ในอดีต "นิตยสารเกม" เปรียบเสมือนอาวุธคู่กายเกมเมอร์ที่จะขาดไปไม่ได้ถ้าไม่อยากตกเทรนด์ แต่เมื่อมาถึงยุคของอินเตอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงข่าวสารในวงการเกมได้อย่างรวดเร็ว บทบาทของนิตยสารเกมก็เริ่มลดน้อยถอยลงจนต้องปิดตัวในที่สุด ไม่เว้นแม้แต่นิตยสารเกมคอนโซลอันดับหนึ่งของเมืองไทยอย่าง "play" ซึ่งบรรณาธิการ คุณเอกรัฐ แสงวัฒนะชัย หรือ "พี่เอก" เปิดใจกับทีมงานผู้จัดการเกมถึงจุดสิ้นสุดของนิตยสารรูปเล่ม และการปรับตัวเพื่อก้าวสู่สื่อดิจิตอลแบบเต็มตัว
ทำความรู้จัก "play"
พี่เอกเล่าถึงประวัติของนิตยสาร "play" คร่าวๆ โดยเริ่มต้นบริษัท Future Gamer (ชื่อเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น True Icontent) ได้ซื้อลิขสิทธิ์นิตยสาร "Electronic Gaming Monthly" (EGM) มาจากประเทศอเมริกาเพื่อวางจำหน่ายในประเทศไทย โดยเนื้อหาภายในเล่มเป็นการแปลบทความจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยทั้งหมด ต่อมาหลังจากที่ตีพิมพ์ไปได้ 34 เล่ม นิตยสาร EGM ที่อเมริกาประกาศปิดตัว ประเทศไทยจึงต้องหยุดการใช้ชื่อ EGM ตามไปด้วย บริษัทจึงเริ่มมองหานิตยสารเกมต่างประเทศเล่มใหม่ จนได้มาเจอกับนิตยสาร "play" ที่เป็นของประเทศอเมริกาเหมือนกัน หลังจากตกลงทำสัญญาและตีพิมพ์ได้เพียงไม่กี่เล่ม นิตยสาร "play" ที่อเมริกาก็ประกาศปิดตัว แต่ทางบริษัทต้องการที่จะตีพิมพ์ต่อไป จึงได้เจรจากับต้นสังกัดเพื่อขอใช้ชื่อเดิมแต่เปลี่ยนเนื้อหาใหม่ ซึ่งก็ได้รับอนุญาต นิตยสาร "play" ประเทศไทยจึงได้ตีพิมพ์ต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ความแตกต่างระหว่าง "Electronic Gaming Monthly" และ "play"
ก่อนที่นิตยสารต้นสังกัดในอเมริกาจะปิดตัว พี่เอกเปิดเผยถึงการทำงานร่วมกับ "Electronic Gaming Monthly" และ "play" นั้นแทบจะไม่มีความแตกต่าง คือการนำบทความในฉบับภาษาอังกฤษมาแปลเป็นภาษาไทยโดยนักเขียนฟรีแลนซ์ การจัดวางรูปเล่มหรือเลย์เอาท์ก็จะเหมือนกับของต้นฉบับแบบเป๊ะๆ แต่หลังจากที่นิตยสารปิดตัวลงทั้งคู่ ทางบริษัทต้องสรรหาคอนเทนท์ใหม่ๆมาลงหนังสือ จึงเป็นโอกาสให้นักเขียนไทยได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนคอลัมน์ต่างๆ ด้วยสำนวนการเขียนและความรู้ของตัวเอง ซึ่งผลตอบรับจากผู้อ่านก็มีทั้งในเชิงบวกและลบ โดยส่วนใหญ่มองว่าการนำบทความของต่างประเทศมาแปลทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงมุมมองใหม่ๆของเกมเมอร์ในต่างแดน ขณะที่มุมมองของนักเขียนไทยยังค่อนข้างแคบและขาดความเป็นสากล แต่เมื่อเวลาผ่านไปนักเขียนต่างก็พัฒนาฝีมือจนได้รับการยอมรับมากขึ้น
จุดมุ่งหมายของ "play" กำเนิดใหม่
หลังจากที่เริ่มทำคอนเทนท์ของตัวเอง "play" ฉบับไทยแท้ตั้งเป้าที่จะเป็นนิตยสารเกมที่นำเสนอเนื้อหาด้านเกมคอนโซลแบบเจาะลึก ซึ่งไม่ใช่แค่การพรีวิวหรือรีวิวเกม แต่จะนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม การเมือง ศาสนา ฯลฯ มาเชื่อมโยงกับเกมและนำเสนอผ่านมุมมองของผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้พร้อมกับเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆโดยมีเกมเป็นสื่อกลาง ซึ่งได้กลายมาเป็นจุดเด่นของนิตยสาร "play" ในปัจจุบัน
