xs
xsm
sm
md
lg

“บำรุงราษฎร์” ผ่าตัดหัวใจฟรี! เพื่อเด็กน้อยด้อยโอกาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์สานต่อโครงการ “รักษ์ใจไทย” ผ่าตัดโรคหัวใจในเด็กด้อยโอกาสโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หลังทำอย่างต่อเนื่องมาแล้วกว่า 13 ปี ส่งเด็กหัวใจสมบูรณ์สู่สังคมแล้ว กว่า 735 ราย

จากสถิติของประเทศไทย พบว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดประมาณ 8,000 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 4,000 คน ต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ รวมถึงการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหัวใจ ตามระดับและความรุนแรงของอาการของแต่ละคน มิเช่นนั้นเด็กอาจจะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรืออาการหนักขึ้นตามอาการของโรค หรือมีร่างกายไม่สมบูรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนี้จะมีฐานะครอบครัวที่ยากจน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันโครงการหลักประกันสุขภาพของรัฐบาลจะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสรับการผ่าตัดมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านจำนวนผู้ป่วยเด็กที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ในแต่ละปี จึงทำให้ยังมีเด็กที่ป่วยรอรับการผ่าตัดอยู่อีกเป็นจำนวนมากและมีจำนวนสะสมมากขึ้นในแต่ละปี

มูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคม โดยใช้ความพร้อมของคณะแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะในกรณีของอาการที่มีความซับซ้อน บวกกับเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ประกอบกับการเป็นศูนย์รับย้ายผู้ป่วยโรคหัวใจที่สำคัญของภูมิภาค จึงได้ริเริ่มโครงการ “รักษ์ใจไทย” ขึ้น เพื่อช่วยผ่าตัดหัวใจแก่ผู้ป่วยเด็กด้วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือโรคลิ้นหัวใจรั่ว ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีฐานะยากจนหรือไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่จำเป็นนี้ได้

นายแพทย์ นำ ตันธุวนิตย์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “หนึ่งในแนวคิดและพันธกิจหลักที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยึดมั่นตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือการมีส่วนร่วมในการตอบแทนสู่สังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้ความสามารถ ศักยภาพ และทรัพยากรที่โรงพยาบาลมีอยู่ ทางโรงพยาบาล จึงได้ริเริ่มและสานต่อโครงการด้านสาธารณสุข และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยหนึ่งในนั้นคือ การผ่าตัดหัวใจให้แก่เด็กด้อยโอกาสที่ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้โครงการ “รักษ์ใจไทย” ด้วยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และมูลนิธิเด็กโรคหัวใจในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2546 และได้ทำการผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กไปแล้วกว่า 735 ราย โดยการผนึกกำลังของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาและด้านโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ประกอบด้วย ศ. พญ. อรดี จันทวสุ - กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิดแพทย์ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ รศ. นพ. สัมพันธ์ พรวิลาวัณย์ - ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก นพ. ปรีชา เลาหคุณากร - กุมารเวชแพทย์โรคหัวใจเด็ก และ ผศ. พญ. ธรรมบวร เนติ - วิสัญญีแพทย์ รวมถึงคณะพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ โภชนากรเฉพาะทางและเภสัชกรที่ทำงานร่วมกับแพทย์อย่างใกล้ชิด” ทั้งนี้ เนื่องจากโรคหัวใจพิการในเด็กเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง และการทำงานร่วมกันของบุคลากรอย่างเป็นระบบ

นายแพทย์ นำ กล่าวต่อไปว่า “ทางมูลนิธิโรคหัวใจเด็ก จะเป็นผู้คัดกรองเด็กด้อยโอกาสเพื่อเข้ารับการรักษา และทำการส่งตัวให้กับโรงพยาบาล ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ที่ทรงรับโครงการไว้ในพระอุปถัมภ์ ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระชนม์ชีพ ทำให้เด็กไทยเป็นจำนวนมากได้รับการช่วยเหลือ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ต่อไป

สำหรับในส่วนของคนไข้ที่ผ่านการคัดกรอง และรับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทางโรงพยาบาล จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย นับตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยอาการ การผ่าตัด การพักฟื้นในโรงพยาบาล ค่ายา และเวชภัณฑ์ ค่าห้องพัก ค่าอาหาร ตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และตลอดจนการดูแลในเรื่องการเดินทาง ที่พัก และอาหารของครอบครัวของผู้ป่ว

