xs
xsm
sm
md
lg

คุณหมอนักวิ่ง "หมอเมย์ - พญ. สมิตดา" น้ำหนักลด สุขภาพดี เพราะการวิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่หลงใหลในการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งแรงบันดาลใจในการวิ่งมาราธอนนั้นเริ่มต้นจากพื้นฐานที่เป็นคนชอบออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว จึงเริ่มต้นออกวิ่งด้วยระยะทางสั้นๆ 10 กิโลเมตร จนขยับไปเรื่อยๆ ที่ Half marathon 21 กิโลเมตร มาราธอน 42.195 กิโลเมตร อัลตร้ามาราธอน 50 กิโลเมตร และเทรล 66 กิโลเมตร ตามลำดับ ซึ่งอนาคตยังตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100 กิโลเมตร

พญ. สมิตดา สังขะโพธิ์ หรือ หมอเมย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำโรงพยาบาลพระรามเก้า
ด้วยความที่ชอบวิ่ง บวกกับเป็นหมอทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูอยู่แล้วจึงทำให้หมอเมย์นำทั้งสองอย่างมาผสมผสานกันเกิดเป็นไอเดียในการทำ "คลินิกนักวิ่ง" ขึ้นมา เพื่อให้คำปรึกษาและดูแลรักษานักวิ่งโดยเฉพาะ

• เห็นว่าคุณหมอชื่นชอบการวิ่งมาก

ส่วนตัวหมอเป็นคนที่ชอบการวิ่งอยู่แล้วด้วย เริ่มวิ่งมาได้ประมาณ 2-3 ปีมาแล้วนะคะ แต่จริงๆ เราออกกำลังกายมาตลอด 16 ปีอยู่แล้ว 10 ปีที่แล้วเราก็เคยวิ่ง แต่จะวิ่งในระยะทาง 10 กิโลเมตร วิ่งแบบไม่ได้จริงจังอะไร ก็คือวิ่งทั่วๆ ไป แรกๆ ที่วิ่งก็รู้สึกว่าก็เหนื่อยเหมือนกันนะ 5 กิโลเมตร 7 กิโลเมตร จนถึงสุดท้ายที่หมอมาวิ่งได้ 10 กิโลเมตรบ่อยๆ เราก็เริ่มรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกว่ามันท้าทายตื่นเต้น พอวิ่งเสร็จ สุดท้ายก็เบื่อ เราก็กลับมาออกกำลังกายในยิมเหมือนเดิม เมื่อปีที่แล้วเรามีปริญญาโทที่จะต้องเรียนด้วย ก็เลยไม่ได้มีเวลาเข้ายิมอย่างเต็มที่ สุดท้ายเลยเลิกเข้ายิม แล้วเริ่มกลับมาวิ่งอย่างจริงจังแทน

 หันมาวิ่งอย่างจริงจังนี่ทำอย่างไรบ้างคะ

แรกๆ หมอเริ่มจากวิ่งที่สวนสาธารณะแถวบ้านก่อน ตอนที่เรากลับมาวิ่งใหม่ๆ เราได้เห็นเพื่อนที่เขาวิ่งทีหลังเรา เขาไป full marathon ก่อนเราอีก แต่ระยะนั้นเราก็ไม่คิดว่าจะเป็นระยะที่เราจะวิ่งได้นะคะเพราะว่าให้เราไปวิ่งต่อเนื่อง 4-5 ชั่วโมง เราไม่เคยทำมาก่อน (full marathon 42.195 กิโลเมตร) ตอนนั้นหมอก็ไม่อยากทำนะคะ เพราะคิดว่ามันต้องเจ็บแน่ๆ เลย กลัวก็คิดไปสารพัด แต่สุดท้ายก็อยากลอง จึงตัดสินใจมาซ้อมดูค่ะ จากพื้นฐานที่ชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว จึงทำให้พื้นฐานร่างกายและกล้ามเนื้อของเราดีในระดับหนึ่ง ก็เลยซ้อมไปเรื่อยๆ จนได้จบ full marathon

