xs
xsm
sm
md
lg

สรรพคุณหลายหลาก ทั้งราก ดอก ใบ “มะลิ” ดอกไม้รักษาโรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นอกจากเป็นดอกไม้ตัวแทนความบริสุทธิ์ผุดผ่องสัญลักษณ์ความรักใน “วันแม่” และใช้สื่อแทนความหมายถึง การเคารพบูชา การขอขมา หรือการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ฯลฯ ที่มักนิยมใช้ในช่วงประเพณีวันสงกรานต์เทศกาลปีใหม่ไทยแล้ว
ภาพประกอบ www.ryt9.com และ www.trueplookpanya.com
รู้หรือไม่ว่า... “ดอกมะลิ” นั้นยังมีคุณประโยชน์อีกนานัปการ ซึ่งในตำรายาไทยจัดให้อยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5 (เบญจเกสร) พิกัดเกสรทั้ง7(สัตตเกสร) และพิกัดเกสรทั้ง9 (เนาวเกสร) และนอกจากนี้ในส่วนของ "ใบ" และ "ราก" ก็ยังมีสรรพคุณทางยาสามารรักษาบำบัดอาการบาดเจ็บได้เหมือนกันอีกด้วย

ได้ยินอย่างนี้แล้ว เรามาดูกันเลยดีกว่าว่า “ดอกมะลิ” ที่เราใช้ลอยบนผิวน้ำอบน้ำหอมไปกราบรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ คุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บุคคลอันเป็นที่รัก มีคุณประโยชน์ประการใดบ้าง
ภาพประกอบ www.share.psu.ac.th
กล่าวคือ “ดอก” ของมะลินั้น นอกจากความหอมชื่นที่ช่วยทำให้จิตใจสงบและรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่งทุกครั้งที่ได้กลิ่น คนโบราณนิยมนำดอกมะลิมาลอยในขันน้ำหรือใส่ในขนมของหวานรับประทานนั้น เพราะนอกจากจะช่วยให้สดชื่นแล้วหากเรานำดอกมะลิมาต้มดื่มในน้ำร้อน ดอกมะลิยังมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อ แก้ไข้หวัด ทำให้กระชุ่มกระชวย แก้โรคบิด อาการปวดท้อง บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต โดยวิธีการคือนำดอกมะลิ 1กำมือ หรือ 1.5 - 3กรัม ต้มให้พอเดือดดื่ม เช้า-เย็น และน้ำที่ต้มดอกมะลิจนเดือดยังสามารถนำมาล้างตาแก้เยื่อตาขาวอักเสบ อาการตาแดง เจ็บตา ได้อีกด้วย

หรือหากนำดอกมะลิสดมาตำให้ละเอียดยังสามารถรักษาแผลผุผอง แผลเรื้อรัง ฝีหนอง ผดผื่นคัน แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย หยุดการหลั่งของน้ำนม ถ้านำมาพอกบริเวณขมับสามารถช่วยแก้อาการปวดหัว บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ หรือจะผสมใส่พิมเสน ใช้สุมหัวเด็กแก้ไข้หวัด แก้ตัวร้อนเป็นอย่างดี
ภาพประกอบ www.indycheese.blogspot.com
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรต้องมั่นใจว่า “ดอกมะลิ” นั้นผ่านการล้างสะอาดเรียบร้อยและปราศจากสารเคมียาฆ่าแมลง เช่นเดียวกับ “ใบ” ที่มีสรรพคุณตัวยาคล้ายๆ ส่วนของ “ดอก” คือ สามารถใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย โดยการต้มด้วยใบสด 3 - 6 กรัม รับประทาน เช้า-เย็น นอกจากนี้ยังช่วยขับน้ำนมสตรี บำรุงสายตา และหากนำมาตำให้ละเอียดละลายกับน้ำปูนใส หรือน้ำมันมะพร้าว นำไปรนไฟ ใช้แต้มรักษาอาการฝีพุพอง แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง ฟกช้ำ สมานแผลสด ลบรอยแผลเป็น ให้หายไวขึ้น

สุดท้ายในส่วนของ “ราก” มะลิ หากนำรากแห้งมาฝนหรือต้มในปริมาณ 1 - 1.5 กรัม กับน้ำร้อนรับประทาน จะช่วยแก้อาการฟกช้ำ นอนไม่หลับ เคล็ดขัดยอก โรคเลือดออกตามไรฟัน รักษาหลอดลมอักเสบ ช่วยขับประจำเดือน ใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก แก้หอบหืด แก้ปวดศีรษะ หรือหากนำมาตำให้ละเอียดผสมกับสุราจนร้อน สามารถช่วยแก้อาการปวดฟัน หรือนำไปพอกบริเวณฟกช้ำหรือเคล็ดขัดยอก บรรเทาอาการเจ็บได้เช่นเดียวกัน
ข้อมูลบางส่วนจาก www.gotoknow.org และ www.frynn.com
กำลังโหลดความคิดเห็น