xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์พิเศษ : "เบน ชลาทิศ" คุยเรื่องโรคเอดส์และผู้ป่วยเอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แน่นอนคงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก “เบน-ชลาทิศ ตันติวุฒิ” ศิลปินและนักร้องเสียงคุณภาพอีกคนหนึ่งของวงการเป็นแน่ เพราะเขาคนนี้ มีผลงานทางด้านดนตรีและการแสดงที่ออกมาให้ผู้ชมและนักฟังเพลงทั้งหลายได้สัมผัสและเข้าถึงตัวตนที่เป็นอยู่ของเขาคนนี้ และอีกด้านหนึ่ง ชลาทิศ เพิ่งได้รับตำแหน่งทูตพิเศษของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ คนแรกของประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลรวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าวให้คนไทยได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่า 'เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคดังกล่าวได้อย่างปกติไม่มีปัญหา'

• อยากทราบถึงความรู้และประสบการณ์ก่อนหน้านี้ของคุณกับโรคเอดส์ว่าเป็นยังไงหน่อยครับ

จริงๆ เราก็ค่อนข้างคลุกคลีกับผู้รับเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์พอสมควรด้วยนะครับ ด้วยการที่เราเป็นลักษณะนี้ หรือว่าการที่มีเพื่อนที่มีเพศสัมพันธ์แบบชายกับชายรวมถึงก็มีเพื่อนที่อยู่กับผู้ป่วยและจากไปด้วยโรคเอดส์ ก็ทำให้เราค่อนข้างที่จะอยู่กับมัน แล้วรู้จักกับเอชไอวีพอสมควร คือชีวิตเราก็คลุกคลีกับเรื่องนี้พอสมควร ตั้งแต่สมัยเรียนไปจนถึงเข้ามหาวิทยาลัย เจอเพื่อนฝูง และเริ่มทำงาน ก็จะอยู่ในสังคมที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ด้วย นี่อาจจะเป็นเหตุผลหลักๆ เลยที่พอมีการติดต่อมา เราเลยรู้สึกว่า เราสบายใจและเราอยากจะมีส่วนร่วมกับโครงการ

ก่อนที่คนใกล้ตัวจะเป็นอะไรแบบนี้เนี่ย ครั้งแรกที่ทราบว่ามีคนป่วยเป็นเอชไอวีและเป็นเอดส์ตาย เรารู้สึกกลัว แต่ประสบการณ์แรกระหว่างเรากับผู้ป่วยที่ใกล้ชิดที่สุด คือ อยู่ใกล้ๆ บ้านเราเอง คือผู้ชายคนนี้เป็นผู้ชายที่แข็งแรง และเป็นนักกล้าม แล้วเขาก็ออกกำลังกายของเขาตลอด จนวันหนึ่ง เขาป่วยและเขาทิ้งทุกอย่าง เพราะว่า ไม่รับการรักษา และไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เพราะเขารู้ว่า เป็นโรคนี้ ยังไงก็ตายอยู่ดี ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อนในการประชาสัมพันธ์ของคน ทำให้เขาจากไปในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากรู้ผลเอง แต่เขาก็นำมาติดภรรยาเขาด้วย ซึ่งแฟนเขากลับเป็นคนที่ยอมรับ และไปรักษาอย่างถูกต้องและเปิดเผย และทุกวันนี้ภรรยาของเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ และนั่นเป็นโชคดีของเราที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยแบบนี้ และทำให้เราเปิดกว้างมากขึ้นที่จะรู้จักและใกล้ชิดกับผู้ป่วย

• มันเป็นเพราะว่ายาแรงในการนำเสนอถึงโรคเอดส์ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ก็มีส่วนด้วยมั้ย

