื่อเสียง โชคลาภ และการเป็นที่ยอมรับของสังคม

โควีย์ย้ำว่า “ไม่ต้องใส่ใจกับคุณค่าภายนอก แต่ให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน”

แต่ก็น่าสังเกตว่า บางครั้ง บางคน เราพบว่ามีคุณค่าภายนอก คือ มีทั้งลาภ ยศ สรรเสริญและความสุข เกิดขึ้นกับคนที่มีคุณค่าภายใน คือ มีคุณธรรม ความดีที่เกิดจากจิตใจใฝ่ดี เรียกว่า มีพร้อมทั้งดีภายในและดีภายนอก

อย่างไรก็ตาม แก่นแท้ที่เป็นสัจธรรมก็ต้องเกิดมาจากภายใน โควีย์จึงยืนยันว่า ผู้ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าภายในที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะได้รับผลตอบแทนที่มีความหมายนั่นคือ มีความสุขใจในความคิดและการกระทำ การอุทิศตนทำสิ่งที่มีคุณค่าให้ผู้อื่น ก็จะเกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ทั้งภายในครอบครัวและมิตรสหาย ผลตอบแทนจากคุณค่าภายในที่เป็นความรู้สึกทางใจที่ว่านี้จึงมีคุณค่าเหนือกว่าและยั่งยืนกว่าผลตอบแทนจากคุณค่าภายนอก เช่นทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียงหรือความสุขสำราญ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า นั่นคือ ความสำเร็จซึ่งอาจไม่จีรังยั่งยืน

หนังสือเล่มนี้ ล่าสุด ดร.โควีย์แนะนำวิธีการดำเนินชีวิตที่ไม่ให้ถูกครอบงำจาก “คุณค่าภายนอก” แต่ให้ความสำคัญกับ “คุณค่าภายใน” ด้วยการตกผลึกเป็นหลักการดำเนินชีวิต 12 ประการ เพื่อนำชีวิตสู่วิถีความสำเร็จ ได้แก่

1.การยึดหลักคุณธรรม
2.การอุทิศตน
3.การจัดลำดับความสำคัญของชีวิต
4.การรู้จักเสียสละ
5.การมีจิตบริการ
6.จิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ
7.ความซื่อสัตย์
8.ความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกัน
9.การให้คุณค่าแก่ความหลากหลาย
10.การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
11.การฝึกฝนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
12.การเรียนรู้ด้วยการสอนผู้อื่น

ขึ้นต้นตั้งแต่ข้อแรก “หลักคุณธรรม” เป็นเรื่องสำคัญที่สุดทั้งในการดำเนินชีวิตและการงาน ก็ต้องมีคุณธรรมทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้เกิดคุณค่าที่ดีทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

เรียกอีกอย่างก็คือ มี “ธรรมาภิบาล” คือ ซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ที่กระทำเพื่อตัวเองและส่งผลถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง คนที่มีคุณลักษณะข้อนี้ข้อเดียว ใครๆ ก็อยากคบหาสมาคมและพร้อมสนับสนุน 

อีกข้อที่ผมอยากหยิบยกมากล่าวถึงก็คือ ข้อ 6 มี “จิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ” หรือ Accountability ซึ่งมีความลึกซึ้งและครอบคลุมถึงผลกระทบที่มากกว่าแค่ความรับผิดชอบตามหน้าที่

ดังนั้น หากมีทั้งหลักคุณธรรมหรือธรรมาภิบาล รวมทั้งมีจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอด ก็จะเกิดการรักษาความสมดุลธรรมชาติ เกิดคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความถูกต้อง เป็นธรรม สังคมจะน่าอยู่ โลกจะได้รับการถนอมรักษาและผู้คนจะอยู่กันได้อย่างมีความสุข มีสวัสดิภาพยิ่งขึ้น


ข้อมูลจากหนังสือ​
อุปนิสัยที่ยิ่งใหญ่​
หลักชีวิต 12 ประการ
ผู้แต่ง​ Stephen R. Covey
ผู้แปล​ กุศล​ิน​ ธรรมเจริญกิจ
ผู้เรียบเรียง​ ดนัย​ จันทร์​เจ้า​ฉาย
สำนักพิมพ์​ dmg Books


กำลังโหลดความคิดเห็น