นายแพทย์ ปรีชา เลาหคุณากร กุมารเวชแพทย์โรคหัวใจเด็ก กล่าวว่า “มีหลายสาเหตุของเด็กที่เป็นโรคหัวใจ ทั้งจากพันธุกรรม หรือสภาพแวดล้อมระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์ เช่น สุขภาพของแม่ หากเป็นเบาหวานและคุมน้ำตาลไม่ดี เด็กในครรภ์ก็มีสิทธิ์เป็นโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการดื่มสุรา สูบบุหรี่ และหากเจ็บป่วยขณะแรกเริ่มตั้งครรภ์ องค์ประกอบเหล่านี้ก็อาจทำให้เด็กป่วยเป็นโรคหัวใจได้ อย่างไรก็ตาม อาการของโรคหัวใจในเด็กจะมีหลายชนิด บางส่วนป่วยแต่ไม่มีอาการ กระทั่งต้องมาตรวจร่างกายจึงจะพบ แต่หากเด็กที่มีอาการรุนแรงอาการจะแสดงนับจากวันที่เกิด เช่น สีของตัวเด็กเปลี่ยนจากปกติ เป็นสีเขียว หรือความดันตก มีอาการหอบหืด เป็นต้

นายแพทย์ ปรีชา กล่าวเสริมว่า “เด็กที่มีอาการรุนแรงก็ไม่สามารถจะรอคิวผ่าตัดได้ เพราะอาการโรคหัวใจ หากรุนแรงถึงขั้นหนึ่งจะไม่สามารถรักษาได้อีกแล้ว และจะต้องเสียชีวิตเพราะแพทย์เองก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้จะน่าสงสารมากที่ต้องหมดโอกาสทางการรักษา ดังนั้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เข้าไปช่วยเหลือก็ทำให้โอกาสรอดของเด็กมีมากขึ้น และเป็นอีกช่องทางของการรักษาที่ช่วยเหลือเด็กในสังคม ทั้งนี้เรายึดมั่นว่า เด็กไม่ว่าจะรวยหรือจนเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกันทุกคน และหากเด็กได้รับการผ่าตัดได้เร็ว โอกาสรอดของเด็กมีมากขึ้น และเป็นอีกช่องทางของการรักษาที่ช่วยเหลือเด็กในสังคม เพราะเด็กคือทรัพยากรสำคัญที่จะพัฒนาประเทศชาติได้ในอนาคต”

ขณะที่นายแพทย์ นำ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าในปัจจุบันโครงการหลักประกันสุขภาพของรัฐบาลจะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสรับการผ่าตัดมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านจำนวนผู้ป่วยเด็กที่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ในแต่ละปี จึงทำให้ยังมีเด็กที่ป่วยรอรับการผ่าตัดอยู่อีกเป็นจำนวนมากและมีจำนวนสะสมมากขึ้นในแต่ละปี ด้วยเหตุผลนี้ มูลนิธิโรงพยาบาล และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กให้มากที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และตั้งใจว่าจะทำต่อไปในอนาคตตราบใดที่ยังมีหลายภาคส่วนให้การสนับสนุนโครงการนี้อยู่”

เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปีของการก่อตั้งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในปีนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงได้จัดทำภาพยนตร์สั้น“หัวใจต้องสู้” เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับโรคหัวใจพิการในเด็ก และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสผู้เป็นหัวใจพิการแต่กำเนิดในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งคืนเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงกลับสู่ชุมชน

นอกเหนือจากการช่วยเหลือเด็กยากไร้ในประเทศไทยแล้ว โครงการ “รักษ์ใจไทย” ยังได้ขยายความร่วมมือด้านสุขภาพแก่ผู้ด้อยโอกาสไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศเมียนมาร์ ในปี พ.ศ. 2555 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา และการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการทางการแพทย์ระหว่างสองประเทศ และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมานี้ เรายังได้ขยายความช่วยเหลือไปยังประเทศเวียดนาม เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนาม โดยส่งคณะแพทย์ไปตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดผู้ด้วยโอกาส เพื่อเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559

นอกเหนือจากโครงการดังกล่าวแล้ว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังมีอีกหลายโครงการที่มีส่วนร่วมตอบแทนสิ่งดีๆ กลับคืนสู่สังคม และการพัฒนาสุขภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยได้จัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมใช้ความสามารถ ศักยภาพ และทรัพยากรที่โรงพยาบาลมีอยู่ช่วยเหลือสังคมผ่านโครงการต่างๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อาทิ การจัดตั้งโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อรักษาผู้ป่วยทั้งในเขตกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด และต่างประเทศ โครงการช่วยผ่าตัดเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โครงการปลูกถ่ายไต รวมถึงโครงการผ่าตัดข้อเข่าเทียมฯ ในครั้งนี้ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 และได้ทำการผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยสูงอายุไปแล้ว 38 ราย ทั้งหมดนี้ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เราสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 36 ปี ซึ่งสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วกว่า 100,000 ราย
ทั้งนี้ หากผู้สนใจสมทบทุนช่วยเหลือเด็กที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และแจ้งความจำนงบริจาคเงินช่วยเหลือได้ที่ 02 667 2000

กำลังโหลดความคิดเห็น