องค์กรว่าด้วยวัฒนธรรมเกี่ยวกับเกม (Game Culture Foundation - GCF) ของเกาหลีใต้ ออกโรงเรียกร้องให้มีการสร้างมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอาการติดเกมเพื่อให้สะดวกต่อการวินิจฉัย
ในงานอภิปรายของ GCF เพื่อหาวิธีรับมือกับอาการติดเกมและปรับปรุงหน่วยงาน "จองมิน คิม" ประธานขององค์กรดังกล่าวได้ระบุว่าการสร้างมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์จะช่วยกำจัดการโต้แย้งที่ไร้เหตุผลและข้อสงสัยเกินจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้
"แทยง ชอย" จิตแพทย์ประจำศูนย์รักษาผู้ป่วยมหาวิทยาลัยแคธอลิกแดกูก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวและออกความเห็นว่าจำเป็นต้องมีเกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับอาการติดเกมและเล่นมากเกินไป เพราะขณะนี้มีข้อผิดพลาดที่ผู้คนไม่แยกแยะอาการติดอินเตอร์เน็ตออกจากการติดเกม
ตามความเห็นของชอย การใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไปเป็นลักษณะของการย้ำคิดย้ำทำมากกว่าการเสพติด โดยเกมที่ไม่สามารถดึงความสนใจของผู้เล่นจะด้อยค่าในสายตาของผู้พัฒนา ดังนั้นแล้วมันจึงถูกออกแบบให้ล่อลวงผู้เล่นให้มากที่สุด เขาจึงเชื่อว่าลักษณะของความหมกมุ่นเช่นนี้ยังไม่นับเป็นโรค
ชอยยังชี้ให้เห็นถึงผลการสำรวจว่า 14 เปอร์เซนต์ของนักเรียนและผู้ใหญ่มีอาการติดอินเตอร์เน็ต (ซึ่งนับรวมส่วนที่ติดเกมออนไลน์เข้าไปด้วย) เป็นอัตราส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับมาตรฐาน 1 เปอร์เซนต์ที่ใช้ในการนิยามสิ่งที่เป็นโรค มันยากที่จะบอกว่าการหมกมุ่นกับเกมมากเกินไปเป็นเพียงปรากฏการณ์ในสังคมหรือโรค เพราะตัวเลขจากแบบสำรวจสูงเกินไปและยังมีคนจำนวนมากที่นับรวมการติดอินเตอร์เน็ตกับเกมเป็นสิ่งเดียวกัน
ชอยยังกล่าวอีกว่าพวกเขากำลังเร่งสร้างเกณฑ์วินิจฉัยเพื่อนิยามจุดแบ่งระหว่างการหมกมุ่นมากเกินไปกับการเสพติด แทนที่จะถกเถียงกันว่าเป็นโรคหรือไม่ และคิดว่าอาการหมกมุ่นนั้นควรจะใช้วิธีเข้าไปช่วยบริหารจัดการมากกว่าจะเป็นการรักษา
ชอยปิดท้ายว่าบุคคลที่มีอาการเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ป่วย พวกเขายังไม่มีแนวทางรักษาอย่างเป็นทางการให้ทำตาม และต้องมุ่งเน้นไปที่การหามาตรการทางวิทยาศาสตร์เพื่อแยกว่าใครควรจะต้องใช้วิธีรักษาหรือแค่เข้าไปช่วยบริหารจัดการก็พอ
ภาพและข้อมูลจาก
Gamasutra