xs
xsm
sm
md
lg

เคยสงสัยไหมว่า ยาที่หมอจ่าย ต้องกินให้หมดทุกครั้งหรือเปล่า??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By : Pharmchompoo

เกือบร้อยละร้อยของคนที่ไปหาหมอมักจะต้องได้ยาติดไม้ติดมือกลับบ้านมาเพื่อกิน .. จะกินต่อเนื่องยาวนานขนาดไหน ก็ขึ้นกับโรคและอาการที่เป็น หลายกรณีที่เป็นเรื่องของโรคเรื้อรัง (chronic diseases) โรคเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องกินยากันอย่างต่อเนื่องยาวนาน เรียกได้ว่าเกือบตลอดชีวิต เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไต

แต่ในบางภาวะ บางโรคที่ผู้ป่วยที่รับยามาอาจจะสงสัยว่า “จำเป็นมากน้อยขนาดไหนที่จะต้องกินยาให้ครบ หรือกินยาให้หมด ???” เพราะหลายคนรู้สึกไม่อยากกินยาต่อเนื่องยาวนานโดยไม่จำเป็น

เกณฑ์ที่จะช่วยพิจารณาได้คร่าวๆ ว่ายาอะไรที่ไม่จำเป็นจะต้องกินให้หมดตามที่แพทย์จ่ายมา (ยกเว้นไว้ในกรณีที่แพทย์สั่งเป็นอย่างอื่น) มีดังนี้

ยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการ/โรคที่เกิดเป็นครั้งคราว เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ให้กินเฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้ ตามอาการที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ทุก 6 ชั่วโมง หากอาการหายแล้วไม่ต้องกิน

** ยาคลายกล้ามเนื้อผสมยาแก้ปวด ที่แพทย์จ่ายมาจำนวนน้อย ๆ เช่น 10-20 เม็ด เพื่อให้กินระยะสั้น ๆ เช่นเพื่อแก้ไขอาการตึงปวดกล้ามเนื้อ อาการเคล็ด อาการยอกของกล้ามเนื้อ อาการปวดเข่า เมื่อหายแล้วก็สามารถหยุดกินได้เลย (ยกเว้นในกรณีผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อแล้วมีอาการปวดอย่างรุนแรง หรืออาการแพลง ข้อบวมอักเสบ อาจจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องกินต่อเนื่องจนยาหมด)

*** ยากลุ่มบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกน้ำมูกไหลไอจาม เช่น ยาลดน้ำมูกก็สามารถกินจนอาการทุเลาลงแล้วสามารถหยุดได้ หรือยาจิบแก้ไอก็สามารถจิบเวลาไอได้ ยาแก้คัดจมูกบางชนิดก็กินเฉพาะเวลามีอาการคัดจมูก แต่ ... หากเป็นอาการไอ จาม น้ำมูกไหล ที่เกิดจากภูมิแพ้ แพ้อากาศ (allergic rhinitis) พวกนี้จำเป็นจะต้องกินยาแก้แพ้ต่อเนื่องตลอด และในผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นจะต้องใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่นยาสเตอรอยด์พ่นจมูก ซึ่งแพทย์มักจะกำชับผู้ป่วยอยู่แล้ว

**** ยากลุ่มที่บรรเทาอาการทางเดินอาหารบางอย่าง เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยชั่วคราว (dyspepsia) ยกเว้นยาลดการหลั่งกรดในทางเดินอาหารซึ่งแพทย์จ่ายมาสำหรับผู้ป่วยโรคแผลในทางเดินอาหารและลำไส้เล็ก (peptic ulcer, duodenal ulcer) และผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน (GERD) ที่จะต้องกินยาต่อเนื่องไปจนยาหมดในช่วงหนึ่งของการรักษา

และยาเหล่านี้เป็นยาที่จะต้องกินต่อเนื่องตลอดตามคำสั่งแพทย์ เมื่อยาหมดก็ต้องรับการตรวจติดตามเพื่อประเมินอาการและรับยาเพิ่มอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น ยาสำหรับโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อต่าง ๆ (หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไต ลมชัก สมองเสื่อม ฯลฯ) ยาสำหรับโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิด บี ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี

และยาเหล่านี้ต้องกินให้ครบเสมอจนยาหมดตามแพทย์สั่ง (ยกเว้นกรณีแพ้ยา ให้หยุดยาและรีบพบแพทย์) ได้แก่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (ที่เรารู้จักกันว่าเป็นยาปฏิชีวนะ) ยาฆ่าเชื้อรา ยากลุ่มคอร์ติโคสเตอรอยด์ชนิดกินสำหรับบรรเทาอาการกำเริบของอาการบางอย่าง เช่น หอบหืด

เมื่อพูดถึงประเด็นการกินยาให้หมดตามแพทย์สั่งแล้ว จะมีอีกกรณีคือ การหยุดยาก่อนการผ่าตัด หรือทำหัตถการบางชนิด เช่น ถอนฟัน ขูดหินปูน ผู้ป่วยมักมีความเข้าใจว่า หากกินยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด (เช่น ยากลุ่มแอสไพริน วาร์ฟาริน โคพิโดเกรล ทิโคลพิดีน เป็นต้น) แล้ว จำเป็นจะต้องหยุดยาก่อนการผ่าตัดหรือทำหัตถการ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะมีภาวะหรือโรคบางชนิดที่ไม่อาจจะหยุดยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดได้ เพราะจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากเสียยิ่งกว่าการกินยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดแล้วไปทำหัตถการ สำหรับแนวปฏิบัติที่ผู้ป่วยที่ใช้ยาเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดและญาติพึงกระทำเป็นดังนี้

1. หากเป็นหัตถการที่รู้ล่วงหน้า รู้กำหนดวัน ให้แจ้งและสอบถามแพทย์ประจำตัวที่จ่ายยาเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดให้ทราบว่า ผู้ป่วยมีนัดจะต้องเข้ารับการทำหัตถการ หรือทำฟัน ฯลฯ เมื่อไร และจำเป็นจะต้องหยุดยาหรือไม่ อยู่นานเท่าไร เมื่อไรถึงจะเริ่มกินยาได้อีกครั้ง

2. แจ้งแพทย์ผู้ที่จะทำหัตถการ หรือทันตแพทย์ให้ทราบว่าเรากินยาอะไรอยู่บ้าง และได้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวเรียบร้อยแล้ว

3. หากเป็นหัตถการที่ฉุกเฉิน ผู้ป่วย และ/หรือญาติมีหน้าที่แจ้งแพทย์ พยาบาลทุกครั้ง ว่ากินยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอยู่

4. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร ยาพื้นบ้าน ยาแผนโบราณบางชนิดอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านความสามารถในการแข็งตัวของเลือดได้เช่นเดียวกัน ให้ปฏิบัติตามกรณีข้างต้น
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น