ค่ายเกมยักษ์ใหญ่อีเอและสตูดิโอแม็กซิสประกาศยื่นฟ้องเจ้าพ่อเกมเฟซบุ็ค "ซิงก้า" กล่าวหาว่าผลงานล่าสุดของพวกเขา "เดอะวิลล์" ลอกเลียนแบบทั้งระบบและกราฟิกมาจากเกมฮิต "เดอะซิมส์"
ในการดำเนินการทางกฏหมายครั้งนี้ ค่ายอีเอได้ยกเอาเวอร์ชัน "เดอะซิมส์โซเชียล" ที่สร้างลงเฟซบุ็คมาเป็นประเด็น โดยผลงานของพวกเขาเริ่มเปิดให้เล่นในเดือนสิงหาคมปี 2011 ขณะที่เกม "เดอะวิลล์" ของทางซิงก้าเพิ่งเริ่มเปิดให้เล่นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ทั้งสองเกมทำออกมาในแนวจำลองชีวิต ให้ผู้เล่นสร้างตัวละครขึ้นแล้วนำไปฝึกทักษะหาอาชีพ เข้าสังคมกับคนอื่นและเติมเต็มความต้องการต่างๆ โดยจะมีบ้านที่อยู่อาศัยของตนเองให้ตกแต่งซื้อของมาติดตั้งเพิ่มได้ อิงรูปแบบจากเกมฮิต "เดอะซิมส์" ของค่ายอีเอพร้อมปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเฟซบุ็คมากขึ้น
ทางอีเอชี้ว่า "เดอะวิลล์" ลอกระบบการเล่นของพวกเขาไปทุกขั้นตอน ตั้งแต่รายละเอียดการสร้างตัวละคร การกำหนดสีผิวที่ตรงกันไปถึงค่าตัวเลข RGB การแบ่งลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนเฉพาะคำศัพท์ ภาพกราฟิกวัตถุประกอบฉาก ท่าแอคชันเคลื่อนไหว ไอคอนแสดงอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงมุมมองการออกแบบตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
นอกจากข้อมูลภายในเกมแล้ว ทางอีเอยังยกเอาพฤติกรรมในอดีตของค่ายซิงก้ามาเพิ่มน้ำหนักให้กับคดี โดยเจ้าพ่อเกมเฟซบุ็คเคยมีประวัติลอกเกมมาหลากหลายแนวทั้งทำฟาร์ม บริหารภัตตาคาร สร้างตู้ปลา พัฒนาตึก พร้อมกล่าวอ้างไปถึงอดีตพนักงานซิงก้าที่นำคำพูดของซีอีโอมาร์คพินคัสออกมาแฉว่า "ผมไม่ได้ต้องการอะไรแปลกใหม่ คุณไม่ได้ฉลาดไปกว่าคู่แข่ง แค่เลียนแบบสิ่งที่พวกเขาทำและทำไปไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ตัวเลขเหมือนเขา"
ในเบื้องต้น ทางซิงก้าได้ออกแถลงการณ์มาตอบโต้ว่านโยบายของพวกเขาคือสร้างเกมที่สนุก แปลกใหม่และมีความเป็นสังคม โดยเดอะวิลล์ของพวกเขาเป็นการต่อยอดมาจากเกมตระกูลวิลล์ของพวกเขาเอง แต่อีเอดูจะขาดความเข้าใจในพื้นฐานหลักการของระบบลิขสิทธิ์ พร้อมยกตัวอย่าง "ซิมซิตี้โซเชียล" ของอีเอที่มาทีหลัง "ซิตี้วิลล์" ของซิงก้าโดยที่มีระบบหลายอย่างคล้ายกันด้วย
ก่อนหน้านี้ ทางค่ายซิงก้าเพิ่งเผชิญกับปัญหาราคาหุ้นดิ่งลงอย่างหนักหลังประกาศผลประกอบการไตรมาสสองออกมาติดตัวแดง อีกทั้งบรรดาผู้บริหารก็ถูกสำนักงานกฏหมายยื่นตรวจสอบว่าใช้ประโยชน์จากข้อมูลวงในขายหุ้นทิ้งก่อนราคาจะตก นับเป็นมรสุมต่อเนื่องที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฏหมาย "เอริค โกลด์แมน" ก็ให้ความเห็นว่าคดีมีแนวโน้มจะจบลงด้วยการยอมความ เนื่องจากการฟ้องเอาชนะกันเรื่องลอกระบบเกมนั้นไม่ใช่กรณีที่จะพิสูจน์ได้ง่ายๆ โดยบริษัททั้งสองมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะยอมแพ้ในคดีนี้และยิ่งลากยาวกันไปจะยิ่งสิ้นเปลืองเวลากับค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
Gamespot
Kotaku