จากที่วิ่งปกติหมอก็ได้มาเป็นเพซเซอร์ (Pacer) ซึ่งมันก็คือนาฬิกาเคลื่อนที่ ในการวิ่งวิ่งระยะ 42.195 กิโลเมตรก็แล้วแต่ว่าเราจะจบในเวลาเท่าไหร่ บางกลุ่มถ้าวิ่งเร็วมากๆ ก็ 3 ชั่วโมงครึ่ง กลางๆ ก็จะมี 4 ชั่วโมง - 6 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งอัตราความเร็วในแต่ละเวลามันก็จะไม่เท่ากัน ดังนั้นการที่เราวิ่งตามคนกลุ่มหนึ่งในเวลาที่เราต้องการคือจะจบพร้อมเขา หรือถ้าเราอยากจบเร็ว เราก็จะต้องวิ่งแซงเขาหรืออยู่หน้าเขาเพราะคนกลุ่มนี้เขาค่อนข้างที่จะวิ่งคงที่ไปเรื่อยๆ

พอเป็นเพซเซอร์เสร็จ ก็ได้พบสังคมเพื่อนนักวิ่งที่น่ารัก แบ่งปันช่วยเหลือ ตอนนั้นหมอได้ไปรู้จักกับพี่ป็อก (อิทธิพล สมุทรทอง) แอดมินเพจ "42.195 K Club…เราจะไปมาราธอนด้วยกัน" ซึ่งพี่ป็อกก็มีเพื่อนเยอะ คอยช่วยเหลือ แบ่งปันกัน พอเรามีทักษะตรงนี้ เรามาเริ่มวิ่ง เราได้ค้นพบปัญหาทั้งกับตัวเองและคนอื่น พอพี่ป็อกรู้ว่าเราเป็นหมอทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เขาเลยบอกว่าดีจังเลย อยากให้ไปช่วยแนะนำเพื่อนๆ ในมุมที่เราเป็นหมอ ตั้งแต่นั้นก็เลยได้เข้าสู่วงจรที่เพื่อนๆ รู้จักมากขึ้นเพราะเราจะคอยเอาความรู้มาสอน ซึ่งหมอก็ทำเพจ goodhealth สุขภาพดีมีกึ๋น เลยได้ให้ความรู้เยอะขึ้น มีทำคลิปบ้าง เขียนข้อมูลบ้าง จะเป็นแนวให้ความรู้ค่ะ (ยิ้ม)

มีโอกาสได้ลงแข่งวิ่งที่ไหนมาบ้าง แล้วตอนนี้การวิ่งของคุณหมออยู่ในขั้นไหนแล้วคะ

หมอเริ่มมาราธอนแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2014 แล้วจาก 2014-2015 ก็วิ่งไป 9 มาราธอน ถึงตอนนี้ก็รวมๆ อยู่ที่ 12-13 มาราธอนค่ะ จำตัวเลขไม่ได้เป๊ะๆ เท่าไหร่ จริงๆ เราจบมาราธอนบ่อยๆ แล้วระยะนึงจะเริ่มรู้สึกเฉยๆ แล้วนะคะ แต่ว่าจริงๆ แล้วเป้าหมายของแต่ละมาราธอนมันมีคุณค่าหมดแหละขึ้นอยู่กับว่าเราอยากได้อะไร อย่างที่จะถึงมาราธอนหน้าเดือนมกราคมที่จอมบึงเรามีเป้าหมายว่าจะพาคุณแม่จบมาราธอนครั้งแรก มันเลยเป็นเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป บางมาราธอนเราก็อาจจะพาเพื่อนจบ บางมาราธอนเราอาจจะอยากทำเวลาเพื่อสถิติที่ดีของตัวเอง บางครั้งเราอาจจะไปเพื่อเก็บบรรยากาศ ความสนุกของบรรยากาศรอบๆ สีสัน อย่างตอนที่หมอไปญี่ปุ่นหมอก็จะมีเป้าหมายอย่างนั้นค่ะ

