xs
xsm
sm
md
lg

พัฒนา “จุดแข็ง” ดีกว่าแก้ “จุดอ่อน” / ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากคอลัมน์ Learn & Share โดย ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล (suwatmgr@gmail.com) เซกชั่น Good Health & Well Being นิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 - 30 เมษายน 2560

หลายคนอาจคุ้นกับคติพจน์ที่เชิงเป็นกำลังใจว่า
“คุณสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่คุณอยากจะเป็น ถ้าหากว่าคุณมีความพยายามให้มากพอ”
แต่คำแนะนำที่ยืนยันจากผลการวิจัยของ Gallup สถาบันระดับโลกชี้หลักคิดที่น่าจะถูกต้องกว่าก็คือ...
“คุณไม่สามารถเป็นทุกอย่างที่คุณอยากจะเป็นได้ แต่คุณสามารถเป็นตัวคุณที่ดียิ่งขึ้นได้”

เพราะถ้ามีการปรับตัวเองให้เข้ากับงานที่เหมาะสมและทุ่มเทพลังงานส่วนใหญ่ไปกับการพัฒนาพรสวรรค์ (Talents) ที่เป็นคุณสมบัติเด่นโดยธรรมชาติ เราจะมีโอกาสเจริญก้าวหน้ามากกว่าเดิม

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า “พรสวรรค์” คือความสามารถหรือความถนัดพิเศษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่จากการศึกษาผู้จัดการที่ดีเลิศ Gallup ได้ให้คำนิยามที่ครอบคลุมกว่าว่า พรสวรรค์เป็น “แบบแผนของความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมที่เกิดซ้ำๆ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้

พฤติกรรมอย่างเช่น ...อยากรู้อยากเห็น ชอบแข่งขัน มีเสน่ห์ มีความรับผิดชอบ หรือแม้แต่ความดื้อ ก็นับว่าเป็นพรสวรรค์ได้ ถ้าสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์

ผลจากการศึกษาวิจัยได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ 2 ประการ

พรสวรรค์ (Talents) ของแต่ละคนเกิดอย่างจีรังยั่งยืน เพราะการทำได้ซ้ำๆ เนื่องจากการเชื่อมโยงในสมอง จึงเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว

การพัฒนาที่ดีที่สุดของแต่ละคน คือ การส่งเสริมที่จุดแข็งที่ทำได้ดีที่สุดของคนนั้น

ดังนั้น จากการสัมภาษณ์ผู้จัดการระดับดีเลิศจึงได้เห็นแนวโน้มที่ก้าวหน้าคือ

1. มีการเอาใจใส่ที่จะค้นหาพรสวรรค์จากทุกบทบาทของทีมงาน
2. เน้นผลลัพธ์ของงาน แทนที่จะบังคับให้พนักงานปฏิบัติตามกฎระเบียบแบบตายตัว
3. ไม่ใช้กฎเป็นการทั่วไป ให้พนักงานทุกคนอยู่ในระเบียบทำนองเดียวกัน แต่กลับปฏิบัติต่อพนักงานแต่ละคนให้เหมาะกับลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน
4. ใช้เวลามากที่สุดกับพนักงานที่ยอดเยี่ยมสุด

ข้อมูลดังกล่าวนี้ นับว่าท้าทายมากกับคำถามว่า ทำไม ขนาดผู้จัดการที่ดีที่สุดระดับโลก จึงได้แหกกฎเกณฑ์ ที่มักต้องคำนึงถึงความเป็นระเบียบ วินัยและความเท่าเทียม

แต่กลยุทธ์การบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่แบบนี้ ได้สร้างความน่าเชื่อถือด้วยผลการศึกษาวิจัย ซึ่งแก่นของหลักคิดนี้ก็น่าสนใจนำมาประยุกต์ใช้ทั้งกับชีวิตและการบริหารงานมิใช่หรือ

ประเด็นที่นำไปสู่การเสนอแนวคิดเรื่อง “เจาะจุดแข็ง” เวอร์ชั่นใหม่หรือ Strengths Finder 2.0 ที่กล่าวถึงนี้เป็นภาคต่อจากเวอร์ชั่นแรก Now, Discover Your Strengths ซึ่งเป็นหนังสือขายดีมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว และมีฉบับแปลขายไปกว่า 20 ภาษา สถาบันการศึกษา องค์กรหน่วยงานต่างๆ ได้นำหลักการใช้ประโยชน์เรื่อง “จุดแข็ง”ไปใช้แล้วกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

หนังสือเล่มนี้อ้างอิงผลการศึกษาที่โดนัลด์ โอ คลิฟตัน ปรมาจารย์ด้านจิตวิทยาจุดแข็ง ของ Gallup Organization ที่ศึกษา วิจัยและค้นพบวิธีค้นหาพรสวรรค์และสร้างเสริมให้กลายเป็นจุดแข็ง

