xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก...ไฮเปอร์ไทรอยด์ โรคที่ผู้หญิงพึงระวัง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทรอยด์ หรือ ต่อมไร้ท่อขนาดที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ซึ่งหน้าที่ของมันนั้นมีมากมาย แต่ใครจะทราบบ้างว่าความผิดปกติของไทรอยด์ หรือโรคของต่อมไทรอยด์นั้นมีมากมายหลายชนิด และจากการสำรวจพบว่ามักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้หญิงนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นสูง พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 9-10 เท่า โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20-40 ปี โรคที่เห็นชัดที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือ อาการเป็นพิษของต่อไทรอยด์

โรคไฮเปอร์ไทรอยด์เกิดจากอะไร?

โดยปกติแล้ว ไทรอยด์นั้นทำหน้าที่ในการสร้างและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเจ้าไทรอยด์ฮอร์โมนเนี่ยแหล่ะที่มีหน้าที่ช่วยทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานโดยเฉพาะ หัวใจและประสาท เท่านั้นยังไม่พอไทรอยด์ฮอร์โมนนั้นยังมีหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญในร่างกาย อุณหภูมิในร่างกายของเรา ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมไปถึงการควบคุมอารมณ์และความรู้สึก เมื่อภูมิต้านทานของร่างกายทำงานผิดปกติ มีเนื้องอกของไทรอยด์ที่สามารถสร้างฮอร์โมนได้ เกิดการอักเสบของต่อมไทรอยด์ ที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้เกิดภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากว่าปกติ ตัวนั้นเองก็จะหลั่งไปในกระแสโลหิต กระตุ้นอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานมากขึ้นกว่าเดิม หัวใจจะสั่น บางครั้งเต้นเร็วและแรง บางครั้งไม่สม่ำเสมอ เกิดการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย บางครั้งเกิดจากกรรมพันธุ์ และความเครียด จนทำให้เกิดโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

อาการของโรคไฮเปอร์ไทรอยด์

1. มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง บางครั้งไม่สม่ำเสมอ ทำให้อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
2. อุณหภูมิร่างกายไม่คงที่ ร้อนง่าย หนาวง่าย เหงื่อออกเยอะ
3. อารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด
4. ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนน้อยกว่าปกติ
5. กล้ามเนื้อต้นแขน ต้นขาอ่อนแรง บางครั้งเกิดอาการมือสั่น
6. คอโตผิดปกติ ใบหน้าบวม ตัวบวม
7. ทานอาหารได้มากขึ้น ทานจุขึ้น แต่น้ำหนักกลับลดลง
8. ในบางรายอาจมีอาการตาโปน ผิวแห้ง และผมร่วง

การรักษาโรคไฮเปอร์ไทรอยด์นั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์ไประงับการสร้างฮอร์โมน ลดการสร้างฮอร์โมน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี เป็นมาน้อยกว่า 6 เดือน และต่อมไทรอยด์มีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยม

วิธีต่อมาคือ การกลืนแร่ไอโอดี (ไอโอดีน 131) ซึ่งต่อมไทรอยด์จะได้รับไอโอดีนที่มีรังสีเข้าไปทำลายเนื้อต่อมไทรอยด์จะค่อยๆ ฝ่อ แล้วโรคไทรอยด์เป็นพิษก็จะหาย นิยมใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่มีอายุ หรือผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง

วิธีสุดท้ายคือการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะผ่าตัดให้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยมีต่อมไทรอยด์ที่โตมาก

ในการป้องกันโรคนี้ยังไม่มีออกมาอย่างแน่ชัด เพราะโรคไฮเปอร์ไทรอยด์นั้นเกิดการการผิดปกติภายในร่างกาย เมื่อมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อเป็นการป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และอาการของโรคจะได้ไม่ลุกลาม
ข้อมูลประกอบ : http://www.108health.com
http://health.haijai.com

ข่าวโดย : แพรวา คงฟัก

กำลังโหลดความคิดเห็น