ผู้เขียน : ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล |
คำกล่าวหนึ่งของ Virginir Satir* คือ
"ปัญหาไม่ใช่ปัญหา วิธีการรับมือกับปัญหาต่างหากที่เป็นปัญหา"
คำกล่าวนี้หมายความว่าอย่างไร
หมายถึงว่า ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่เจอปัญหาอะไร
แต่อยู่ที่ "การรับมือ" กับปัญหานั้นต่างหาก
ว่ารับมืออย่างไร
ทำให้ปัญหาคลี่คลายลง หรือ ทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น
บทความนี้จะพูดถึง แนวทางการรับมือกับปัญหา
ก่อนอื่น
- เตรียมกระดาษเปล่า 1 แผ่น
- เขียนปัญหาที่มีอยู่ในใจทั้งหมด
จากนั้นลองทำดังนี้ค่ะ
1) พิจารณาปัญหาทีละข้อ ว่าเป็นแบบไหน
เพราะเมื่อเจอปัญหา ความคิดจะสับสนได้มาก
การเขียนถึงปัญหา และ การค่อยๆพิจารณาลักษณะของปัญหาทีละข้อ
จะช่วยลดความสับสน ทำให้ความคิดเป็นระบบมากขึ้น
ไม่ตีกันยุ่งเหยิงในสมอง
จะช่วยให้หาทางออกง่ายขึ้น
** ในโลกนี้มีปัญหาอยู่ 2 แบบ **
ก. แบบที่แก้ไขด้วยตัวเราได้
ข. แบบที่แก้ไขด้วยตัวเราไม่ได้
ก. ถ้าเป็นปัญหาแบบที่แก้ไขได้
หมายถึงปัญหาที่เรายังสามารถจัดการได้
(เขียนลงในฝั่งซ้ายดังรูป)
สิ่งที่ควรทำคือ
- คิดหาวิธีแก้ปัญหา
- เขียนแนวทางจัดการปัญหาลงในกระดาษ ให้ได้เยอะที่สุด
- จากนั้น ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามแนวทางที่เขียนไว้
เรียกว่าจัดเต็มเลยค่ะ
ข. ถ้าเป็นปัญหาแบบแก้ไขไม่ได้แล้ว
หมายถึง เป็นปัญหาที่อยู่นอกเหนืออำนาจการจัดการหรือการควบคุมแล้ว
(เขียนลงในฝั่งขวา ดังรูป)
สิ่งที่ควรทำคือ
- ฝึกที่จะปล่อยวาง
- ยอมรับมันอย่างที่เป็น
เพราะคิดไป เครียดไป ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น
มีแต่ทำให้ทุกข์(ใจ)ไปเปล่าๆ โดยใช่เหตุค่ะ
***และ ที่น่าสังเกต คือ
คนเรามักจะคิดวนๆ กับปัญหาฝั่งขวา (คือ ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้แล้วค่ะ ^^")
2. หมั่นฝึกฝนการ"ยอมรับ"
การปล่อยวาง และ การยอมรับ จะช่วยให้จิตใจมีคุณภาพที่ดีขึ้น
เพราะ มีจิตใจที่สงบ ไม่ดิ้นรน ไม่ปั่นป่วน
แม้จะไม่สมหวัง แม้ปัญหายังอยู่
แต่ใจเราก็ไม่ทุกข์มากได้ค่ะ
การยอมรับ เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน
เพราะ ไม่ได้เกิดขึ้นเองง่ายๆ
เพราะ ธรรมชาติหนึ่งของมนุษย์คือ ต้องการจะเอา(แต่ใจ) อยากสมหวัง
ยิ่งฝึกฝนการยอมรับ จนใจมีความสามารถยอมรับสิ่งต่างๆ ได้
เป็นกำไรชีวิตมากค่ะ
เมื่อยอมรับเรื่องหนึ่งได้ จะทำให้ยอมรับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
#ตัวอย่าง
กลัวการสอบ กลัวคะแนนไม่ดี
- ก่อนสอบ (เป็นปัญหาแบบที่แก้ไขได้)
สิ่งที่ควรทำ
อ่านหนังสือ ให้เต็มที่
- หลังสอบ (เป็นปัญหาแบบที่แก้ไขไม่ได้แล้ว สอบไปแล้ว)
สิ่งที่ควรทำ
ฝึกยอมรับผลอย่างที่เป็นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
เพราะคิดมากไปก็ช่วยอะไรให้ดีขึ้นไม่ได้แล้วค่ะ (เพราะสอบไปแล้ว)
กลัวคนไม่รัก
- สิ่งที่ทำได้ คือ ดูแลความสัมพันธ์ให้ดี ด้วยความรัก และ ความเข้าใจ
ทำเต็มที่ดีที่สุดแล้ว
คือ ไม่ได้เพิกเฉยกับคนรักมากเกินไป และ ไม่ได้ดูแลมากเกินไปจนเขาอึดอัด
- อีกฝ่ายยังไม่รัก
สิ่งที่ทำได้ และ ควรทำคือ
ต้องฝึกที่จะปล่อยวาง
ทำใจยอมรับมันอย่างที่เป็น
เพราะ ไม่มีใครบังคับใครให้มารัก มาชอบได้
เราทำเต็มที่ และ ดีที่สุดแล้ว
เพราะ ทุกความผิดหวัง
ไม่ว่าจะเป็นการอกหัก หรือ การสอบคะแนนไม่ดี หรือ โดนเจ้านายว่า หรือความผิดหวังอื่นๆ ฯลฯ
ก็เจ็บมากพอแล้ว
แต่การไม่ยอมรับ จะยิ่งทำให้เจ็บสาหัสกว่าเดิม(ไปอีกหลายเท่า)
เปรียบเหมือนแผล(ใจ)ที่ฉีกขาดแล้วจากการผิดหวัง
แต่แผล(ใจ)กลับเหวอะหวะมากขึ้น ฉีกขาดมากขึ้น
จากการที่ใจดิ้นรน ไม่ยอมรับ (ในสิ่งที่แก้ไขไม่ได้แล้ว)
แต่เมื่อยอมรับได้
ใจหยุดดิ้นรน ความปั่นป่วนใจหมดไป ความทุกข์ใจจะลดลงเอง
ดังนั้น
เมื่อเจอปัญหาลองพิจารณาดูว่า
ปัญหาที่เจอ เป็นแบบไหน
แบบแก้ไขได้ หรือ แบบแก้ไขไม่ได้
- ถ้าแก้ไขได้
ควรแก้ไขให้เต็มที่ ไม่ควรเพิกเฉย
เพราะ การเพิกเฉยกับปัญหาที่แก้ไขได้ คือ การปล่อยปะละเลย
- ถ้าปัญหาไหนแก้ไขไม่ได้
ควรฝึกการยอมรับอย่างที่เป็น
แล้วความทุกข์(ใจ)จากปัญหานั้นจะน้อยลงไป
แม้ว่าปัญหานั้นจะยังอยู่ก็ตามค่ะ
เมื่อรู้แนวทางการรับมือกับปัญหา แม้วันที่ปัญหามามาก ก็สามารถตั้งหลักได้ค่ะ
หมายเหตุ :
ถ้าความรู้สึกเครียดมากจนรับมือด้วยตนเองไม่ไหว
แนะนำการพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ เป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยได้ค่ะ
*Virginir Satir นักจิตบำบัด และ นักครอบครัวบำบัด ชาวอเมริกา
และ เป็นครูต้นแบบด้านการบำบัดจิตใจด้วยวิธี Satir's Model