ความท้าทายของการทำนิตยสารเกม
"ความต้องการของผู้อ่าน" ถือเป็นความท้าทายและเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดของการทำนิตยสารเกม พี่เอกอธิบายเพิ่มเติมถึงความยากในการตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่กว้างมาก ในแต่ละเดือนจะต้องคอยตรวจสอบกระแสตอบรับของผู้อ่าน เพื่อหาจุดร่วมระหว่าง "ความต้องการของผู้อ่าน" กับ "ความต้องการในการนำเสนอเนื้อหาของผู้เขียน"
"สื่อดิจิตอล" ฝันร้ายของ "สื่อสิ่งพิมพ์"
สาเหตุหลักของการปิดตัวนิตยสารคือการมาถึงของสื่อดิจิตอล เกมเมอร์สามารถเข้าถึงข่าวสารในวงการเกมได้อย่างรวดเร็วผ่านทางเว็บไซต์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ค แม้แต่วิธีผ่านเกมก็สามารถหาดูได้จาก Youtube ซึ่งสะดวกกว่าการเปิดอ่านหนังสือบทสรุปเกมที่มีแต่ภาพนิ่งและตัวอักษร และเมื่อมาถึงยุคของสมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ผลกระทบของสื่อดิจิตอลก็ยิ่งทวีความรุนแรง ยอดขายนิตยสารต่างๆเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ต่างประเทศเองก็ได้รับผลกระทบ ส่วนอีบุ๊คก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะคนไทยยังเข้าถึงแอพพลิเคชั่นอีบุ๊คได้ยาก ไม่เหมือนต่างประเทศที่อีบุ๊คยังพอขายได้
"กลยุทธ์ที่สำนักพิมพ์ทั่วไปใช้กันเพื่อให้หนังสือแบบรูปเล่มขายได้มี 2 วิธีหลัก คือ 1.ทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คหรือหนังสือที่มีความเป็น Collectible น่าสะสม 2.จัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม ทั้งสองวิธีช่วยกระตุ้นยอดขายได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงโดนสื่อดิจิตอลตีตลาดอยู่ทุกวัน ซึ่งในอนาคตอีกไม่กี่ปีสื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ก็คงหายไปหมด เว้นแต่จะทำเป็นแบบแจกฟรี" พี่เอกแสดงความคิดเห็นต่ออนาคตของวงการสื่อสิ่งพิมพ์
ถ้านิตยสารคือสถาบันครอบครัว บ.ก. ก็คือหัวหน้าครอบครัว
นิตยสาร "play" เล่มที่ 78 ประจำเดือนธันวาคม 2558 คือนิตยสารฉบับสุดท้าย รวมอายุ 6 ปี 6 เดือน (วางจำหน่ายแบบรายเดือนและไม่นับรวมช่วงที่ใช้ชื่อ EGM) เมื่อข่าวการหยุดตีพิมพ์ถูกประกาศออกไป แฟนๆนักอ่านต่างก็รู้สึกเสียดายไปตามๆกัน แน่นอนว่าพี่เอกและนักเขียนทุกคนต่างก็รู้สึกเสียดายเช่นกัน "พอรู้ว่าเล่มที่ 78 จะเป็นเล่มสุดท้าย ทุกคนในกองต่างก็รู้สึกใจหายครับ ตัวผมและนักเขียนทุกคนรู้สึกผูกพันกับนิตยสารหัวนี้ เราทุกคนต่อสู้มาด้วยกัน รู้สึกผูกพันกันเสมือนเป็นครอบครัว ถ้านิตยสารคือสถาบันครอบครัว บ.ก. ก็คือหัวหน้าครอบครัว ก่อนที่ผมจะก้าวขึ้นมาเป็น บ.ก. ก็เป็นนักเขียนมาก่อน พอเราก้าวขึ้นมาเป็น บ.ก. ก็คือรับช่วงต่อในการเป็นหัวหน้าครอบครัว คอยดูแลให้คำปรึกษาแก่นักเขียนทุกคนในการเขียนบทความ ทุกคนอยากให้นิตยสารได้ตีพิมพ์ต่อไป แต่ถึงแม้จะไม่มีนิตยสารเราก็ต้องสู้ต่อไปเพื่ออนาคตของวงการเกมครับ"
