xs
xsm
sm
md
lg

Review: "เพลย์สเตชัน วีอาร์" เปิดโลกทัศน์ใหม่แห่งการเล่นเกม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประเภท Virtual Reality Headset
ค่ายผู้ผลิต: บริษัทโซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอนเตอร์เทนเมนท์
ใช้ได้กับ: PS4

อุปกรณ์สวมหัวตัวใหม่จากโซนี่ ที่จะนำพาคุณตัดขาดจากโลกความเป็นจริง เพื่อทะยานดำดิ่งถลำลึกเข้าสู่โลกวีอาร์อันน่าตื่นตะลึง ซึ่งทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ พร้อมกับค้นพบสัจธรรมที่ว่า "ความไม่วิงเวียน" คือลาภอันประเสริฐ

หลังปล่อยให้ผู้เล่นฝั่งพีซีได้สนุกเริงร่ากันไปก่อนหน้า ในที่สุดเทคโนโลยีเสมือนจริงเวอร์ชวลเรียลลิตี้ หรือที่เรานิยมเรียกกันติดปากว่า "วีอาร์" ก็มาถึงมือเหล่าเกมเมอร์ฝั่งคอนโซลกันเสียที กับเจ้า "เพลย์สเตชัน วีอาร์" (PlayStation VR) อุปกรณ์หน้าจอแสดงผลแบบสวมศีรษะของบริษัทโซนี่ ที่บังเอิญได้ฤกษ์ออกวางจำหน่ายตรงกับช่วงเวลาอันแสนเศร้าสลดของมวลมหาชนชาวสยาม เมื่อวันพฤหัสบดี 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องขอบคุณบริษัท โซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ ฮ่องกง สาขาสิงคโปร์ (หรือ SIES) ที่เอื้อเฟื้ออนุเคราะห์อุปกรณ์ชิ้นใหม่ล่าสุดนี้มาให้ทีมงานผู้จัดการเกมได้ทำการวิเคราะห์เจาะลึก แต่ก่อนอื่นเราขอเท้าความกันสักเล็กน้อยเผื่อคนที่ยังไม่รู้จักแว่นวีอาร์

จุดกำเนิดของ "เพลย์สเตชัน วีอาร์"
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยี VR ได้กลายเป็นกระแสที่มาแรงในปัจจุบัน ไม่ว่าหันหรือมองไปทางไหน ก็มักได้ยินแต่คนพูดถึง "วีอาร์" ด้วยนวัตกรรมอันสุดล้ำที่มาแปรเปลี่ยนวิธีการนั่งเล่นเกมผ่านหน้าจอทีวีแบบเดิมๆให้ก้าวข้ามเหนือขึ้นไปอีกขั้น เสมือนตัวเราหลุดเข้าไปอยู่ในโลกเกมจริงๆ ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีก็มีหลายบริษัทที่ให้ความสนใจในตลาดวีอาร์ และแข่งขันกันนำเสนอแว่นวีอาร์ในแบบฉบับของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น Oculus Rift หรือ HTC Vive จนกระทั่งมาถึง PlayStation VR ที่แม้ว่าจะออกตามหลังช้าสุดกว่าใครเพื่อน แต่ในความเป็นจริง ทางบริษัทโซนี่ ได้มีการริเริ่มปูแผนรองรับเทคโนโลยีวีอาร์ มาตั้งแต่สมัยจอยมูฟของเครื่องเพลย์สเตชัน 3 แล้ว และเพิ่งมาโฟกัสพัฒนากันจริงจังในยุคเพลย์สเตชัน 4 ภายใต้ชื่อรหัสโค้ดเนม "โครงการมอร์ฟีอุส" (Project Morpheus) จนสุดท้ายได้กลายมาเป็น "เพลย์สเตชัน วีอาร์" ดังที่เห็นกันในทุกวันนี้