ใช่ครับ ผมคิดว่าการประชาสัมพันธ์ในช่วงเวลานั้น ซึ่งตรงกับโรคเอดส์ที่เปิดตัวใหม่ๆ แล้วทุกคนก็หวาดกลัว และตื่นกลัวซึ่งมันเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่คนจะหวาดกลัวกัน แต่ด้วยวิวัฒนาการที่ทั้งคุณหมอและนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยเพื่อที่จะยับยั้งมัน รวมถึงระงับให้โรคนี้ไม่ได้มีปฎิกิริยา ซึ่งทำให้ผู้ป่วย ผู้รับเชื้อ และผู้อยู่ใกล้โรคเอชไอวีเนี่ย ป่วยไปถึงขั้นภาวะเอดส์ได้ ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น มันไม่มียาแก้รักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่เขาประชาสัมพันธ์อย่างงั้น เพี่อไม่ให้โรคนี้กระจายไปในวงกว้างกว่านี้ รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจว่าโรคนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์นะ มันติดต่อทางสารคัดหลั่ง หรือว่า โรคนี้ติดต่อทางเลือดโดยตรง ซึ่งมันก็เป็นการป้องกันของการกระจายของเชื้อได้ดีที่สุด ณ ตอนนั้น แต่พอเวลาผ่านไปจนเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ก็อย่างที่บอกว่า พอเทคโนโลยีที่ทันสมัยขื้น ทำให้แพทย์ทั่วโลกและแพทย์ไทยสามารถที่จะคิดค้นยาต้านไวรัส และทำให้ราคาถูกลง ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ใน 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งปัญหาหลักที่คนยังไม่ทราบนั่นคือเพราะเราทำให้ทุกคนหวาดกลัว ณ ตอนนั้น จนถึงทำให้การที่คนรู้สึกว่ามีการกีดกันและตีตราคนที่เขาป่วย อาจจะเป็นเพราะด้วยความหวาดกลัว หรือที่ความที่เราไม่รู้จริงเกี่ยวกับโรคนี้ แล้วการที่เราจะอยู่กับเขาได้ยังไงเนี่ย มันก็เลยทำให้การประชาสัมพันธ์ และการอัพเดทของสถานะในการรักษา และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยมันยังคลาดเคลื่อนกับสิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน

• ปัจจัยอะไรที่ทำให้บ้านเรายังคงมีปัญหาในโรคนี้อยู่ครับ

ผมว่าไม่ใช่แค่บ้านเรา ผมว่าน่าจะเป็นปัญหาจากทั่วโลกนะ แล้วปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้โรคเอดส์หมดไปยาก นั่นคือ การถูกตีตราจากผู้ป่วย การกีดกัน การเลือกปฎิบัติกับผู้ป่วย เพราะว่า ถ้าเกิดเป็นผู้ที่ศึกษาซักนิดเดียว หรือว่ามีการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้องซักนิดนึง คนเราก็จะรู้สึกสบายใจและสบายตัวที่จะใช้ชีวิตกับผู้ป่วยได้ แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีหน่วยงานไหนหรือว่าการประชาสัมพันธ์ใดจริงๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า ผู้ป่วยไม่ได้น่ากลัวหรอก เราสัมผัสเขาได้ เรากอดได้ แต่ในปัจจุบันนี่คือ ขอทิ้งระยะห่างไว้ก่อน นั่นก็ทำการตีตราที่เกิดขึ้น ว่ามีการเลือกปฎิบัติกับเขาแล้ว โรงพยาบาลบางโรง พอรู้ว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ ก็มีการแยกเตียงว่าอยู่ยังไง ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยเขารู้สึกว่ามีปมมากขึ้นที่จะอยู่ในสังคม ซึ่งทำให้เขาจะเปิดตัวมาได้ยังไงว่าเขาจะได้รับการรักษาได้ยังไง ผมมั่นใจเลยว่า หลายๆ คนกลัวถึงขั้นที่ว่าไม่เปิดรับ แล้วปัจจุบัน ผมก็มีเพื่อนที่ทราบว่าตัวเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่ว่าไม่กล้าเข้าไปรับการรักษาเนื่องด้วยกลัวว่าใครจะรู้ยังไง จะโดนสังคมประณามยังไง ซึ่งผมคิดว่าปัญหาหลักๆ ที่ทำไมโรคนี้ยังเกิดการแพร่ระบาดอยู่ ไม่เฉพาะแค่ในสังคมชายรักชายเท่านั้น แต่เป็นเพราะการตีตราของสังคมที่ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนแปลกแยกออกมา

