xs
xsm
sm
md
lg

ทราบแล้วรีบเปลี่ยนความคิด! 9 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By: Pharmchompoo
เราเคยคุยกันไปเล็กน้อยก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการกินวิตามินอย่างไรให้ได้ผล ซึ่งก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพไม่มากก็น้อย คราวนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง “การกินยาโดยทั่วไป” หลักการกินยาอย่างไรให้ได้ผลไม่เสียเงินค่ายาโดยเปล่าประโยชน์

ความเข้าใจผิดข้อที่ 1 : ยาฆ่าเชื้อทุกชนิดต้องกินก่อนอาหาร

ความจริง : ยาฆ่าเชื้อทุกชนิดไม่จำเป็นต้องกินก่อนอาหาร ความเข้าใจนี้มาจากยุคที่เรายังมียาฆ่าเชื้อแบคทีเรียไม่มาก หรือมีการใช้ ampicillin (ยาแคปซูลดำ-แดง) เป็นยากิน ซึ่งยานี้ถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหารจึงต้องกินขณะท้องว่าง ปัจจุบันเรามียาฆ่าเชื้อหลายชนิดที่กินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ตัวอย่างของยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ต้องกินก่อนอาหาร 30-60 นาที หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง ได้แก่ dicloxacillin, cloxacillin (ซึ่งอัตราการใช้น้อยลงมาก) roxithromycin และ azithromycin รูปแบบแคปซูล

ความเข้าใจผิดข้อที่ 2 : ยาที่บอกว่ากินหลังอาหาร ถ้าไม่ได้กินอาหารก็กินไม่ได้

ความจริง: การเอามื้อยาไปผูกกับมื้ออาหารเป็นเรื่องที่ช่วยเตือนให้ไม่ลืมกินยา (เพราะทุกคนต้องกินข้าว) แต่หลายคน “ไม่กินข้าวเช้า” ก็เลยทำให้พลาดการกินยามื้อเช้า แท้จริงแล้วมียาหลายรายการที่สามารถกินได้ “โดยไม่ต้องอิงกับมื้ออาหาร” เพราะยาไม่ได้กัดกระเพาะอาหาร เช่น ยาลดความดันเลือดบางกลุ่ม ยาลดไขมันในเลือด พวกนี้สามารถกินได้โดยไม่ต้องพะวงว่ากินข้าวหรือไม่

แต่ในทางกลับกัน ยาเบาหวาน ยาเม็ดลดน้ำตาลในเลือด ยาฉีดอินซูลิน เป็นกลุ่มยาที่ต้องอิงกับมื้ออาหารอย่างสำคัญ เพราะถ้ากินยาแล้วไม่ได้กินข้าว เช่น กินยาเม็ดลดน้ำตาลในเลือด glipizide ไปแล้ว 30 นาที ยังไม่มีอาหารตกถึงท้อง หรือฉีดอินซูลินไปแล้ว มัวเล่น facebook เพลิน ลืมกินข้าว อย่างนี้ก็จะอันตรายมาก เพราะน้ำตาลในเลือดจะต่ำลงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ก็จะมียาเบาหวานบางชนิดที่ให้ “กินพร้อมอาหารคำแรก” คือยาพวก acarbose ที่เป็นยาที่ต้องกินพร้อมอาหารเพื่อให้ยาไปยับยั้งการย่อยแป้งให้กลายเป็นน้ำตาล

ความเข้าใจผิดข้อที่ 3 : ขนาดยายิ่งสูงยิ่งแรง ยิ่งไม่ดี

อันนี้เป็นความเข้าใจผิด ที่มักจะเกิดขึ้นเวลาหมอเปลี่ยนยาให้ เช่น แต่เดิมเคยกินยาลดความดันชื่อ amlodipine 5 มิลลิกรัม ต่อมาเกิดอาการขาบวม หมอเปลี่ยนยาให้ใหม่เป็น atenolol 50 มิลลิกรัม ครั้งต่อมาผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลด้วยความดันสูงอย่างวิกฤติ เส้นเลือดในสมองเกือบแตก สอบถามได้ความว่า ผู้ป่วยไม่ยอมกินยาเพราะเห็นว่า “ตัวเลขยามันสูงกว่าเดิม ยาแรงไม่กล้ากิน”