อุปกรณ์ภายใน และความสะดวกสบายในการใช้งาน
สำหรับกล่องแพคเกจที่ตัวแทนจำหน่ายส่งมาให้รีวิว ดูจากภายนอกมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร แต่กลับรู้สึกแปลกใจที่มันไม่หนักอย่างที่คิด ด้วยตัวแว่นเพียวๆที่หนักไม่ถึงกิโลฯ (ประมาณ 610 กรัม) จึงทำให้สามารถใช้แขนข้างเดียวหนีบยกขึ้นแนบกับลำตัวเดินหิ้วไปไหนมาไหนได้สบาย ส่วนอุปกรณ์ที่แถมมาให้ภายในกล่องก็เยอะจนตาลาย โดยเฉพาะเหล่าสายเสียบเชื่อมต่อทั้งหลาย ทั้งสายไฟ, สาย HDMI, สายเคเบิลต่อพ่วงยิบย่อยต่างๆนานา นี่ถ้าหากไม่มีหนังสือคู่มือภาพประกอบ กับป้ายตัวเลขเขียนกำกับแปะตามสายเอาไว้ให้ คงมีลมจับลงไปนอนแดดิ้นกับพื้น
คลิกดูวิธีการใช้งาน "เพลย์สเตชัน วีอาร์" จากโซนี่
หลังจากเสียเวลาค่อนวันไปกับการติดตั้ง ก็ถึงเวลาสำคัญในการหยิบนำแว่น "เพลย์สเตชัน วีอาร์" ออกจากกล่องขึ้นมาใช้งานจริงเสียที ซึ่งครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับตัวแว่น บอกเลยว่ามันให้ความรู้สึกที่ดีมากฟินสุดๆ ด้วยเนื้อวัสดุที่มีความนุ่มนิ่มยืดหยุ่นสูง ภายนอกเป็นพลาสติกแข็งแรงทนทาน ภายในบุด้วยวัสดุอ่อนนุ่มคล้ายเบาะพนักพิง ส่วนบริเวณเลนส์จะติดกรอบโฟมบางเบาเอาไว้ครอบดวงตาเพื่อกั้นแสงจากภายนอก โดยวิธีสวมใส่ก็แสนง่ายดาย เพียงแค่กดปุ่มบริเวณด้านหลังเพื่อยืดสายออก แล้วปล่อยมือเมื่อสวมเสร็จ สายรัดก็จะหดแนบชิดสนิทพอดีกับทุกขนาดศีรษะของผู้สวมใส่โดยอัตโนมัติ อีกทั้งคนสายตาสั้นก็ยังสามารถสวมใส่มันทับแว่นตาของตนได้ตามปกติ แต่อยากแนะนำนิดนึงสำหรับคนผมยาว ที่อาจจำเป็นต้องหาอะไรมามัดเผ้าผม เพื่อไม่ให้เส้นผมลงมาบดบัง หรือทิ่มแยงตาสร้างความรำคาญในระหว่างการเล่น

เกมที่รองรับ และความประทับใจหลังสัมผัส
ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบัน มีทีมพัฒนาหลากหลายค่าย แห่ผลิตเกมออกมาป้อนต้อนรับแว่น "เพลย์สเตชัน วีอาร์" ในวันเปิดขายรวมๆแล้วกว่า 30 ไตเติ้ล ทั้งที่เป็นมินิเกมเล็กๆราคาถูกไม่ถึงหลักพัน ไปจนถึงเกมฟอร์มใหญ่ที่ตั้งขายในราคาเท่าแผ่นเกมปกติ ซึ่งหากใครยังลังเลตัดสินใจเลือกไม่ถูกว่าจะซื้อเกมไหนมาเล่นดี ทางโซนี่ ก็ได้เตรียมทางออกเอาไว้ให้ด้วยแผ่น "PlayStation VR Demo Disc" (สามารถดาวน์โหลดฟรีได้จากเพลย์สเตชัน สโตร์) ที่ภายในบรรจุรวบรวมเอาตัวอย่างเดโมเกมวีอาร์เด่นๆดังๆ จำนวน 18 ไตเติ้ล มาเป็นน้ำจิ้มให้ได้ชิมลางลิ้มลองกันก่อน ซึ่งเกมเด็ดที่เราคิดว่าน่าสนใจ และเล่นได้จริง ไม่ใช่มาเพียงแค่ภาพปกให้กดซื้อ ก็เห็นจะมี

Ocean Descent - มินิเกมดำดิ่งสำรวจโลกใต้ท้องทะเล ที่จับผู้เล่นใส่กรงเหล็กแล้วหย่อนลงไปในน้ำ โดยเปิดโอกาสให้เราอิ่มเอมกับภาพบรรยากาศวิวทิวทัศน์โลกบาดาลในแบบรอบทิศ 360 องศา มองซ้ายเจอฝูงปลา มองขวาเจอปะการัง อีกทั้งในเกมเวอร์ชันเต็ม อาจมีฉลามโผล่มาให้ลุ้นระทึกราวกับอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง "จอวส์"