• แต่การรณรงค์ในบ้านเราก็ถี่ทุกปี แต่ผู้ป่วยก็ยังมีอัตราที่สูงขึ้นทุกปีนะครับ

มีการป่วยแล้วสูงขึ้นทุกปี แต่ยอดการรักษาก็ดีขึ้น อย่างที่ผมบอกก้ต้องย้อนกลับไปที่การประชาสัมพันธ์ ว่ามันอยู่ยังไง แล้วก็มันป่วยขึ้นทุกปี เพราะว่าอะไร เกิดจากประชากรที่มากขึ้นหรือเปล่า ซึ่งวันนึงถ้าคู่รัก 1 คู่ แล้วสามีเกิดรู้ได้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ที่ไปติดมาจากอะไรก็แล้วแต่ แล้วเขาเกิดกลัวปัญหากับภรรยาหรือเปล่า หรือว่าเกิดปัญหากับครอบครัวฝั่งไหนหรือเปล่า เขาก็ต้องเก็บเป็นความลับ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะมา ฉันจะใช้ถุงยางกับเธอ แน่นอนว่าจะต้องมีปัญหานี้เกิดขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นการแพร่เชื้อไปสู่คนที่เรารัก ซึ่งจริงๆ แล้วผมคิดว่า ถามว่าทำไมยังมีปัญหานี้อยู่ เพราะว่ามันก็ยังมีการตีตราเกิดขึ้นอยู่ในสังคม ผมคิดว่าเขาก็ศึกษาและไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่ของโรคนี้อยู่ เพราะว่าคนเราก็ยังรู้สึกกลัวที่จะไปเปิดเผยตัวเอง และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

• ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยในบ้านเราที่เป็นเพศทางเลือกนี่คือมากกว่า ตรงนี้คุณมองยังไงครับ

จริงๆ มันต้องลงลึกไปที่สถิตินะ ว่าปัจจุบันของโรคนี้เป็นยังไง แล้วคนจะมุ่งเน้นไปว่า เพราะพวกเพศทางเลือกนี่แหละ ถึงเป็นพวกแพร่เชื้อ ทั้งที่ๆ เพศปกตินี่คือติดเชื้อเอชไอวีเยอะแยะนะ แล้วก็คนที่ลงทะเบียนในบ้านเรามีแค่ล้านกว่าคนเอง แล้วคนที่ไม่รู้ก็อีกเยอะมากเลย แต่ว่าคนที่เป็นกลุ่มชายรักชายเนี่ย เขาเปิดเผย ผมคิดว่ากลุ่มนี้เขาเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพกลุ่มนึงเลยนะ ที่สามารถเปิดเผยแล้วเอาตัวเองไปยอมรับ และเข้าสู่กระบวนการการรักษาที่ถูกต้อง มากกว่าคู่รักปกติที่มีสถานะและทำให้ปิดบัง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้มใช้ชีวิตแบบนั้น จนวันนึงภาวะเอดส์มันเปิดเผยออกมา จนทำให้เกิดภาวะกังวล ซึ่งจริงๆ แล้วผมคิดว่า มุมมองว่า กลุ่มชายรักชายกลุ่มนี้ น่าจะเป็นอีกแรงกำลังสำคัญที่ค่อนข้างที่จะเปิดกว้าง และเข้ารับการรักษาได้ ถ้าเราไปดูตามคลินิกนิรนามหรือสถาบันที่ให้การรักษาพวกนี้ ก็จะรู้ว่ากลุ่มนี้คือกลุ่มที่ค่อนข้างรักตัวเองพอสมควร รักตัวเองที่ว่าคือรู้สึกว่าเขามีความเสี่ยง เขาพร้อมที่จะไปเช็คว่าตกลงเป็นมั้ย ซึ่งบางทีกลุ่มอื่นอาจจะไม่รู้ แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนในกลุ่มนี้จะกล้านะ แล้วเพื่อนผมหลายๆ คน ก็ยังกลัวการตีตราอยู่