เพราะฉะนั้น มันจะมีเป้าหมายแตกต่างกันไปในแต่ละคนว่าการซ้อมไปมาราธอนรอบนี้อยากได้อะไร หรือจะเป็นประมาณว่าระยะ 42.195 กิโลเมตรผ่านไปแล้วเราก็อาจจะเฉยๆ แล้ว เราก็อยากลองระยะที่ยาวขึ้น
ซึ่งคนเราทั่วไปก็จะเป็นประมาณนี้ว่าพอจบตรงนี้ก็อยากชาเล้นจ์ตัวเองไปอะไรที่มันท้าทายมากขึ้นหรืออยากเปลี่ยนรูปแบบจากทางราบ มาราธอนส่วนใหญ่จะเป็น road แต่จะมีอีกอันที่เป็นเทรล จะเป็นวิบาก ขึ้นลงตามเขา มันจะมีความสูงความชัน ตอนนี้หมอก็เลยมีเป้าหมายอย่างนั้นค่ะ อีกอย่างเทรลได้อยู่กับธรรมชาติด้วยมันไม่น่าเบื่อดีค่ะ ปีหน้าก็ว่าถ้ามีโอกาสก็อยากไปวิ่งสัก 100 กิโลเมตร


• เป้าหมายในอนาคตคือ 100 กิโลเมตรเหรอคะ

ใช่ค่ะ แต่ก็มีหลายคนถามนะคะว่าทำไปเพื่ออะไรทำไมต้องวิ่ง ตรงนี้หมอว่าเป้าหมายของคนมันแตกต่างกัน ซึ่งของหมอ หมออยากเรียนรู้ความรู้สึก เราอยากเรียนรู้ในวันเวลาที่เรายังมีแรง เราอยากลองทำอะไรที่มันเกินขีดความสามารถของเราเพราะ 42 กิโลเมตรเราผ่านมาได้ อัลตร้ามาราธอน 50 กิโลเมตร เราก็ผ่านมาได้ 66 กิโลเมตรเทรลก็ยังผ่านมาได้ เพราะฉะนั้นเลยอยากลอง 100 กิโลเมตรดูบ้าง เพราะตอนนี้เราทำได้มากสุดคือ 66 กิโลเมตร เทรล แต่จะเป็นเทรลขึ้นลงๆ ตอนนั้นวิ่งที่เชียงใหม่ และต่างจังหวัด ซึ่งหมอจะวิ่งทั้งในไทยและต่างประเทศแล้วแต่ช่วงเวลา แล้วแต่งานที่เอื้ออำนวยค่ะ

อย่างในยุค 2-3 ปีที่ผ่านมา เพื่อนๆ หมอที่เขาวิ่งระยะ full marathon เยอะขึ้นนะคะ คนจะไปในระยะที่ยาวขึ้นเพื่อพิสูจน์ตัวเอง อาจจะพิสูจน์อะไรบางอย่างของตัวเอง ความสามารถของตัวเอง การข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ซึ่งคนพวกนี้จะมาเป็นคนไข้หมอเยอะมาก เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจเขาเราก็ต้องลองทำดู ต้องไปลองเหยียบในระยะ 100 กิโลเมตรก่อนสักที ต้องไปลองเหยียบในระยะที่คนอื่นเขาผ่านมา เพราะถ้าเราไม่เคยทำพูดอย่างเดียวมันไม่รู้สึกหรอก มันไม่อิน เหมือนคุณจะเป็นหมอกีฬาอะไรก็ตามแต่ถ้าคุณไม่ได้เล่นกีฬานั้นมาก่อน มันจะไม่มีทางอินเลย อย่างคนไข้มานั่งอยู่ตรงหน้าเขาก็จะเล่าให้เราฟังว่าเขาเจ็บตรงนี้ ตอนวิ่งขึ้นลงที่นี่ เขาวิ่งรายการนี้นะ พอเราฟังปุ๊บก็จะเข้าใจเลย เราไม่ต้องแปลแล้วเพราะเราจะตามเรื่องราวการวิ่งอยู่แล้วมันก็เลยจะง่ายขึ้นค่ะ

เป็นคุณหมอทางด้านเวชศสตร์ฟื้นฟูด้วย แบบนี้เอาความรู้ทางด้านนี้มาใช้ประโยชน์กับการวิ่งที่ทำอยู่อย่างไรบ้างคะ