London Heist - เกมชูตติ้งยิงกราดที่หลายคนรอคอย ซึ่งจะว่าไปแนวการเล่นสไตล์ยิงดะแบบนี้คงเหมาะเหม็งลงตัวที่สุดแล้วกับแว่นวีอาร์ โดยถึงแม้ตัวอย่างเดโมที่นำมาให้ทดลองเล่นกันจะเป็นเพียงแค่โหมด Practice เอาไว้ฝึกฝนการบังคับเล็งยิงเป้าเท่านั้น แต่กลับทำให้ตัวผู้รีวิวรู้สึกชื่นชอบติดอกติดใจเป็นพิเศษ ด้วยระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวอันแสนแม่นยำ ไม่ว่าจะใช้จอยมูฟ หรือดูอัลช็อคโฟร์ และความสมจริงแบบจัดเต็ม ทั้งภาพ-เสียง-เอฟเฟกต์

Driveclub VR - เกมแข่งรถของสตูดิโอที่โดนสั่งปิด ที่หวนกลับมาใหม่อีกครั้งในรูปแบบวีอาร์ และแน่นอนว่าความสมจริงภายในห้องคนขับจะถูกยกเครื่องอัปเกรดไปอีกขั้น ด้วยมุมมองแบบ 360 องศาที่หมุนตามศีรษะของผู้เล่น ซึ่งต่อจากนี้ไปเราไม่จำเป็นต้องเสียสมาธิคอยกดปุ่มเพื่อมองรถคันข้างหลังที่ไล่ตามมาอีกต่อไปแล้ว เพราะเราสามารถแหงนหน้าดูผ่านกระจกมองหลังแทน หรือกวาดสายตามองทุกสิ่งอย่างที่อยู่รอบตัวได้ ในขณะที่มือของเรายังบังคับรถอยู่เหมือนเวลาขับขี่ในชีวิตจริง

Headmaster - อีกหนึ่งเกมที่อยากแนะนำ และน่ายกนิ้วให้ เพราะเป็นเกมที่ใช้ประโยชน์จากระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของศีรษะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเกมนี้จะมาทดสอบทักษะความสามารถในเกมกีฬาฟุตบอลของเรา โดยเฉพาะในเรื่องของการโหม่งทำประตู ซึ่งต้องขอชมเชยว่าระบบฟิสิกส์ภายในเกมนั้นทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม สามารถจำลองวิถีและความพุ่งแรงของลูกบอลได้ถูกต้องตรงเป๊ะตามมุมองศาที่ตกกระทบ ไม่ว่าจะโหม่งตรง โหม่งเสย โหม่งเช็ด โหม่งสะบัด หรือแม้แต่ท่าพุ่งตอร์ปิโดบก ก็สามารถงัดออกมาใช้ได้ (หากไม่กลัวคางแตก)

Mortal Blitz - เกมยิงม้ามืดที่หลายคนอาจมองข้าม เนื่องจากไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน และเป็นเกมเล็กๆจากสตูดิโอโนเนมสัญชาติเกาหลี แต่สาเหตุที่เราต้องคัดเลือกมันมานำเสนอนั้น ก็เพราะอารมณ์ความมันส์สะใจในสไตล์ชูตติ้งอาร์เขตที่ชวนให้นึกถึงตำนานซีรีส์เกมตู้ไลท์กันอย่าง Time Crisis โดยจอยมูฟที่เราถืออยู่จะใช้แทนปืนแต่ละข้างเพื่อเล็งยิงสาดกระสุนใส่ศัตรู พร้อมกับลูกเล่นหยิบจับขว้างปาสิ่งของภายในฉาก และด้วยการแสดงผลภาพ 3D ที่มีความลึกของแว่นวีอาร์ กระสุนที่ศัตรูยิงมาคงทำให้หลายคนเผลอตัวก้มหัวหลบกันบ้างแล

Battlezone - เกมรถถังในโลกแห่งแสงสี ที่เปิดโอกาสให้เราได้บังคับยานเกราะเดินหน้าถอยหลัง และเล็งเป้าไล่ยิงข้าศึกจากทั่วทุกสารทิศไปพร้อมๆกัน ซึ่งอาจทำให้บางคนถึงกับแบะปากอยากหันหน้าหนี ไม่ใช่ว่าเกมมันไม่สนุก แต่เป็นเพราะอาการมึนงงวิงเวียนศีรษะที่ถาโถมเข้าใส่อย่างต่อเนื่อง คล้ายๆกับตอนนั่งอ่านหนังสือในรถ หรือขึ้นเรือที่กำลังโคลงเคลง