อันที่จริงแล้ว ตัวเลขของยาแต่ละชนิด “เอามาเทียบกันไม่ได้” ไม่เหมือนน้ำหนักร่างกายของคน ยาแต่ละชนิดจะมี “ขนาดยา” ที่ออกฤทธิ์ได้จำเพาะตามชนิดของมัน อาจจะมีซ้ำกันบ้าง แต่ตัวเลขมากน้อยไม่ได้บอกว่ายาใดแรงกว่ากัน ถ้าจะเปรียบเทียบก็คือต้องเปรียบเทียบกับยาในชื่อเดียวกันเท่านั้น

ความเข้าใจผิดข้อที่ 4 : กินยาแล้วมีอาการข้างเคียงมาก แสดงว่ายาแรง

อันนี้ก็ไม่จริงเสมอไป และเมื่อถามผู้ป่วยว่า คำว่า “แรง” คืออะไร ผู้ป่วยก็มักจะตอบไม่ได้ ความรุนแรงของผลข้างเคียงขึ้นกับอวัยวะ เนื้อเยื่อที่ยาไปมีผลมากกว่า เช่น ยาเคมีบำบัดอาจให้ผลข้างเคียงที่รุนแรง เพราะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์ที่กำลังแบ่งตัว หรือยาไปมีผลต่อเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง ติดเชื้อง่าย

ความเข้าใจผิดข้อที่ 5 : กินยาแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ง่วงนอน คืออาการแพ้ยา

อาการแพ้ยากับอาการข้างเคียงจากยาไม่เหมือนกัน อาการข้างเคียงจากยา มักเป็นอาการที่เราสามารถทำนายได้ เมื่อจะเกิดอาการแบบนั้น เช่น กินยาแก้ปวดทรามาดอล แล้วมีคลื่นไส้ อาเจียน อันนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นอาการข้างเคียงที่พบบ่อย และสามารถทราบได้ล่วงหน้า แต่หากอาเจียนมากจนไม่ไหว ก็ถือว่าเป็นอาการข้างเคียงรุนแรงที่อาจทำให้ใช้ยานั้นไม่ได้อีกเลย

ส่วนการแพ้ยานั้นจะให้ภาพที่ต่างกันออกไป เช่น กินแล้วมีผื่นคัน มีจุดดำ ๆ เหมือนบุหรี่จี้ตามตัว และเกิดซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่กินยานี้ หรือกินแล้วมีอาการหายใจไม่ออก เหมือนคนจับหอบ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นอาการที่ไม่สามารถคาดเดาการเกิดได้ล่วงหน้า เหล่านี้จึงเรียกว่าอาการแพ้ยา ซึ่งต้องพบแพทย์ทันที

ความเข้าใจผิดข้อที่ 6 : ฉีดยาดีกว่ากินยา

การฉีดยามักทำกับผู้ที่ไม่สามารถกินอาหาร/ยา ได้ทางปากตามปกติ ผู้ป่วยหมดสติ หรือชัก หรือให้ยาก่อนเข้าห้องผ่าตัด การให้ยาเป็นการให้ทางหลอดเลือด ซึ่งยุ่งาก เจ็บตัว มีความเสี่ยง โดยเฉพาะหากมีการแพ้เกิดขึ้น การกินยาเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า และการฉีดยาไม่ช่วยให้โรคหายเร็ว ยกเว้นในกรณีที่เป็นโรคที่รุนแรง หรือการติดเชื้อรุนแรงที่ต้องอาศัยการรักษาที่รวดเร็ว จึงจำเป็นต้องให้ยาทางหลอดเลือด เพราะการรอให้ยาดูดซึมตามปกติทางปากอาจจะไม่ทัน

ยาโดยตัวมันเองอาจมีความสลับซับซ้อน แต่หากทำความเข้าใจอย่างมีหลักการ ก็จะไม่ยากอย่างที่คิด สุดท้ายหากมีปัญหาหรือข้อสงสัยเรื่องยาให้สอบถามที่เภสัชกร

ความเข้าใจผิดข้อที่ 7 : ตู้เย็นเป็นสถานที่เก็บยาที่ดีที่สุด

ไม่เสมอไป เพราะยาบางชนิดไม่สามารถเก็บในตู้เย็นได้เลย เพราะจะทำให้เสียสภาพยา เช่นยามะเร็งบางชนิด ยาหยอดหูบางชนิดเก็บในตู้เย็นแล้วจะเป็นไข การจะดูว่ายานั้นต้องเก็บหรือไม่ให้ดูที่ข้างกล่อง ขวด หรือภาชนะบรรจุยาเป็นสำคัญ ยาที่เก็บที่อุณหภูมิ ต่ำว่า 30 องศาเซลเซียส คือยาที่เก็บที่อุณหภูมิห้อง (นอกตู้เย็น) และแสงแดดส่องไม่ถึง

อุณหภูมิที่ระบุว่าเป็นการเก็บในตู้เย็นคือ 2-8 องศาเซลเซียส นอกจากนั้นยาที่ผ่านการเก็บในรถ (ปิดแอร์ ดับเครื่อง จอดทิ้งไว้) ไม่ควรนำมาใช้ เพราะอุณหภูมิรถสูงกว่าอุณหภูมิห้องอย่างมาก คุณภาพยาจะเสื่อมลง

ความเข้าใจผิดข้อที่ 8 : ยาแก้อักเสบคือยาฆ่าเชื้อ

ข้อนี้มีการรณรงค์มาเป็นเวลานานแล้ว ยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory drugs) เป็นยาลดการปวดอักเสบ (ที่ไม่มีการติดเชื้อ) เช่น สมมติว่า เดินตกฟุตบาธ ข้อพลิก หมออาจให้ยาแก้อักเสบจากการพลิกของข้อ หรือกลุ่มคนที่มีปัญหาโรคข้อ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หมอจะให้ยาลดการอักเสบ ที่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ เพราะไม่มีการติดเชื้อ (การอักเสบอาจจะเกิดจากการติดเชื้อหรือไม่ก็ได้) ในขณะที่ยาแก้อักเสบตามความหมายของ “ชาวบ้าน” ที่ว่าฆ่าเชื้อ แท้จริงแล้วคือยาฆ่าเชื้อ (antibiotics, anti-infectives) เช่นมีแผล ฝี หนองมีการติดเชื้อ ก็จะต้องกินยาฆ่าเชื้อ และเมื่อมีการกินยาฆ่าเชื้อแล้วก็ต้องกินติดต่อกันจนหมด เพื่อป้องกันปัญหาการดื้อยาฆ่าเชื้อ

ความเข้าใจผิดข้อที่ 9 : กินยามากๆ ทำให้ดื้อยา

การดื้อยาในความหมายทางการแพทย์ จะใช้กับการดื้อยาซึ่งเป็นการปรับตัวของเชื้อโรคต่อยาฆ่าเชื้อที่ให้เข้าไป ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ให้ยาไม่เหมาะสม ให้ยาพร่ำเพรื่อ (เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ จากไวรัส ก็จะกินยาฆ่าเชื้อแล้ว) ให้ยาในขนาดที่ไม่สูงเพียงพอ (เช่น ลืมกินยา) หรือให้ยาด้วยจำนวนวันที่ไม่นานพอ (ซึ่งพบมากในผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่พออาการของโรคดีขึ้น ก็หยุดยาเอง)

สำหรับโรคไม่ติดเชื้อ คำว่าดื้อยาไม่พบว่าเป็นคำที่ใช้กัน และการกินยามากๆ หรือนานๆ ในโรคไม่ติดเชื้อ (เช่น ความดัน เบาหวาน) เกิดจากการพัฒนาของโรคตามระยะการดำเนินไปของโรค โดยเฉพาะเมื่อเป็นนานๆ ซึ่งการเกิดโรคแทรกซ้อนเป็นเรื่องปกติ อาจทำให้ยาเดิมใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น