ประธานค่ายเกมยักษ์ใหญ่ THQ ย้ำการยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายไม่ใช่จุดจบขององค์กร เผยการดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายล้มละลายเป็นไปในทิศทางที่ดี ยืนยันบรรดาเกมที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเดินหน้าทำงานกันต่อไป
หลังจากที่มีการประกาศไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่าทางค่ายเกม THQ ได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายล้มละลาย หมวดที่ 11 พร้อมกับจะขายทรัพย์สินให้บริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนด้วยวงเงิน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนสร้างความตื่นตระหนกแก่บรรดาแฟนๆ
เจสัน รูบิน ประธานของค่ายเกม THQ ได้อธิบายสถานการณ์ล่าสุดไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทว่า การขายทรัพย์สินจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฏหมายล้มละลาย หมวดที่ 11 ซึ่งจุดที่สำคัญที่สุดที่ควรเข้าใจก็คือ นี่ไม่ใช่จุดจบของ THQ และไม่ใช่จุดจบของบรรดาซอฟท์แวร์เกมที่แฟนๆ ชื่นชอบ อันที่จริงแล้วมันกลับส่งผลตรงกันข้ามต่างหาก เป็นเสมือนการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
เจสัน ระบุว่า หมวดที่ 11 เป็นเหมือนตาข่ายที่คอยรองรับบริษัทอเมริกันให้อยู่รอดปลอดภัย สายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ตอนนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของ หมวดที่ 11 โดนัลด์ ทรัมป์ กับกิจการของเขาก็เคยอยู่ภายใต้หมวดที่ 11 ถึง 4 ครั้ง รวมถึงบรรดาบริษัทชื่อดังอื่นๆ ต่างก็เคยพบกับเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว อาทิ Macy's , Eddie Bauer , the Chicago Cubs , Chrysler , Delta Airlines , General Motors , the Pitsburgh Penguins , Marvel Studios , MGM และอื่นๆ อีกมากมาย
"MGM เข้าสู่กระบวนตามขั้นตอนของหมวดที่ 11 เมื่อสองปีก่อน มาในปีนี้พวกเขาก็มีภาพยนต์ออกฉายสองเรื่อง ก็คือ Skyfall และ the Hobbit ซึ่งทั้งสองเรื่องต่างก็ถือเป็นภาพยนต์ฟอร์มยักษ์ของปีนี้ นั่นล่ะคือความหมายของการเริ่มต้นใหม่ที่ผมได้พูดไว้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทีมงานและทรัพย์สินต่างๆ ก็จะยังคงอยู่ร่วมกันภายใต้การดูแลที่ดี นั่นเท่ากับว่าพวกคุณยังคงสั่งซื้อเกม Metro : Last Light , Company of Heroes 2 , South Park : The Stick of Truth ได้ตามปกติ แถมในระหว่างที่พวกคุณกำลังอ่านข้อความนี้อยู่ ทีมงานของเราก็ยังคงทำงานกันอยู่ แม้แต่บรรดาเกมที่กำลังลือกันก็ยังเดินหน้าพัฒนาต่อไป" เจสัน รูบิน เขียนไว้บนเว็บไซต์ THQ
มีการค้นพบว่าเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ได้ระบุถึงการพัฒนาเกม Crawler ของสตูดิโอ Vigil Games (ผู้สร้าง Darksider 2) ส่วนสตูดิโอ Turtle Rock (ผู้ร่วมพัฒนา Left 4 Dead) ก็กำลังวุ่นอยู่กับการพัฒนาเกมแอ็คชั่น Evolve ด้านสตูดิโอ Relic Entertainment ก็มีชื่อเกม Atlus เขียนไว้ในรายชื่อเกมที่กำลังจะพัฒนา มีกำหนดวางแผงช่วงปี ค.ศ. 2014 ขณะที่ THQ Montreal ก็กำลังพัฒนาเกมที่ชื่อว่า "1666"
อย่างน้อยในตอนนี้ค่ายเกม THQ ก็มั่นใจได้ว่าทรัพย์สินของพวกเขาจะขายได้ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอย่างต่ำจากข้อเสนอของทาง Clearlake Capital Group เว้นแต่จะมีผู้เสนอราคาที่ดีกว่าภายในระยะเวลา 30 วัน โดยที่ข้อตกลงระหว่างทั้งสองบริษัทคือ ขายสตูดิโอพัฒนาเกม 4 แห่งพร้อมกับบรรดาเกมที่กำลังพัฒนา โดยที่สตูดิโอทั้ง 4 ยังคงเปิดทำงานตามปกติต่อไป ซึ่งนั่นจะคล้ายกับการเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจเกมของ Clearlake Capital Group แถมยังทำให้ THQ มีเงินมากพอที่จะชดใช้หนี้ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ทาง Wells Fargo ผู้เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่
ทั้งนี้ กฏหมายล้มละลาย หมวดที่ 11 ของสหรัฐอเมริกา มีไว้สำหรับองค์กรธุรกิจที่มีความประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อไปและจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ โดยมักจะมีการยื่นเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้พิจารณา หรือทำแผนจำหน่ายทรัพย์สินในราคาที่เหมาะสมเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ต่างกับหมวดที่ 7 ซึ่งเป็นลักษณะขององค์กรที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้อีกแล้ว ต้องขายทรัพย์สินในราคาต่ำเพื่อใช้หนี้และเลิกกิจการ
ข้อมูลจาก
CVG