RIGS Mechanized Combat League - เกมแม่เหล็กที่เรียกได้ว่าเป็นจุดประสงค์หลักของการซื้อ "เพลย์สเตชัน วีอาร์" อีกทั้งยังติดอันดับหนึ่งเกมวีอาร์ที่ทำให้บางคนรู้สึกเหงื่อตกเข็ดขยาดเช่นเดียวกัน ซึ่งระบบการเล่นของเกมจะเป็นการผสมผสาน ระหว่างแอ็คชั่นหุ่นยนต์ เข้ากับกฏกติกาแบบเกมกีฬา โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองทีมเปิดฉากเข้าต่อสู้ไล่ยิงแย่งเก็บลูกบอลมายัดลงห่วงให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่พอรู้คร่าวๆก็มีเพียงเท่านี้ เนื่องจากหากยังทนฝืนเล่นนานเกินกว่าสองนาที สภาพตนคงไม่ต่างจาก "นีโอ" ภายหลังล่วงรู้ความจริงว่า มนุษย์เป็นเพียงก้อนถ่านไฟฉาย ในหนังเรื่องเดอะเมทริกซ์

จากบรรดารายชื่อเกมน่าเล่นที่กล่าวไป เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัยแล้วเกม PS4 ปกติทั่วไป จะสามารถนำมาเล่นร่วมกับแว่น "เพลย์สเตชัน วีอาร์" ได้หรือเปล่า? บอกเลยว่าได้แน่นอนไม่มีปัญหา เพียงแต่ภาพมุมมองการเล่นจะถูกจำกัดกรอบอยู่ภายในหน้าจอไวด์สกรีนสี่เหลี่ยมผืนผ้า และไม่สามารถหมุนมองรอบทิศ 360 องศา เหมือนอย่างเกมวีอาร์ ซึ่งทางโซนี่ มอบชื่อการเล่นในลักษณะมุมมองแบบนี้ว่า "Cinematic Mode" เนื่องจากมันให้อารมณ์ราวกับเรานำเกมมาเปิดเล่นขึ้นจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ โดยในเมนูตั้งค่าของเครื่อง PS4 จะมีออพชั่นให้เราเลือกปรับระยะความห่างของจอภาพที่แสดง คล้ายๆกับเวลาเราจิ้มเลือกแถวที่นั่งใกล้-ไกลจากจอภาพยนตร์ ซึ่งบอกใบ้ขนาดนี้แล้วคงไม่ต้องอธิบายว่ามันจะอินขนาดไหน หากเรานำไฟล์หนังมาเปิดรับชมผ่านแว่นเพลย์สเตชัน วีอาร์

ผลข้างเคียงจากการเล่นเกมวีอาร์
ตามที่ได้เกริ่นไปข้างต้น และจากข้อความที่ปรากฏแสดงแจ้งเตือนก่อนเล่นทุกครั้ง ที่ระบุว่าอาจมีผู้เล่นบางกลุ่มรู้สึกเวียนหัว ปวดท้อง เหนื่อยล้า และคลื่นไส้อาเจียน ขณะเล่นเกมวีอาร์ โดยในต่างประเทศเรียกอาการเหล่านี้ว่า Virtual Reality Motion Sickness มีลักษณะคล้ายกับอาการของคนเมารถเมาเรือ แต่ต่างกันเล็กน้อยตรงที่ต้นเหตุ เพราะความสมจริงของวีอาร์ที่หลอกให้สมองคิดว่ากำลังเคลื่อนไหว ทั้งที่ร่างกายของเรากำลังหยุดนิ่ง ซึ่งตัวผู้รีวิวเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเคราะห์ร้ายเหล่านั้นที่ต้องเผชิญกับของเก่าที่เพิ่งกินมาเมื่อเช้า ถึงแม้ปัจจุบันจะมีคนค้นพบวิธีป้องกันอย่างการดื่มน้ำขิง เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือใส่จมูกเสมือนเข้ามาในเกม แต่ทางออกที่ลองแล้วได้ผลชะงักก็คือ พยายามหลีกเลี่ยงให้ห่างจากเกมวีอาร์ที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วอย่าง Battlezone, RIGS Mechanized Combat League, Driveclub VR และ EVE: Valkyrie เป็นดีที่สุด