การเน้นส่งเสริมและพัฒนา “จุดแข็ง” แทนการทุ่มเทเวลาและงบประมาณให้กับการอบรมเพื่อแก้ “จุดอ่อน” เช่นนี้นับว่าสวนทางกับความเชื่อของคนในสังคมที่มีอยู่แต่เดิม

เจ้าของแนวคิดนี้ชี้ว่า การวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนและพยายามในการจัดการอุดช่องว่าหรือยกระดับให้ดีขึ้น แม้บางครั้งก็จำเป็น แต่ผลที่ได้นั้นก็แค่ช่วยป้องกันไม่ให้ล้มเหลว แต่การอบรมหรือหวังพัฒนาคนที่มีจุดอ่อนนั่น ไม่มีทางที่จะช่วยให้เป็นเลิศได้เท่ากับการมุ่งพัฒนาคนที่มีจุดแข็ง ซึ่งมีศักยภาพสูงสุดในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศได้ดีกว่า

ยกตัวอย่างขนาด ไมเคิล จอร์แดน นักกีฬาระดับตำนานของโลก ซึ่งมีพรสวรรค์ชัดเจนในสนามบาสเกตบอล ก็ไม่สามารถทำให้เขากลายเป็น “ไมเคิล จอร์แดน” แห่งวงการกอล์ฟหรือเบสบอลได้ ไม่ว่าจะพยายามหนักขนาดใดก็ตาม

ผลการวิจัยของ Gallup จึงระบุว่า คนแต่ละคนจะมีศักยภาพในการสร้างความสำเร็จได้ดีเยี่ยมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น การจะพัฒนามนุษย์ให้ได้ผลดีก็คือ การต่อยอดจากสิ่งที่คุณเป็นอยู่

ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา Gallup ได้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้พรสวรรค์ของคนในบทบาทต่างๆ มากมาย และก็ได้พบตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของผู้ที่พุ่งสู่ฟ้าโดยอาศัยจุดแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อความสำเร็จ ยิ่งกว่าเรื่องตำแหน่ง บทบาทหรือรายได้ที่มี

ยืนยันได้ว่า ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วย “พรสวรรค์” มากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจและพัฒนา “จุดแข็ง” เพื่อให้ชัดเจนว่า เราเหมาะกับสิ่งใด

ขณะที่การวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสที่จะมุ่งเน้นทำในสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด หมายถึง ละเลยหรือถูกมองอข้ามพรสวรรค์

ใครที่ไม่ได้อยู่ใน “โซนจุดแข็ง” ก็มีแนวโน้มจะผูกพันในงานของตนน้อยลงถึง 6 เท่า เพราะไม่มีโอกาสใช้จุดแข็งในการทำงาน

การพัฒนาระบบการประเมินผล Clifton Strengths Finder จากการสัมภาษณ์ 100,000 ครั้ง สามารถระบุ 34 คุณสมบัติเด่นที่เป็นพรสวรรค์ที่พบมากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการสร้างจุดแข็ง

สิ่งที่ได้ค้นพบจากงานวิจัยคือ คนที่ประสบความสำเร็จที่เริ่มต้นด้วยการมีพรสวรรค์ หรือคุณสมบัติเฉพาะที่เด่นเมื่อเพิ่มเติมทักษะความรู้ และการฝึกฝนเข้าไปด้วย พรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวก็จะทำหน้าที่เป็นตัวคูณที่เกิดผลคือจุดแข็ง

ผู้ที่อ่านหนังสือ เจาะจุดแข็ง 2.0 จะได้รับรหัสที่สามารถเข้าระบบประเมินลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นพรสวรรค์ในตัวที่เด่นที่สุด 5 ประการ ซึ่งบางรายการอาจมีศักยภาพพัฒนาเป็นจุดแข็งได้ รวมทั้งการได้รายงานสกู๊ปเชิงลึกเกี่ยวกับตัวผู้อ่านที่เข้าระบบประเมินนี้

จากจุดแข็งนี่เอง เป็นปัจจัยที่ชี้ชัดจากผลการวิจัยว่ามีความหมายต่อชีวิตการทำงาน เพราะข้อมูลที่พบว่า คนที่มุ่งเน้นที่จุดแข็งของตน คือ ได้ทำงานที่ทำได้ดีที่สุด มีแนวโน้มจะผูกพนกับงานของตนกว่า 6 เท่า และมีแนวโน้มจะมีคุณภาพชีวิตโดยทั่วไปดีเยี่ยมกว่า 3 เท่า

ดังนั้น การที่ได้ทำงานที่เน้นจุดแข็งของตัวอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างได้อย่างมาก


ข้อมูลจากหนังสือ
เจาะจุดแข็ง 2.0
ทอม แรธ ผู้เขียน
สำนักพิมพ์ GALLUP PRESS





กำลังโหลดความคิดเห็น