xs
xsm
sm
md
lg

มาถูกทาง!! น้ำมันมะพร้าวลดความเสี่ยงโรคหัวใจ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ธรรมชาติบำบัด
ผู้เขียน : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นิตยสารฟรีก็อบปี้ Good Health & Well-Being ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันเสาร์ที่ 25 - วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2560


ข้อถกเถียงเรื่องไขมันอิ่มตัว (เนย, ชีส, น้ำมันมะพร้าว) กับไขมันไม่อิ่มตัว (น้ำมันถั่วเหลือง, ข้าวโพด, ดอกทานตะวัน, รำข้าว) กำลังจะยุติลง โดยเฉพาะการเปิดเผยอย่างต่อเนื่องจากสื่อมวลชนชั้นนำระดับโลก ตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เป็นต้นมา

ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารไทม์, สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ซึ่งได้เปิดเผยงานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษที่มีน้ำหนักมากอย่าง British Medical Journal หรือ TheBmJ ในการประเมินทบทวนใหม่ ในงานวิจัยวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคกับความสัมพันธ์กับกลุ่มประชากรเป็นโรคหัวใจในมลรัฐมินิโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 2,355 คน ระหว่าง พ.ศ.2511 - 2516 ในหัวข้องานวิจัยที่ชื่อว่า Re-evaluation of the traditional diet-heart hypothesis: analysis of recovered data from Minnesota Coronary Experiment (1968-73) นำโดยนายแพทย์ คริสโตเฟอร์ อี. รัมส์เดน

นายแพทย์คริสโตเฟอร์ อี. รัมส์เดน เป็นแพทย์จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบว่างานวิจัยฉบับเก่านั้นยังมีข้อมูลบางส่วนยังไม่ได้เผยแพร่จากงานวิจัยเดิม สรุปคือ

1. คนที่เปลี่ยนไขมันอิ่มตัวมาบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวที่มีกรดไลโนเลอิกสูง (ผู้เขียน : เช่น น้ำมันข้าวโพด, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันดอกทานตะวัน, น้ำมันรำข้าว) จะทำให้คอเลสเตอรอลลดลง 13.8%

2. แต่คอเลสเตอรอลที่ลดลงไป 30 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากการกินไขมันไม่อิ่มตัวมากขึ้นกลับมีความเสี่ยงโดยรวมเพิ่มขึ้น 22% และคอเลสเตอรอลที่ลดลงนั้นกลับไม่มีหลักฐานว่าช่วยลดสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและโรคอื่นๆแต่ประการใด

สอดคล้องกับ นิตยสารไทม์ก่อนหน้านี้ ในฉบับเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ซึ่งได้ตีพิมพ์ขึ้นหน้าปกเชิญชวนให้กินเนย (เป็นไขมันอิ่มตัว ชนิดหนึ่ง) พร้อมกับบทวิเคราะห์ที่อ้างอิงงานวิจัยว่าไขมันที่อิ่มตัวไม่ได้เป็นปัญหา แต่ไขมันที่ไม่อิ่มตัวและไขมันทรานส์ต่างหากที่สร้างปัญหาหลอดเลือด ถึงขนาดมีบทความพาดหัวว่าเป็นการสิ้นสุดสงครามเรื่องไขมันแล้ว

ปัญหาคือไขมันอิ่มตัวประเภทไหนที่จะก่อโทษหรือสร้างประโยชน์ เพราะไขมันอิ่มตัวมีหลายชนิด เช่น เนื้อสัตว์ ชีส เนย น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู ฯลฯ แล้วเราควรจะเลือกกินอะไรในไขมันเหล่านี้ที่จะมีโทษน้อยที่สุด

