เมื่อเกิดประเด็นเรื่องการ Woke ในวิดีโอเกม ชื่อหนึ่งที่มักจะได้ยินตามมาก็คือ "Sweet Baby Inc." ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าบริษัทนี้ทำเกี่ยวกับอะไร เข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการเกมได้ยังไง แล้วทำไมค่ายเกมจะต้องยอมให้พวกเขามายุ่งกับเกมของตัวเอง บทความนี้มีคำตอบ
ก่อนที่จะไปรู้จักกับ "Sweet Baby Inc." ต้องอธิบายความหมายของคำว่า Woke ซึ่งหมายถึงการ "ตื่นรู้" หรือ "ตระหนักรู้" ถึงความไม่เท่าเทียม การกดขี่ และความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดผิว เชื้อชาติ หรือเพศ โดยคำนี้ได้เริ่มรับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นตัวทางสังคมและการต่อต้านความอยุติธรรมในรูปแบบต่าง ๆ
สำหรับ "Sweet Baby Inc." คือสตูดิโอพัฒนาและให้คำปรึกษาด้านการเล่าเรื่อง ตั้งอยู่ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดย Kim Belair อดีตนักพัฒนาและนักเขียนบทของ Ubisoft ร่วมกับผู้จัดการผลิตภัณฑ์ David Bedard โดยมีพันธกิจหลักคือให้คำปรึกษาด้านเรื่องราวในวิดีโอเกม เพื่อส่งเสริมความหลากหลาย (Diversity), ความเท่าเทียม (Equity) และการมีส่วนร่วมต่อสังคม (Inclusion ) ในเรื่องราวของเกม รวมถึงการทำงานในสตูดิโอพัฒนาเกม เพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีภายในองค์กร
ถ้าอ่านตามพันธกิจของบริษัทก็ดูจะเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่ทว่าผลงานที่ออกมากลับไม่ได้เช่นนั้น เพราะเกมที่ Sweet Baby Inc. เข้าไปมีส่วนร่วม ล้วนแต่สร้างความหงุดหงิดให้กับเหล่าเกมเมอร์ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนสีผิวของตัวละคร Angrboda ในเกม God of War Ragnarok, เปลี่ยนสีผิวและปรับแก้ภูมิหลังของตัวละคร Saga Anderson ตัวเอก Alan Wake 2, เขียนบทพากย์ บทสนทนาของตัวละคร NPC และแทรกธง Pride Month ในเกม Suicide Squad: Kill the Justice League, เขียนสคริปต์เนื้อเรื่องในเกม Marvel's Spider-Man 2 รวมถึงอีกหลายเกมที่ Sweet Baby Inc. เข้าไปยุ่มย่าม จนทำให้ภาพลักษ์ของตัวละครหรือเนื้อเรื่องของเกมผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ส่งผลไปถึงเสียงวิจารณ์ ยอดขาย และกระแสต่อต้านจากเหล่าเกมเมอร์จำนวนมาก จนเกิดกลุ่มที่เรียกว่า "Sweet Baby inc Detected" บน Steam เพื่อร่วมกันแบนเกมที่ Sweet Baby Inc. มีส่วนร่วม
แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้าน แถมยังต้องเสียเงินค่าให้คำปรึกษาเป็นจำนวนหลักล้านเหรียญฯ แต่ก็ยังมีบริษัทเกมที่จำเป็นจะต้องสร้างเกมในแนวทาง Woke เหตุผลหนึ่งคือต้องการเงินลงทุนจาก Vanguard และ Blackrock สองบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเงินและการลงทุนของสหรัฐอเมริกา ผ่านการประเมินคะแนน DEI (Diversity, Equity, Inclusion) หรือการส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมต่อสังคม และ ESG (Environmental, Social, Governance) หรือการพัฒนาองค์กรแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ซึ่งบริษัทที่มีคะแนน DEI และ ESG สูง ก็จะมีโอกาสได้รับเงินลงทุนมหาศาลจากบริษัทการเงินระดับโลก จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่บริษัทเกมจะหันมาใช้บริการ Sweet Baby Inc. เพื่อให้เกมและองค์กรของตนผ่านการประเมินดังกล่าว
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีจากชุมชนชาว Woke และสื่อ ว่าตัวเกมขาดความหลากหลาย ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเกม "Hogwarts Legacy" ที่ปฏิเสธการร่วมงานกับ Sweet Baby Inc. จนเกิดดราม่าและถูกสื่อจำนวนหนึ่งบอยคอตไม่ช่วยโปรโมตเกม หรือกรณีเกม "Black Myth: Wukong" ที่ไม่ยอมรับข้อเสนอของ Sweet Baby Inc. จนถูกสื่อโจมตีเรื่องการเหยียดเพศของทีมพัฒนาภายในบริษัท (อ่านข่าว "วิบากกรรม Black Myth: Wukong ถูกโจมตีเรื่องเหยียดเพศ เหตุปัดข้อเสนอ Sweet Baby Inc.")
จุดเริ่มต้นของ Woke คือการสร้างความตระหนักรู้ถึงความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและน่าชื่นชมที่องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่การใส่ความ Woke เข้ามาในสื่อบันเทิง เช่น เกม หรือภาพยนตร์ โดยขาดชั้นเชิงในการนำเสนอหรือทำให้ผู้เสพสื่อเกิดความรู้สึกร่วม ความ Woke นั้นก็จะเป็นเพียงแค่การยัดเยียด ที่มีแต่ทำให้ผู้เสพสื่อเกิดความรู้สึกต่อต้านเท่านั้น สิ่งที่ผู้สร้างผลงานทั้งหลายควรทำคือทำความเข้าใจในผลงานและสิ่งที่ตนเองต้องการนำเสนอ และอย่าฝืนใส่ความ Woke ที่ผิดธรรมชาติ ผลงานเหล่านั้นก็จะได้รับการยอมรับในคุณค่าของตัวผลงานเอง
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับข่าวสารวงการเกมครับ*