• พอมาถึงช่วงที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูต อยากให้คุณช่วยเล่าถึงตรงนี้หน่อยครับ

ไม่ได้ซับซ้อนเลย ก็มีวันหนึ่งที่เขาติดต่อมา แล้วเราก็รู้สึกผูกพันกับเรื่องแบบนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้สิ่งที่เรามี ซึ่งไม่รู้ว่าทางทีมเขาเห็นอะไรในตัวเรา อาจจะเป็นด้วยหน้าที่การงาน หรือว่า สภาพที่เราเป็นอยุ่ ซึ่งเราคิดว่ามันน่าที่จะเป็นที่เหมาะสมแล้ว ซึ่งตัวเองรู้สึกสบายใจและมีความสุขมากที่มาทำหน้าที่นี้ ส่วนหน้าที่คร่าวๆ ของตำแหน่งนี้คือ เป็นกระบอกเสียงที่จะมาช่วยในเรื่องของการงดการตีตราของสังคมกับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเพศสภาพใดก็ตาม ก็ได้รับตำแหน่งมาก็เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเราก็ได้วางแผนว่าจะมีโครงการที่จะทำหลายๆ อย่างนะครับ แต่พอเกิดเหตุการณ์ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ทำให้หลายๆ โปรเจกต์ก็ต้องเก็บพับไว้ก่อน ซึ่ง ณ ช่วงนี้ ก็เริ่มมีที่จะมาคุยกัน ซึ่งสิ่งที่เราจะทำได้ในโครงการนี้ นอกจากในเรื่องที่จะเป็นตัวอย่างให้กับคนแล้ว ก็มีหลายๆ โปรเจกต์ที่จะคุยกันอยู่ เช่น การจัดคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อที่จะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักเกี่ยวกับลดการตีตรามากขึ้น แล้วก็รู้จักโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวีมากขึ้น เร็วๆ นี้ ก็จะมีคอนเสิร์ตร่วมกับเครือข่ายศิลปินอีกหลายๆ ท่าน ที่มีการคุยกันไว้แล้ว รวมถึงเพลงที่จะมีการทำขึ้นมา ซึ่งตอนแรกเราก็คิดว่าจะมีรายได้ในด้านการขายเพลงนะ แต่แน่นอนว่าธุรกิจเพลงในปัจจุบันก็ค่อนข้างลำบากพอสมควร แต่อย่างน้อยเราก็ได้ประชาสัมพันธ์โครงการนี้ แล้วเราก็หวังว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้จะเป็นการประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่จะให้คนหันมาสนใจในโครงการนี้ และเป็นการกระจายในความรู้นี้ต่อไป

• ทราบมาว่า มีภารกิจที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยในบ้านต่างๆ ด้วย อยากให้คุณช่วยเล่าตรงนี้หน่อยครับ

จริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีหน่วยงานหรือกลุ่มต่างๆ ที่ยังมีการให้ความช่วยเหลือและมีเงินทุนจากมูลนิธิจากต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ในเรื่องค่าใช้จ่ายมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งค่าอาหาร ค่ากิน ค่าใช้แทบจะทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะช่วยขับเคลื่อนให้มูลนิธิเหล่านี้เดินต่อและอยู่รอดไปได้ ตอนที่เราไปเราก้รู้สึกว่า มันยังขาดแคลนเงินที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้อยู่ เพราะเวลาคนไปทำบุญกัน ก็ไปทำบุญที่นั่นที่นี่ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีคนทราบว่า จริงๆ ก็มีมูลนิธิอย่างบ้านที่ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเขาต้องการเงิน ต้องการอาหารกลางวัน หรือของเล่นให้กับน้องๆ เราก็ขอเป็นอีกสื่อหนึ่งที่จะส่งต่อไปให้ทุกๆ ท่านว่า ถ้ามีตัวเลือกที่หลายๆ ท่านที่อยากจะทำบุญ ก็ช่วยไปแวะหาพี่ๆ น้องๆ บ้างนะครับ

พอเราได้ไปเยี่ยมน้องๆ เหล่านี้ที่บ้านต่างๆ แล้วเนี่ย คือเวลาที่มีใครก็ตามไปเยี่ยมเขา เขามีความสุขมากนะ แบบเด็กประมาณ 10 กว่าคนวิ่งเข้ามาจูงมือเราแล้วก็พาเราไปดูกิจกรรมที่พวกเขาทำ เขาเข้ามากอดเราบ้าง หรือ จูงเราไปดูที่ต่างๆในบ้าน แล้วพวกเขาก็มีความสุขมากๆ ที่มีคนมาเยี่ยมเขานะ และมีคนมาให้ความรักเขาและให้ความสำคัญกับเขา แล้วสิ่งที่เราสะเทือนใจอย่างหนึ่ง คือ ในตอนที่เราจะกลับ มีน้องหลายคนเขาร้องไห้นะ ทั้งๆ ที่เราเพิ่งไปครั้งแรกเอง ซึ่งเราก็มีความรู้สึกว่า น้องๆ เหล่านี้เขาต้องการความรักมากๆ เลย แล้วพวกเขายังรอพื้นที่ความรักจากพวกเราอยู่ครับ ซึ่งหลังจากที่ไปบ้านหรือที่ต่างๆ เราก็มีความรู้สึกว่า เราอยากจะให้โลกนี้มันดีขึ้น ทั้งๆ ที่น้องๆ เหล่านี้คือผู้ป่วยและเป็นผู้ที่ได้รับเชื้อมาให้ได้ดำรงชีวิต แต่ทางมูลนิธิก็ได้กระจายน้องๆไปตามสถานศึกษาต่างๆ ให้อยู่รอบๆมูลนิธิ รวมถึงน้องๆ อีกหลายคนที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน เขาก็พยายามช่วยผลักดันให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถไปใช้ชีวิตในสังคมได้จริงๆ ถึงกระทั่งว่า ต้องไปเช่าห้องพักเพื่อให้เขาไปอยู่เดี่ยวเอง ซึ่งถ้าลองไปติดต่อมูลนิธิคามิลเลียนเอง เขาจะทำยังไงที่ให้คืนผู้ป่วยเหล่านี้กลับไปสู่สังคมได้อย่างถาวร

• แล้วหน่วยงานต่างๆ ที่มาช่วยในเรื่องนี้ เช่นบ้านสีรุ้งหรืออื่นๆ ทุกวันนี้ก็น่าจะหนักอยู่นะครับ

ผมว่าอย่างหน่วยงานต่างๆ นี่คือ เขาเป็นจิตอาสาจริงๆ นะ รวมถึงหน่วยงานรัฐ หลายๆ หน่วย เราเคยเข้าไปคุยแล้วรู้สึกว่า นอกจากการให้ความรู้ แล้วประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องโรคในบ้านเราเนี่ย การสนับสนุนด้วยเงินจากของรัฐเนี่ย ค่อนข้างที่จะมีน้อยพอสมควร หลายๆ ครั้งที่โครงการเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนไปได้ ด้วยเงินสนับสนุนจากองค์การจากต่างประเทศทั้งนั้นเลย ซึ่งในบ้านเรามันก็มีหลายเรื่องที่จะต้องดูและ แล้วก็โทษเขาไม่ได้ แต่ว่าก็ต้องประชาสัมพันธ์ด้วยว่า เรื่องนี้ก็ไม่สามารถที่จะทิ้งมันได้ แล้วมันเป็นอีกเรื่องที่ประสบความสำเร็จได้นะ ผมว่ามันควรจะเป็นแรงผลักดันของความคาดหวังนะ ไม่ใช่แค่ว่าจะเป็นแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มันเป็นความคาดหวังของคนทั้งประเทศและคนทั้งโลกที่จะต้องหยุดการแพร่ระบาดของเอดส์ให้ได้

• เช่นเดียวกัน ก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจในผู้ป่วยใหม่ด้วย