หมอเป็นหมอทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู มีหน้าที่ดูแลคนไข้ที่อยู่ในกลุ่มของ อัมพฤกษ์ อัมพาต กระดูกหัก หรือว่าเป็นโรคของทางระบบประสาท โรคทางหัวใจ ที่ทำให้กล้ามเนื้อผิดปกติ อ่อนแรงลงไป เรามาฟื้นฟูคุณภาพชีวิตเขา จากคนที่เคยเดินได้แล้วอยู่ๆ มาเดินไม่ได้ เราก็จะคอยฟื้นฟู กายภาพบำบัด ซึ่งหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะทำงานร่วมกับนักกายภาพบำบัดเป็นทีม รวมถึงนักกิจกรรมบำบัดเป็นทีมเพื่อฟื้นฟูคนไข้ให้ครบด้าน ให้เขายกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง จากที่เขาเคยดีแล้วแย่ลงไป เราก็จะดึงเขากลับคืนมาให้ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยการตั้งเป้าระยะสั้น ระยะยาวของแต่ละท่าน กับโรคต่างๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งหมอทำตรงนี้มาได้ประมาณ 7 ปีแล้วค่ะ

ตอนนี้หมอก็ประจำอยู่ที่แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ก็จะรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องอาการปวดเป็นหลัก หรือพวกที่เป็นออฟฟิศซินโดรม หมอนกระดูกทับเส้นประสาทอะไรประมาณนี้ค่ะ

เราชอบวิ่ง และเป็นหมอทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูด้วย จบโทเวชศาสตร์ชะลอวัยด้วยเลยได้เอาทุกอย่างมาบวกกัน แล้วก็ออกมาในรูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเอง ซึ่งเราใช้ชีวิตตัวเรา เราก็จะต้องรักเต็มที่ ใช้ชีวิตให้มันสมาร์ทเต็มที่ หมอก็เลยอยากให้ไอเดียนี้แบ่งปันให้กับเพื่อน ซึ่งหมอไม่ได้อยากให้เพื่อนมาหาที่โรงพยาบาลหรอก การเป็นหมอเรารักษาระดับนึงแต่เราจะบอกเพื่อนๆ บอกทุกคนเสมอว่าถ้าเราดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ให้ทำไปเลย ส่วนใหญ่ข้อมูล คลิปต่างๆ ที่สื่อออกไปให้เพื่อนนักวิ่งจะเป็นคลิปที่เน้นการดูแลตัวเองทั้งหมด เมื่อไหร่ที่นอกเหนือจากนั้นที่คุณดูแลตัวเองแล้วไม่เวิร์ค คุณค่อยเข้ามาพบแพทย์ เราจะไม่ไปพยายามดึงเพื่อนมาเป็นคนไข้นะคะ เราอยากให้ไปเจอกันที่สนามวิ่งมากกว่า ให้ไปสนุกกันที่สนามจะวิ่งดีกว่า เจอกันที่สวนสาธารณะดีกว่า อันนี้คือเป้าหมายหมอนะคะ

เวลาไปวิ่ง หมอจะเอาความรู้ที่เราไปวิ่งทุกวันมาผสมผสานกับการชอบวิ่ง ทักษะการวิ่ง และปัญหาของการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับทั้งตัวเองกับทั้งเพื่อนๆ นักวิ่ง หมอก็เลยเกิดไอเดียว่ามันน่าจะมี รันนิ่งคลินิกนะที่อย่างน้อยเราจะได้ช่วยตอบคำถาม แก้ปัญหา แล้วก็รักษา เลยเริ่มต้นทำคลินิกนักวิ่งมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย แต่มันก็ไม่ใช่เกิดจากไอเดียของหมอแค่คนเดียวนะคะ แต่จะมีอาจารย์ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่ช่วยกันคิดว่าจะต้องมีคลินิกนี้ค่ะ

 คลินิกนักวิ่ง?