เรื่องนี้มีงานวิจัยสำรวจประชากรอายุ 45-84 ปี จำนวน 5,209 คน ที่กินไขมันหลากหลายตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการคลีนิคแห่งอเมริกัน The American Journal of Clinical Nutrition ในงานวิจัยทื่อ Dietary intake of saturated fat by food source and incident cardiovascular disease: the Multi-Ethnic Sturdy of Atherosclerosis. โดย โอริเวียรา ออตโต้ เอ็มซี. และคณะจากมหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในบรรดาไขมันอิ่มตัวจากสัตว์นั้นพบว่าถ้าเป็นไขมันจากเนื้อสัตว์จะทำให้มีความเสี่ยงโรคหัวใจมากขึ้น ในขณะที่ไขมันอิ่มตัวจากผลิตภัณฑ์นม (นม, เนย, ชีส)พบว่า ยิ่งกินมากขึ้นกลับช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้

งานวิจัยชิ้นนั้นจึงสรุปว่าต่อไปนี้การพูดว่าไขมันอิ่มตัวเป็นไขมันเลวนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องอีกต่อไป แต่จะต้องสนใจต่อไปด้วยว่าไขมันเหล่านั้นเป็นไขมันอิ่มตัวชนิดไหนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลเสียของผลิตภัณฑ์นมก็มีอยู่เหมือนกันในงานวิจัยโดยกองทุนสถาบันวิจัยมะเร็งโลก และสถาบันวิจัยอเมริกันด้านมะเร็ง ได้เคยออกรายงานเมื่อปี พ.ศ. 2550 ว่าผลิตภัณฑ์จากนมที่มีแคลเซียมสูงเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้งเคยมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโภชนาการคลีนิคแห่งอเมริกัน The American Journal of Clinical Nutrition. ในปีเดียวกันได้เคยออกผลการสำรวจาการบริโภคผลิตภัณฑ์นมตั้งแต่เด็กระหว่างปี พ.ศ. 2480 ถึงปี พ.ศ. 2482 ในกลุ่มเด็ก 4,999 คน ที่อยู่ในอังกฤษและสก็อตแลนด์ และมาสำรวจการเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2491 ถึง ปี พ.ศ. 2548 พบว่ากลุ่มที่กินผลิตภัณฑ์จากนมมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งลำไส้เกือบ 3 เท่าตัวเทียบกับกลุ่มที่กินน้อย เช่นเดียวกับเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดในกลุ่มที่สูบบุหรี่ด้วย

คงเหลือแต่น้ำมันมะพร้าวเท่านั้นที่เป็นไขมันอิ่มตัวสูงจากพืช ซึ่งจะต้องวหาคำตอบว่าจะช่วยเรื่องการลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้หรือไม่ถ้าไม่ใช้ไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม

วารสารด้านโภชนาการที่ชื่อ Nutrition Reviews ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 จึงได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมะพร้าวกับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในมนุษย์ (Coconut oil consumption and cardiovascular risk factors in humans.) โดยคณะวิจัยจากประเทศนิวซีแลนด์ในเผยแพร่บทคัดย่อว่า ได้รวบรวมงานวิจัยถึง 21 ชิ้น และได้สรุปจากการทบทวนการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ 8 ชิ้น และการศึกษาในการสังเกตการณ์อีก 13 ชิ้น โดยสรุปจากการชั่งน้ำหนักหลักฐานและการศึกษาจึงได้แนะนำว่า การใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันอย่างอื่นในการบริโภคจะสามารถปรับสภาพโครงสร้างของไขมันในร่างกายที่จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้

งานวิจัยล่าสุดนี้ได้มอบอำนาจการเผยแพร่วารสารของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ในนามสถาบันชีวิตศาสตร์นานาชาติ ได้เลื่อนพิมพ์การเผยแพร่ฉบับเต็มในรายละเอียดจากเดิมในเดือนมีนาคม พ.ศ.2560 มาเป็นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2560 นี้

ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การใช้น้ำมันมะพร้าวแทนน้ำมันพืชชนิดอื่นนั้น มาถูกทางแล้ว!!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น