ความคุ้มค่าน่าซื้อหา
มาดูที่สเปคกันบ้าง "เพลย์สเตชัน วีอาร์" เป็นแว่นวีอาร์ที่มีขนาดหน้าจอ 5.7 นิ้ว ให้ภาพความละเอียด 1920x1080 (ข้างละ 960×1080) ซึ่งถือว่าด้อยสุดในบรรดาแว่นวีอาร์ที่มีขายตามท้องตลาด แต่อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าราคาค่าตัวของมันก็ถูกกว่าด้วยเช่นเดียวกัน โดยแว่นวีอาร์ของโซนี่นั้น ปัจจุบันติดป้ายขายอยู่ที่ราคาเพียง 17,490 บาท ในขณะที่สองแว่นวีอาร์คู่แข่งอย่าง Oculus Rift และ HTC Vive ถูกตั้งขายในราคาที่แพงสูงถึง 30,900 บาท และ 39,900 บาท ตามลำดับ แถมหากคิดที่จะเล่นเกมอย่างราบรื่นไม่มีกระตุก ผู้ใช้งานอาจจำเป็นต้องพิจารณาเสียเงินอัปเกรดสเปคคอมฯตัวเองขนานใหญ่ แต่ในทางกลับกัน PS VR เพียงแค่ซื้อมาก็สามารถเสียบสายต่อเข้ากับ PS4 แล้วนั่งเล่นลื่นๆได้ทันที โดยไม่เกี่ยงว่าเครื่อง PS4 ของคุณจะเป็นรุ่นเก่าดึกดำบรรพ์ หรือรุ่น "โปร" ตัวใหม่ที่กำลังจะออก อีกทั้งชื่อชั้นบริษัทโซนี่เอง ก็แลดูมีภาษี และมีประสบการณ์ช่ำชองมากกว่าในเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์เกมออกมารองรับ ไม่ต้องรอคอยหวังพึ่งแต่เกมเทิร์ดปาร์ตี้เหมือนอีกสองค่าย ดังนั้นหากให้เลือกแว่นวีอาร์ที่เหมาะสำหรับเกมเมอร์ "เพลย์สเตชัน วีอาร์" ก็คงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

การที่จะกล่าวสรุปว่า "เพลย์สเตชัน วีอาร์" มันดีหรือไม่? จากประสบการณ์ส่วนตัวของคนเมาง่าย คงเป็นเรื่องที่ตอบฟันธงได้ยาก พอๆกับการรีวิวเครื่องเล่นรถไฟเหาะในสวนสนุก แน่นอนว่าหากใครไม่เวียนหัวก็คงรู้สึกสนุกสุดเหวี่ยงไปกับมัน ตรงข้ามกับคนอีกกลุ่มที่เพียงแค่เห็นก็อยากลุกเดินหนี ฉะนั้นแล้วความเห็นส่วนตัวของคนๆหนึ่งจึงมิอาจเป็นตัวแทนเหมารวมชี้วัดตัดสินอะไรได้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะของคนแพ้เกมวีอาร์ ต้องยอมรับว่าแว่นวีอาร์ของโซนี่ สามารถสร้างรอยยิ้ม และมอบความรู้สึก "แจ่มเป็ด เสด็จแมว" ให้เกิดกับตัวเองได้ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ตัวเราเองที่ต้องรู้สภาวะร่างกายของตนว่า เกิดมาเพื่อวีอาร์หรือเปล่า? ซึ่งมันก็มีวิธีทดสอบง่ายๆทำได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน เพียงแค่คุณเปิดหนัง "เฮนรี่ โคตรฮาร์ดคอร์" (Hardcore Henry) ขึ้นมารับชมแบบเต็มจอ หากสามารถทนนั่งดูได้ตั้งแต่ต้นจนจบครบ 90 นาที โดยปราศจากอาการผะอืดผะอมมึนงงใดๆ แสดงว่าตัวคุณผ่านไฟเขียวสามารถเล่นวีอาร์ได้ฉลุย หรือหากใครต้องการผลลัพธ์ที่ชัวร์สุดๆ แนะนำให้ไปลอง "เพลย์สเตชัน วีอาร์" กับตัวได้ที่ศูนย์โซนี่ตามห้างใหญ่ๆ แล้วขอให้พนักงานจัดเกม "RIGS Mechanized Combat League" รับรองว่าคุณจะรู้ผลภายในไม่กี่นาที





ที่ต้องกดหยุด เพราะรู้ตัวว่า...พุ่งแน่ๆ






สนับสนุนบทความรีวิวโดยโซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอนเตอร์เทนเมนต์ ฮ่องกง สาขาสิงคโปร์ (หรือ SIES)

*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*


กำลังโหลดความคิดเห็น