ผมคิดว่าเราจะต้องปฎิรูปแบบในการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการที่ถูกต้องที่จะเข้าถึงกลุ่มคนแต่ละกลุ่มมากกว่า เพราะว่าทุกวันนี้จะเป็นออกไปโดดๆ เลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย (หัวเราะเบาๆ) เพราะฉะนั้น อีกหนึ่งเรื่องที่เราจะต้องทำ คือการประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง แล้วก็เลือกเข้ากลุ่มที่ว่า เขาไม่ถูกแช่แข็งจนเกินไป แล้วปัจจุบันนี้มันไม่ใช่เรื่องการตีตราเรื่องของผู้ป่วยอย่างเดียวนะ แต่มีทั้งการตีตราเรื่องเพศ หรือเพศปกติต้องอยู่เหนือกว่าเพศทางเลือก ซึ่งมันควรจะหมดไป มันควรจะกลับไปที่ ทุกคนคือคนเท่ากัน ไม่ว่าทุกคนจะอยู่ในสภาวะอะไรก็ตาม แต่ทุกคนสามารถที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีได้

• ถ้าคุณได้บอกกับคนที่ยังไม่เข้าใจอยู่นี้ จะบอกเขาว่าให้ปฎิบัติตนกับผู้ป่วยยังไง

ให้เขาคิดว่าเป็นคนในครอบครัวเราคนหนึ่ง จะให้ผมไปพูดว่า โรคนี้ไม่น่ากลัวนะ คนที่ไม่เข้าใจ ก็ไม่เข้าใจหรอก คือกลับไปที่คำสอนของศาสนาว่าให้เรารักทุกคน แล้วเราต้องยึดในพื้นฐานว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่เท่าเทียมกัน เขาเป็นแค่ผู้รับเชื้อหรือผู้ป่วย เขาไม่ได้เป็นผู้ที่ด้อยกว่าเรา เขาเป็นหนึ่งในสังคมเดียวกับเรา เราอยากให้สังคมเราดีขึ้น เราก็ต้องดูแลคนที่มีปัญหาที่อยู่ร่วมกับสังคมเดียวกับเรา เพื่อที่สังคมมันสูงขึ้นมา พูดง่ายๆ คือ ตัดอคติทิ้งไป ลดการตีตรา ลดการเลือกปฎิบัติ แล้วทุกอย่างจะค่อยๆ มาเอง

• อีกด้านหนึ่ง ถ้าให้เตือนคนที่แบบว่า กำลังที่จะสุ่มเสียงในโรคนี้ครับ

จริงๆ จะต้องเตือนทุกคนนะครับ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเดียว ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์จะพัฒนาอย่างที่บอก และสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ป่วยได้ด้วย ทุกวันนี้คนก็ไม่รู้ แต่ยังไงก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคดังกล่าวให้กับคน ผมว่าคนก็รักตัวเองนะ ซึ่งการที่คนใช้ถุงยางอนามัย ก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แล้วคิดถึงว่า จะทำยังไงให้เขาภูมิใจที่เขารักตัวเอง ให้เขาภูมิใจในการที่เขาเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็ทำในสิ่งที่ปลอดภัยกับทั้งตัวเองและสังคมและคนรอบข้าง

แต่ถ้าเกิดไปซุกซนแล้วถ้ากังวลแล้วเนี่ย ไปตรวจเลย คลินิกนิรนามเยอะแยะ ทุกคนสบายใจได้ คำว่านิรนามคือไม่เปิดเผยตัวตน ทุกคนสามารถสบายใจที่จะเข้าไปรับการรักษาหรือว่ารับการตรวจเบื้องต้นได้เลย อย่างที่บอก แต่ก่อนจะต้องรอ 2-3 เดือนถึงจะรู้ผล ทุกวันนี้สามรรถไปเช็คในคลินิกนิรนามได้เลย ก็จะรู้ได้ในแค่ 5 วัน เราก็สามารถเจอได้แล้ว แล้วก็รับการรักษา ปัจจุบันถ้าให้เป็นแล้วรอไปแล้วค่อยไปตรวจ มันไม่ใช่ ซึ่งต้องเป็นว่าอย่างรู้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งหายเร็วเท่านั้น
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ปัญจพัฒน์ เข็มราช และ UNAIDS

กำลังโหลดความคิดเห็น