เบื้องต้นหมอรักษาคนไข้ในกลุ่ม Musculoskeletal Pain คือกลุ่มอาการปวดในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อเป็นหลัก นักวิ่งส่วนใหญ่ที่มาปรึกษาจะเป็นการบาดเจ็บจากการวิ่ง, มีปัญหาของกล้ามเนื้อ, เส้นเอ็น, กระดูก รวมถึงวิเคราะห์ท่าทางการวิ่ง

หมอจะวินิจฉัยให้การรักษาโดยการรักษาอาการอักเสบจากกล้ามเนื้อเกร็ง ยึด โดยการใช้เข็มคลายจุดกล้ามเนื้อที่เกร็ง (trigger point release) กายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น Ultrasound, Shockwave, Laser และ ความร้อน, เย็น, การออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อ, การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ รวมถึงปรับโปรแกรมให้กลับไปวิ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลัง

ถามว่าบาดเจ็บถึงขั้นไหนต้องมาหาหมอ บางคนเจ็บแล้วก็มาเลยนะคะ มาเลยก็เร็วดี หายเร็ว แต่ถ้าบางคนทิ้งเป็นปีๆ ก็จะเริ่มรักษายากแล้วนะ จะค่อนข้างที่จะใช้เวลานานกว่าปกติหน่อย แต่ก็สามารถหายเป็นปกติได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับอาการแต่ละคน

 อยากถามถึงความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการวิ่งหน่อยค่ะว่าการวิ่งที่ถูกวิธีต้องเป็นอย่างไร

การวิ่งเกิดจากการเรียนรู้ที่หมอสนใจ หมอจะชอบหาอ่าน ไปศึกษา อย่างท่าวิ่งมันไม่ได้มีท่าไหนที่ถูกต้องทั้งหมด ถ้าคุณวิ่งแล้วคุณไม่เจ็บในความรู้สึกหมอนะคือถ้าเมื่อไหร่ที่คุณวิ่งท่าไหนก็ตามแล้วคุณรู้สึกไม่เจ็บคุณวิ่งไปเถอะ แต่ถ้าคุณวิ่งแล้วเกิดการบาดเจ็บขึ้นมาคุณก็มาดูทีหลังว่าปัญหาเกิดจากอะไร อยู่ที่ท่าวิ่งไหม หรือปัญหาอยู่ที่กล้ามเนื้อของคุณ หรือปัญหาอยู่ที่รองเท้า หรือปัญหาอยู่ที่อะไร มันไม่มีสูตรตายตัวของคนไข้แต่ละคนที่เดินเข้ามา แต่ละคนก็วิ่งไม่เหมือนกันด้วย เราให้เขาขึ้นลู่วิ่งเทรดมิลแต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าเวลาเขาวิ่งนานๆ ตามสวน ตามงาน ท่าวิ่งเขาจะเปลี่ยนไปไหม การดูท่าวิ่งบนเทรดมิลก็ดูได้ระดับนึงแต่ถ้าวิ่งไปนานๆ ท่าวิ่งคุณจะเปลี่ยนเพราะการล้าของกล้ามเนื้อจะส่งผลกับท่าวิ่ง

ในยุคปัจจุบันปัญหาคนไทยจะเป็นกล้ามเนื้อยึด อักเสบ ออฟฟิศซินโดรมกันเยอะ จะพบได้ 30-40 เปอร์เซ็น เพราะฉะนั้นเวลานั่งทำงานนานๆ แล้วพยายามออกมาออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีนะคะ แต่พอมาออกกำลังกายแล้วการวิ่งมันเป็นการใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ แล้วถ้ายิ่งไปซ้อมมาราธอนวิ่งที่ 3 ชั่วโมง 4 ชั่วโมงเวลาซ้อม วิ่งจริง 5-6 ชั่วโมง การใช้กล้ามเนื้อก็จะซ้ำๆ ซึ่งส่วนใหญ่พี่ๆ น้องๆ นักวิ่งยังไม่เห็นถึงความสำคัญของการยืดเหยียดและการสร้างความแข็งแรงอย่างเต็มที่ บางคนมาถึงก็อยากจะวิ่ง อยากลงไปวิ่งอย่างเดียว ซึ่งหมอพยายามจะใส่ข้อมูลเข้าไปว่าต้องให้ความสำคัญกับการยืดเหยียด ต้องสร้างความแข็งแรง ต้องสร้างร่างกายอย่างไร เราก็จะบอกคอนเซ็ปต์กว้างๆ ว่าจะต้องทำยังไง ควรจะทำยังไง อันนี้คือก่อนและหลังการวิ่ง