ทิศทางใหม่ของ "play" มุ่งสู่สื่อดิจิตอลเต็มตัว
ถึงจะบอกว่าปิดตัว แต่การปิดดัวนี้หมายถึงการหยุดวางจำหน่ายนิตยสารรูปเล่มและอีบุ๊คเท่านั้น พี่เอกเผยถึงทิศทางใหม่ของ "play" ที่ได้วางโครงร่างเอาไว้แล้ว คือการก้าวสู่สื่อดิจิตอลแบบเต็มตัว โดยจะมีช่องทางให้ติดตามข่าวสารจากทีมงาน "play" ได้ทางแฟนเพจ playmag บน Facebook นอกจากนี้ยังมีรายการ "เฮ้ย! จริงเหรอ!!" ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี และ "play Hard Talk" ออกอากาศในวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน บนช่อง Youtube ของ Online Station ซึ่งจะเป็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่ปกติจะลงในนิตยสารมาทำเป็นสื่อดิจิตอลทั้งหมด ส่วนช่อง Youtube playmag TH ก็กำลังจะมีรายการใหม่ให้ติดตามในเร็วๆนี้
เกมคอนโซลกำลังเติบโต PlayStation นอนมา
เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อวงการเกมคอนโซลไทยในปัจจุบัน พี่เอกมองว่าตลาดเกมคอนโซลในประเทศไทยกำลังเติบโต มีเกมเมอร์ให้ความสนใจหันมาเล่นเกมคอนโซลมากขึ้น เพราะมีจุดเด่นที่แตกต่างจาก PC คือไม่จำเป็นต้องอัพเกรดสเปค ซื้อเครื่องคอนโซลครั้งเดียวสามารถเล่นเกมใหม่ๆได้อย่างน้อย 6 - 7 ปี ขณะที่ PC จะต้องคอยอัพเกรดสเปคอยู่เรื่อยๆเพื่อให้สามารถเล่นเกมที่ออกใหม่ได้ ส่วนความกังวลที่ว่าเกมบนสมาร์ทโฟนจะมาแย่งส่วนแบ่งตลาดเกมคอนโซล พี่เอกอธิบายว่าต้องแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 กลุ่ม คือ Casual กับ Hardcore โดยปกติเกมเมอร์สาย Casual จะชื่นชอบเกมที่เล่นง่ายๆบนสมาร์ทโฟน ส่วนเกมเมอร์สาย Hardcore จะชื่นชอบเกมที่ความสมจริงหรือมีระบบการเล่นที่ลุ่มลึก เนื้อเรื่องของเกมมีมิติและมีความซับซ้อน ซึ่งเกมประเภทนี้หาได้บนคอนโซล เกมเมอร์ทั้งสองประเภทมีเส้นแบ่งที่ค่อนข้างชัดเจน และน้อยคนที่จะเปลี่ยนรสนิยมเกมของตัวเอง จึงเป็นเรื่องยากที่เกมคอนโซลจะหายไปเพราะเกมบนสมาร์ทโฟน
สำหรับส่วนแบ่งการตลาดระหว่าง 3 ค่าย ได้แก่ Sony (PlayStation 4), Microsoft (Xbox One) และ Nintendo (Wii U) ในแถบเอเชีย PlayStation ครองส่วนแบ่งมากกว่า 80% เป็นผลมาจาก Sony ที่เข้ามาทำการตลาดในโซนเอเชียอย่างจริงจัง ต่างจาก Microsoft และ Nintendo ที่มีฐานผู้เล่นค่อนข้างน้อย ทั้งสองค่ายจึงเลือกที่จะมองข้ามตลาดในเอเชีย แล้วหันมารักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศที่ตัวเองได้เปรียบแทน
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของวงการเกมจากทีมงาน "play" ได้ทางแฟนเพจ www.facebook.com/playmg และรายการ "เฮ้ย! จริงเหรอ!!" ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี กับรายการ "play Hard Talk" ออกอากาศในวันพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน ทางช่อง Youtube ของ Online Station
*ทีมงานผู้จัดการเกม เรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านร่วมเป็นแฟนเพจ ManagerGame ทางเฟซบุ๊กเพื่อเพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารวงการเกมครับ*