By: Pharmchompoo
เป็นโอกาสอันดีสำหรับการงดดื่มเหล้า ตามที่มีแคมเปญรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อฟื้นฟูตับภายใน 3 เดือน ตับซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญและรับภาระหนักมากอวัยวะหนึ่งในร่างกายและพบว่าเป็นอวัยวะหนึ่งที่มักเกิดมะเร็งได้บ่อย โดยเฉพาะในเพศชาย สาเหตุของตับแข็งและมะเร็งตับนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ปัจจัยที่มักจะพบและทำให้โรคตับของผู้ป่วยแย่ลงคือการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์มีผลทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ในกรณีเฉียบพลัน ผู้ที่ดื่มมากอาจมีอาการของการกดระบบประสาทส่วนกลางอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน อาเจียนเป็นเลือด บางรายมีอุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนหมดสติ โดยทั่วไปพบว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่มากกว่า 450 มก./เดซิลิตร มักจะทำให้เสียชีวิต

ในกรณีการดื่มแบบเรื้อรัง แอลกอฮอล์มีผลเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของเอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายยาซึ่งจะได้กล่าวต่อไป และมีผลในระดับโมเลกุลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ (fatty liver) ตามมาด้วยภาวะตับแข็ง (cirrhosis) และมะเร็งตับในที่สุด และอาการจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วหากมีภาวะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่เดิม
การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ นาน ๆ มักทำให้ขาดสารอาหาร เพราะผู้ที่เป็นพิษสุราเรื้อรังมักดื่มโดยไม่มีกับแกล้ม ไม่กินข้าว ทำให้ขาดสารอาหารและวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี 1 ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและหัวใจจากการขาดวิตามินบี 1 การทำลายสารพิษ (รวมทั้งการทำลายแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป) และภูมิคุ้มกันลดต่ำลงจากการขาดแร่ธาตุสังกะสี การขาดโปรตีนโดยเฉพาะเมื่อตับถูกทำลายไปได้ระดับหนึ่งการสังเคราะห์อัลบูมินจากตับจะลดลงทำให้เกิดภาวะท้องมาน (ascites) และเลือดออกง่ายเนื่องจากตับสังเคราะห์ปัจจัยช่วยการแข็งตัวของเลือด (clotting factors) ได้ลดลงหรือไม่ได้เลย ความดันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณตับสูง จึงเกิดเส้นเลือดขอดที่บริเวณหลอดอาหาร (esophageal varices) จึงมักเห็นผู้ป่วยโรคตับอาเจียนเป็นเลือดจนเสียชีวิตก็มี
ในทางการแพทย์ แอลกอฮอล์ มีปฏิกิริยากับยารักษาโรคหลายชนิด จากฐานข้อมูลมียาเป็นร้อยรายการที่มีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ในทางที่เพิ่มพิษจากยา หรือเพิ่มอาการข้างเคียงจากยาที่สำคัญๆ น่าสนใจคือ
แอลกอฮอล์ กับ ยาเบาหวาน : ทำให้ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของยาเบาหวาน เช่น glipizide, insulin รุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำตาลในเลือดตกอย่างรุนแรง (severe hypoglycemia) โคม่า เสียชีวิตได้
แอลกอฮอล์ กับ ยารักษาการทางจิตเวช : เพิ่มฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยอาจจะง่วงซึมมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน
แอลกอฮอล์ กับ พาราเซตามอล : เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปทำให้สมรรถนะของเอนไซม์ที่ใช้ทำลายยาพาราเซตามอลดีมากเป็นพิเศษจนเกิดสารพิษในตับมากจนตับทำลายไม่ทัน จึงมีคำแนะนำว่า ผู้ที่ดื่มเป็นอาจิณ คอทองแดงทั้งหลาย เมื่อจะกินยาพาราเซตามอลแก้ปวดหัวตัวร้อน ต้องอย่ากินเกินขนาด 4 กรัม ใน 24 ชั่วโมง หรือต่ำกว่านี้ได้ก็ยิ่งดี
แอลกอฮอล์ กับ ยานอนหลับคลายเครียด : จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการกดประสาทอย่างรุนแรงจนหลับไม่ตื่น เสียชีวิต
แอลกอฮอล์ กับ แอสไพริน : เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจจะมีอาการถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด เสียเลือดจนซีดและเสียชีวิตได้
แอลกอฮอล์ กับ ยาฆ่าเชื้อเมโทรนิดาโซล : ทำให้เกิดอาการคนแพ้เหล้า (disulfiram-like reaction) คือ หน้าแดง ปวดหัว ใจสั่น มึนงง อันเนื่องมาจากยาไปยับยั้งการเปลี่ยนแปลงแอลกอฮอล์ในร่างกายทำให้เกิดการคั่งของสารที่เรียกว่า อะเซตัลดีไฮด์ (acetaldehyde) จึงเกิดอาการดังกล่าว
แอลกอฮอล์ กับ ยาวัณโรค (INH) : ทำให้ลดประสิทธิภาพยารักษาวัณโรค ทำให้การรักษาไม่ได้ผล และอาจเกิดอาการเหมือนคนแพ้เหล้า (disulfiram-like reaction) คือ หน้าแดง ปวดหัว ใจสั่น มึนงง
แอลกอฮอล์ กับ วาร์ฟาริน : วาร์ฟารินซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดซึ่งมีอันตรายอยู่พอสมควรแล้ว แอลกอฮอล์จะไปรบกวนการออกฤทธิ์ของวาร์ฟารินทำให้ ทำนายผลในการรักษาได้ยาก ทำให้ค่าเลือด (INR) มีความแปรปรวน เลือดอาจจะออกง่ายกว่าเดิม หรือ clot แข็งตัวอยู่ในหลอดเลือด เป็นอันตรายทั้งสิ้น
แอลกอฮอล์ กับยาบรรเทาอาการหย่อนมรรถภาพทางเพศ (tadalafil) : ใครว่ากรึ๊บๆ ก่อนบรรเลงเพลงรักจะช่วยให้คึกคัก หลายคนอาจคิดว่า ถ้าได้ดื่มย้อมใจร่วมกับการกินยาช่วยให้นกเขาชูชันก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก แต่เปล่าเลย อาจจะวูบตกเตียง ก่อนขึ้นสังเวียนรัก เพราะทั้งแอลกอฮอล์และยาบรรเทาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีผลทำให้หลอดเลือดตามร่างกายขยายตัวมากขึ้น (vasodilatation) จนความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) วูบหมดสติ เรือรักล่มไม่เป็นท่า!!! ก็เท่านั้น
เอกสารอ้างอิง: Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System. Truven Health Analytics, Greenwood Village, Colorado (Vol.172 expires [6/2017]).
เป็นโอกาสอันดีสำหรับการงดดื่มเหล้า ตามที่มีแคมเปญรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เพื่อฟื้นฟูตับภายใน 3 เดือน ตับซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญและรับภาระหนักมากอวัยวะหนึ่งในร่างกายและพบว่าเป็นอวัยวะหนึ่งที่มักเกิดมะเร็งได้บ่อย โดยเฉพาะในเพศชาย สาเหตุของตับแข็งและมะเร็งตับนั้น เกิดได้หลายสาเหตุ แต่ปัจจัยที่มักจะพบและทำให้โรคตับของผู้ป่วยแย่ลงคือการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์มีผลทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ในกรณีเฉียบพลัน ผู้ที่ดื่มมากอาจมีอาการของการกดระบบประสาทส่วนกลางอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน อาเจียนเป็นเลือด บางรายมีอุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนหมดสติ โดยทั่วไปพบว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่มากกว่า 450 มก./เดซิลิตร มักจะทำให้เสียชีวิต
ในกรณีการดื่มแบบเรื้อรัง แอลกอฮอล์มีผลเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของเอนไซม์ที่ใช้ในการทำลายยาซึ่งจะได้กล่าวต่อไป และมีผลในระดับโมเลกุลที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ (fatty liver) ตามมาด้วยภาวะตับแข็ง (cirrhosis) และมะเร็งตับในที่สุด และอาการจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วหากมีภาวะการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอยู่เดิม
การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ นาน ๆ มักทำให้ขาดสารอาหาร เพราะผู้ที่เป็นพิษสุราเรื้อรังมักดื่มโดยไม่มีกับแกล้ม ไม่กินข้าว ทำให้ขาดสารอาหารและวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี 1 ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทและหัวใจจากการขาดวิตามินบี 1 การทำลายสารพิษ (รวมทั้งการทำลายแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไป) และภูมิคุ้มกันลดต่ำลงจากการขาดแร่ธาตุสังกะสี การขาดโปรตีนโดยเฉพาะเมื่อตับถูกทำลายไปได้ระดับหนึ่งการสังเคราะห์อัลบูมินจากตับจะลดลงทำให้เกิดภาวะท้องมาน (ascites) และเลือดออกง่ายเนื่องจากตับสังเคราะห์ปัจจัยช่วยการแข็งตัวของเลือด (clotting factors) ได้ลดลงหรือไม่ได้เลย ความดันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณตับสูง จึงเกิดเส้นเลือดขอดที่บริเวณหลอดอาหาร (esophageal varices) จึงมักเห็นผู้ป่วยโรคตับอาเจียนเป็นเลือดจนเสียชีวิตก็มี
ในทางการแพทย์ แอลกอฮอล์ มีปฏิกิริยากับยารักษาโรคหลายชนิด จากฐานข้อมูลมียาเป็นร้อยรายการที่มีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ในทางที่เพิ่มพิษจากยา หรือเพิ่มอาการข้างเคียงจากยาที่สำคัญๆ น่าสนใจคือ
แอลกอฮอล์ กับ ยาเบาหวาน : ทำให้ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของยาเบาหวาน เช่น glipizide, insulin รุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำตาลในเลือดตกอย่างรุนแรง (severe hypoglycemia) โคม่า เสียชีวิตได้
แอลกอฮอล์ กับ ยารักษาการทางจิตเวช : เพิ่มฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ผู้ป่วยอาจจะง่วงซึมมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน
แอลกอฮอล์ กับ พาราเซตามอล : เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไปทำให้สมรรถนะของเอนไซม์ที่ใช้ทำลายยาพาราเซตามอลดีมากเป็นพิเศษจนเกิดสารพิษในตับมากจนตับทำลายไม่ทัน จึงมีคำแนะนำว่า ผู้ที่ดื่มเป็นอาจิณ คอทองแดงทั้งหลาย เมื่อจะกินยาพาราเซตามอลแก้ปวดหัวตัวร้อน ต้องอย่ากินเกินขนาด 4 กรัม ใน 24 ชั่วโมง หรือต่ำกว่านี้ได้ก็ยิ่งดี
แอลกอฮอล์ กับ ยานอนหลับคลายเครียด : จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการกดประสาทอย่างรุนแรงจนหลับไม่ตื่น เสียชีวิต
แอลกอฮอล์ กับ แอสไพริน : เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจจะมีอาการถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด เสียเลือดจนซีดและเสียชีวิตได้
แอลกอฮอล์ กับ ยาฆ่าเชื้อเมโทรนิดาโซล : ทำให้เกิดอาการคนแพ้เหล้า (disulfiram-like reaction) คือ หน้าแดง ปวดหัว ใจสั่น มึนงง อันเนื่องมาจากยาไปยับยั้งการเปลี่ยนแปลงแอลกอฮอล์ในร่างกายทำให้เกิดการคั่งของสารที่เรียกว่า อะเซตัลดีไฮด์ (acetaldehyde) จึงเกิดอาการดังกล่าว
แอลกอฮอล์ กับ ยาวัณโรค (INH) : ทำให้ลดประสิทธิภาพยารักษาวัณโรค ทำให้การรักษาไม่ได้ผล และอาจเกิดอาการเหมือนคนแพ้เหล้า (disulfiram-like reaction) คือ หน้าแดง ปวดหัว ใจสั่น มึนงง
แอลกอฮอล์ กับ วาร์ฟาริน : วาร์ฟารินซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดซึ่งมีอันตรายอยู่พอสมควรแล้ว แอลกอฮอล์จะไปรบกวนการออกฤทธิ์ของวาร์ฟารินทำให้ ทำนายผลในการรักษาได้ยาก ทำให้ค่าเลือด (INR) มีความแปรปรวน เลือดอาจจะออกง่ายกว่าเดิม หรือ clot แข็งตัวอยู่ในหลอดเลือด เป็นอันตรายทั้งสิ้น
แอลกอฮอล์ กับยาบรรเทาอาการหย่อนมรรถภาพทางเพศ (tadalafil) : ใครว่ากรึ๊บๆ ก่อนบรรเลงเพลงรักจะช่วยให้คึกคัก หลายคนอาจคิดว่า ถ้าได้ดื่มย้อมใจร่วมกับการกินยาช่วยให้นกเขาชูชันก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก แต่เปล่าเลย อาจจะวูบตกเตียง ก่อนขึ้นสังเวียนรัก เพราะทั้งแอลกอฮอล์และยาบรรเทาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีผลทำให้หลอดเลือดตามร่างกายขยายตัวมากขึ้น (vasodilatation) จนความดันโลหิตตกเมื่อเปลี่ยนท่า (orthostatic hypotension) วูบหมดสติ เรือรักล่มไม่เป็นท่า!!! ก็เท่านั้น
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน |
เอกสารอ้างอิง: Klasco RK (Ed): DRUGDEX® System. Truven Health Analytics, Greenwood Village, Colorado (Vol.172 expires [6/2017]).