เพราะเราวิ่งเราเลยรู้ว่าจะต้องทำอะไร หมอก็เคยเป็นเหมือนคนอื่นแหละที่อย่างวิ่งก็ไปวิ่ง วิ่งตะบี้ตะบันวิ่ง สุดท้ายก็รู้ว่า ถ้าเราวิ่งแล้วเราไม่ทำแบบนี้แบบนั้นนะร่างกายจะเกิด 1 2 3 4 ตามมา ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์จริงนะคะ ส่วนตัวหมอก็เคยบาดเจ็บจากการวิ่งเหมือนกัน บาดเจ็บมันมีอยู่แล้ว อย่างสนามไหนที่เราเร่งอยากทำเวลาก็จะบาดเจ็บ นักวิ่งมีบาดเจ็บอยู่แล้วค่ะ เพียงแต่ว่าถ้าเรารู้ว่าเราเร่งไปแล้วจะบาดเจ็บเราจะทำไหม อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย

แต่บางทีหมอก็ต้องเลือกนะคะว่าเราจะเป็นความคิดแบบคุณหมอหรือว่าจะเป็นความคิดของนักวิ่ง ถ้าเป็นความคิดนักวิ่งเราก็จะบอกว่าไม่ได้เราต้องอัดเต็มให้หมด แต่ถ้าเป็นความคิดคุณหมอเราก็จะไม่ทำเพราะอาจจะบาดเจ็บได้ แต่ถ้าเราเลือกความคิดคุณหมอเราอาจจะไม่เจ็บแต่พอเข้าเส้นชัยแล้วเราอาจจะมาคิดทีหลังว่ารู้อย่างงี้น่าจะทำให้เต็มที่ดีกว่า ก็แล้วแต่สถานการณ์ค่ะ (ยิ้ม)

 แล้วจุดเปลี่ยนของคุณหมอหลังจากที่หันมาวิ่งจริงจังเป็นอย่างไรบ้างคะ

จริงๆ การออกมาวิ่งมาราธอนมันก็เป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองอยู่แล้วเพราะรู้สึกว่าเราทำได้ หลายๆ อย่างที่ได้มาถ้าเป็นเรื่องของส่วนตัวเองคือเราสามารถเอาคุณพ่อ คุณแม่ น้องชาย แล้วก็คนในครอบครัวออกมาวิ่งได้หมด การที่เราทำให้เขาออกมาวิ่งกับเรา เราสามารถพาเขาไปเที่ยวที่ต่างๆ ได้ อันนั้นคือความสำเร็จส่วนตัว แต่ความสำเร็จของสังคมที่ได้ให้ไปก็คือ เราได้ช่วยให้คนไทยกลุ่มหนึ่งที่ชอบการวิ่ง รักการวิ่ง คุณภาพชีวิตดีขึ้นโดยไม่ต้องหาหมอ การหาหมอ 1 ครั้งในโรงพยาบาลเอกชนไม่ถูกนะคะ เพราะฉะนั้นการที่เขาออกมาวิ่งเพราะเขาอยากรักษาสุขภาพนั้นเราจึงอยากเป็นกำลังเสริมให้เขาในการดูแลสุขภาพ แต่ถ้าเขาเกินเยียวยาจริงๆ ก็ควรไปพบแพทย์ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมาหาหมอนะคะ ไปหาหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูคนอื่นๆ ก็ได้ทั้งนั้น หมอจะมีไอเดียในการรักษาคนไข้เหมือนกัน แต่ว่าหมอเองเป็นคนชอบวิ่งอยู่แล้วก็อาจจะเข้าใจคนไข้ได้มากขึ้น คุยกันได้ง่ายกว่าแค่นั้นเอง

