ซีรีส์อาชญากรรมทางโทรทัศน์สุดฮิต "C.S.I.: Crime Scene Investigation" นักนิติวิทยาศาสตร์จะใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยเพื่อแกะรอยฆาตกร และสร้างสมมุติฐานต่างๆว่าเกิดอะไรขึ้นในที่เกิดเหตุ ในอนาคตอันใกล้นักนิติวิทยาศาสตร์ในโลกแห่งความจริงจะใช้เทคโนโลยีจากวิดีโอเกม เพื่อจำลองฉากเรื่องราวการก่ออาชญากรรม
ด๊อกเตอร์ มิทซี มอนโทยา ศาสตราจารย์ทางด้านการตลาดและบริหารนวัตกรรมจาก นอร์ธ แคโรไลนา สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้(NC State) กล่าวว่า "ปัญหาของเราที่มีคือ ขณะที่เราพัฒนาเทคโนโลยีนิติวิทยาศาสตร์ไปอย่างรวดเร็ว แต่การนำทีมสืบสวนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกันกลับไม่เปลี่ยนเลยในรอบหลายๆปีที่ผ่านมา"
ก่อนหน้านี้ไม่นาน NC State ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ Cyber-Enabled Discovery and Innovation (CDI) ของสถาบันวิทยาศาสตร์นานาชาติ เป็นเงิน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้งเครื่องมือประสานงานกับนักนิติวิทยาศาสตร์ ภายใต้แพลตฟอร์ที่ถูกเรียกชื่อว่า "IC-CRIME" (interdisciplinary, cyber-enabled crime reconstruction through innovative methodology and engagement)
แพลตฟอร์ม "IC-CRIME" จะใช้เทคโนโลยีเลเซอร์สแกนสามมิติ และรันบนเทคโนโลยีเอนจิ้นที่มีชื่อ "Unity" โดยเอนจิ้นตัวนี้ได้นำมาใช้เป็นเครื่องจักรสำคัญในการสร้างเกมออกจำหน่ายมากกว่า 50 เกม อาทิ "FusionFall" และ "VooDude"
เทคโนโลยีเลเซอร์สแกน พัฒนาโดย 3rdTech เปิดโอกาสให้นักนิติวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สืบสวนได้บันทึกลักษณะของที่เกิดเหตุ และบันทึกมิติของสิ่งของในที่เกิดเหตุได้อย่างแม่นยำ นอกจากนั้นยังบันทึกตำแหน่งหลักฐานทุกอย่างในที่เกิดเหตุได้อีกด้วย เครื่องสแกนสามารถจับภาพและบันทึกข้อมูลต่างๆในที่เกิดเหตุได้อย่างละเอียดภายในเวลาไม่กี่นาที จากนั้นจะสามารถนำมาสร้างเป็นภาพจำลองที่เกิดเหตุในแบบรายละเอียดสูงได้
"ด๊อกเตอร์ ไมเคิล ยัง" ศาสตร์จารย์ทางด้านคอมพิวเตอร์และเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการเล่นเกมจาก NC State กล่าวว่า "จากเทคโนโลยีนี้ โลกของเกมจะถูกสร้างขึ้นในเว็บเพจที่จะมีข้อมูลในรูปแบบข้อความและกราฟิกสองมิติ เราจะสร้างอินเตอร์เฟซที่สามารถใช้อย่างง่ายดายในรูปแบบวิดีโอเกม ซึ่งนักนิติวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สืบสวนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆสามารถเชื่อมโยงสถานที่เกิดเหตุเข้ากับข้อมูลหลักฐานอื่นๆที่มีอยู่ อย่าง เส้นผม หรือรอยนิ้วมือได้"
"ไมเคิล ยัง" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกด้วยว่าอินเตอร์เฟซที่มีมาให้นั้นสามารถให้ผู้ใช้ได้สร้างสถานการณ์ต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ และสามารถเฝ้าสังเกตได้ว่าหากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจะออกมาเป็นเช่นไร ซึ่งตัวละครที่สร้างขึ้นในฉากจำลองนี้จะสามารถเลือกให้มีพฤติกรรมได้หลายอย่าง ทำให้ผู้ใช้สามารถแชร์แลกเปลี่ยนสมมุติฐานเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่สืบสวน หรือ คณะลูกขุนได้
ไมเคิล ยัง กล่าวว่า "เทคโนโลยีเกม เปิดโอกาสให้เราได้เป็นนักพัฒนาสร้างฉากแวดล้อมเสมือนจริง และการติดต่อสื่อสาร ฉากจำลองโลกของเกมนี้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้หลายคนเข้ามาใช้งานพร้อมกัน ให้เจ้าหน้าที่หลายๆคนได้ติดต่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่คนอื่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่างจำลองเหตุการณ์อาชญากรรมที่เกิดขึ้น"
"ด๊อกเตอร์ เดวิด ฮิงก์" ศาสตราจารย์ทางด้านโพลิเมอร์ และเคมีสีจาก NC state มองว่าเทคโนโลยีจากเกมนี้จะมาเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมต่อกับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์
"เดวิด ฮิงก์" ผู้ที่ทำงานให้กับหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ ผู้มีส่วนช่วยให้ข้อมูลกับหน่วยงานบังคับคดีในนอร์ธ แคโรไลนาเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมมากกว่า 50 คดีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กล่าวว่า "ผมมองว่าผู้เชี่ยวชาญในคดีอาชญากรรมจากทั่วโลกจะใช้เทคโนโลยีตัวใหม่นี้เพื่อจำลองเหตุการณ์ และเทคโนโลยีตัวนี้จะทำให้เกิดระบบทีมเวิร์คที่มีประสิทธิภาพ"
ฮิงก์ กล่าวว่า "การร่วมมือช่วยเหลือกันของหน่วยงานทั่วโลกสามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาหลักชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวัน , เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน และมันจะช่วยในการประหยัดการเดินทาง การสืบสวนคดีอาชญากรรมสิ่งสำคัญคือเรื่องของเวลา เพราะความทรงจำต่างๆของพยานบุคคลอาจจะหายไปในระยะเวลาอันสั้น"
IC-CRIME จะพร้อมติดตั้งภายใน 3 ปี แต่ทางหน่วยงานบังคับคดีนอร์ธ แคโรไลนา ที่ร่วมงานกับ NC State เพื่อทำโปรเจกต์นี้ จะสามารถเข้าถึงต้นแบบของเทคโนโนโลยีนี้ก่อนเพื่อประเมินและตรวจสอบความถูกต้องของระบบ "เราหวังว่าโปรเจกต์นี้จะยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ พร้อมกับมีการพัฒนาที่ดีขึ้นในอีกหลายๆปี และอาจจะขยายโปรเจกต์นี้เป็นแพลตฟอร์มการศึกษาให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ และวิศวกร" ไมเคิล ยัง ทิ้งท้าย
ข้อมูลและภาพประกอบจาก
yahoo.com
joystiq.com