อย่างในเรื่องสุขภาพจากที่หมอมาจริงจังก็เห็นผลลัพธ์นะคะว่าน้ำหนักลงไป 6-7 กิโลกรัม แข็งแรงขึ้น กระฉับกระเฉงมากขึ้น เฟิร์มขึ้น อันนี้ชัดเจนมากนะคะ ถ้าเทียบจากรูปแต่ก่อน (ยิ้ม)

 มีข้อแนะนำสำหรับนักวิ่งมือใหม่หรือคนที่อยากเริ่มต้นวิ่งอย่างไรบ้างคะ

หมอจะบอกว่าไม่ว่าอ้วนหรือผอมให้เริ่มจากเดินก่อน แต่งตัวให้สวย ใส่รองเท้าให้เหมือนว่าเราอยากออกกำลังกาย ออกมาเดินก่อน ยังไม่ต้องคิดว่าจะวิ่ง เดินให้ได้ 15 นาทีต่อเนื่อง ทำแบบนี้ 3 วันต่อสัปดาห์แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มเป็น 20 นาที จาก 3 วันต่อสัปดาห์ เป็น 4 วันต่อสัปดาห์ 5 วันต่อสัปดาห์ ทีนี้เราทำแบบนี้ได้ประมาณเดือนนึงแล้ว เราอาจจะเริ่มวิ่งสลับเดิน วิ่งหรือเดินสลับเดินเร็ว เดินธรรมดาอย่างเดือนที่แล้วทำสลับกับเดินเร็ว 1 นาที เดินเร็ว 1 นาทีเดินสลับกันไปเรื่อยๆ ดูนาฬิกาหมุนไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่เบื่อ ทำแบบนี้ได้สักอาทิตย์แล้ว เราก็มาเริ่มเดินสลับวิ่ง เดิน 1 นาที วิ่ง 1 นาที แล้วเราก็ค่อยๆ เพิ่มเวลา เพิ่มจาก 20 นาที เป็น 25 นาที เป็น 30 นาที ค่อยๆ เพิ่มไป แล้วเราก็ลดเวลาการเดินลงอาจจะเหลือแค่เดิน 30 วินาที วิ่ง 1 นาทีครึ่ง จนเราสามารถวิ่งได้ตลอด (ยิ้ม)

ดังนั้น ออกมาวิ่งเถอะค่ะ ถ้าเรามีสุขภาพแข็งแรง หมอจะบอกว่าการที่ครอบครัวหนึ่ง มีคนหนึ่งคนออกมาวิ่ง อย่างน้อย เขาแข็งแรง เขาชวนคนในครอบครัวออกมาวิ่งได้ ครอบครัวเขาก็จะแข็งแรงไปด้วย สังคมวิ่งเป็นสังคมน่ารัก เวลาที่คนออกมาวิ่งคุณอาจจะเคยซึมเศร้า ไม่มีเพื่อน ถ้าคุณได้ออกมาวิ่งรับรองว่าสังคมวิ่งน่ารักกว่าที่คุณคิด แล้วคุณจะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจถัดไปของคนอื่น วันนี้คุณอาจจะออกมาเริ่มวิ่งด้วยแรงบันดาลใจของใครบางคน เห็นพี่ตูน บอดี้สแลมแล้วอยากออกมาวิ่ง เห็นหมอแล้วอยากออกมาวิ่ง เห็นคนเคยอ้วนมากๆ แล้วเขาผอมก็อยากออกมาวิ่ง สักวันคุณก็จะได้เป็นแรงบันดาลใจต่อสิ่งนั้นให้กับคนอื่น ซึ่งทำแล้วดีทั้งกับตัวเอง ดีทั้งกับคนอื่นและดีทั้งกับสังคม

การแก้ไขเบื้องต้นจากการบาดเจ็บจากการวิ่ง

1.ใช้น้ำแข็ง ใช้ความเย็น อย่างถ้าไปงานวิ่งเราจะเห็นว่ามีบ่อน้ำเย็นให้ลงไปแช่กัน เพราะจะช่วยลดปวด ลดการอักเสบ ลดการบวม ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ คือการใช้ความเย็นมันได้ผลถึงสี่อย่างเลยนะคะ เพราะฉะนั้นเราควรทำให้เย็นให้เร็วที่สุด 20 นาทีจะลดการอักเสบต่างๆ มันจะลดการบาดเจ็บหลังจากนั้นไปได้

2.ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หลังจากเข้าเส้นชัยมา ให้เรายืดเหยียดกล้ามเนื้อให้มากขึ้น อย่างน้อยมาราธอน 4 ชั่วโมง เราก็ควรยืดเหยียดกล้ามเนื้อสัก 1 ชั่วโมง

3.โภชนาก็สำคัญ การกินเสริมกลับเข้าไปควรจะเน้นโปรตีน ผักผลไม้ เน้นพวกที่มีวิตามินต่างๆ เป็นการซ่อมแซมกล้ามเนื้อได้ ซึ่งหลักการเบื้องต้นที่นักวิ่งหลายคนน่าจะพอรู้กันอยู่แล้ว แต่คนวิ่งใหม่ๆ ถ้ายังไม่รู้ก็ค่อยๆ หาข้อมูล ค่อยๆ ศึกษากันไป มันสำคัญทั้งก่อนวิ่ง ระหว่างวิ่งและหลังวิ่งเลยนะคะ

4.การเลือกรองเท้า อันนี้ต้องดูว่าเลือกรองเท้าสำหรับใคร ถ้าเลือกรองเท้าสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นออกกำลังกายเอาอะไรก็ได้ที่คุณชอบ คุณมองว่ามันสวย ชอบอยากใส่ แล้วรู้สึกว่ามันทำให้เราอยากออกไปวิ่งก็ซื้อเถอะ แต่ขอให้เป็นรองเท้าที่มันซัพพอร์ตพอสมควร แล้วก็เริ่มออกไปทำ จริงๆ มันอยู่ที่แค่ว่าเริ่มออกไปทำนะคะ เริ่มจากที่ละก้าว ทีละน้อยบ่อยๆ ซ้ำๆ จนกลายเป็นกิจวัตรของเรา มันก็จะอยู่ในชีวิตของเรา

สำหรับคนที่อยากเลือกรองเท้าสำหรับแบบอื่นต้องอยู่ที่ว่าคุณอยากวิ่งแบบไหน ลักษณะเท้าเป็นแบบไหน มันจะมีรองเท้าหลายๆ รูปแบบ รองเท้าที่เป็นแบฟุตแบบที่เป็นนิ้วๆ คล้ายๆ รองเท้าแตะเป็นแผ่นๆ หรือว่าเป็นแบบหน้าหลังเท่ากันมันก็จะเป็นรูปแบบการลงน้ำหนักเท้าซึ่งต่างกัน บางคนเท้าแบก็ไปซื้อแบบซัพพอร์ตหน่อย แล้วแต่สถานการณ์เลย แต่ถ้าให้หมอเลือกก็จะเลือกที่เราชอบ ใส่สบาย หน้าเท้ากว้างหน่อย อย่างคนหน้าเท้ากว้างก็ต้องเลือกที่หน้าเท้ากว้าง ใส่สบาย หน้าเท้าแคบๆ ก็อย่าไปเลือก การเลือกรองเท้าก็มีส่วนสำคัญเพราะถ้าเลือกดี เข้ากับเรา ก็ทำให้ลดการบาดเจ็บตามมาได้
ภาพโดย : Atipan Khantalee
ภาพโดย : อภิเทพ วิจิตรประภาพงษ์
ภาพโดย : อภิเทพ วิจิตรประภาพงษ์
ภาพโดย : น้าเด่น นิวัฒน์ มหาไชยสิทธิ์
ภาพโดย : น้าเด่น นิวัฒน์ มหาไชยสิทธิ์
คลินิกนักวิ่ง ทุกวันศุกร์ 9.00-17.00 น. วันเสาร์ 9.00-12.00 สามารถโทรสอบถามวันเวลานัดและอื่นๆ ได้ที่ 02-2029999

เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี

กำลังโหลดความคิดเห็น