จากประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับสตูดิโอในญี่ปุ่นและอเมริกา ล่าสุด ชิเงรุ มิยาโมโตะ นักออกแบบเกมชื่อดังจากค่ายนินเทนโด ได้ออกมาให้ความเห็นยอมรับว่า ต้นทุนและปัจจัยต่างๆของนักพัฒนาเกมในอเมริกาได้เปรียบกว่าญี่ปุ่นโดยเฉพาะแนวคิดในการสร้างเกมเฉพาะตัวที่มีรูปแบบแหวกแนว
"ชิเงรุ มิยาโมโตะ" นักออกแบบเกมชาวญี่ปุ่น ที่เป็นตำนานของนินเทนโด ผู้อยู่เบื้องหลังเกมมาริโอ และดองกี้คอง ให้สัมภาษณ์ผ่าน wired.com ยอมรับว่า ในอเมริกาทิศทางอนาคตของเกมอินดี้จากค่ายเกมอิสระเล็กๆ มีความสดใสมากกว่าในญี่ปุ่น "ผมคิดว่าในอเมริกาจะมีโอกาสที่ดีกว่าในการสร้างเกมพิเศษๆสักชิ้นขึ้นมา สำหรับญี่ปุ่นแล้วเทคโนโลยีอันทันสมัยที่ไว้สำหรับสร้างเกมจะมีอยู่ในเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้นเหล่าผู้พัฒนาเกมจึงผลิตเกมแบบเก่าๆออกมาเพื่อหากำไร มากกว่าการยอมเสี่ยงทดลองสร้างเกมแปลกๆแหวกแนวออกมา"
วีแวร์(Wiiware) เป็นระบบบริการดาวน์โหลดเกมออนดีมานด์ บนเครื่องวี ที่นินเทนโดสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ให้กับนักพัฒนาเกมอิสระที่มีทุนทรัพย์น้อย ซึ่งทางนินเทนโดหวังว่าจะใช้ช่องทางนี้เพื่อให้นักพัฒนาเกมที่มีพรสวรรค์ หรือเหล่าผู้ที่มีไอเดียสร้างเกมมาเผยแพร่บนเครื่องวี โดยนินเทนโดจะได้ประโยชน์กลับมาในส่วนของยอดขายเกมผ่านการดาวน์โหลด และ กระแสของเกมเมอร์ที่จะพูดถึงเกมนั้นๆ ก่อนหน้านี้วีแวร์ได้เปิดใช้ในญี่ปุ่นมาก่อนแล้ว โดยเมื่อวานนี้(12 พ.ค.)ระบบวีแวร์ได้เริ่มเปิดใช้ในอเมริกาอย่างเป็นทางการ ซึ่งนินเทนโดระบุว่ารายชื่อเกมบนวีแวร์ที่อเมริกา ส่วนใหญ่เป็นเกมที่สร้างขึ้นโดยนักพัฒนาอิสระในอเมริกา
มิยาโมโตะ ระบุเพิ่มเติมด้วยว่านักพัฒนาเกมในอเมริกามีปัจจัยพื้นฐานที่ดีกว่านักพัฒนาในญี่ปุ่น "ในอเมริกา นักพัฒนาเกมอิสระจะมีทักษะความสามารถในระดับสูง มีการพัฒนาฝึกฝนอย่างเป็นขั้นตอน นอกจากนั้นยังเข้าถึงเทคโนโลยีและฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นในการสร้างเกมได้อย่างดี พวกเขาสามารถนำลักษณะเฉพาะตัวของตัวเอง หรือสิ่งที่ตัวเองสนใจ มาใส่ในเกมที่พวกเขาสร้างขึ้นได้"
Reggie Fils-Aime ประธานนินเทนโด พูดถึงเกมบนวีแวร์ ว่าทางนินเทนโดให้อิสระอย่างเต็มที่กับผู้พัฒนาโดยไม่ได้ไปยุ่งหรือให้นโยบายอะไรทั้งสิ้น "ทางนินเทนโดไม่ได้เข้าไปดูแลอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับการพัฒนาเกมบนวีแวร์ สิ่งเดียวที่นินเทนโดทำก็คือการเข้าไปตรวจสอบบั๊กในเกม และเรื่องเรตติ้ง"
หน้าที่หลักของมิยาโมโตะไม่เพียงเป็นมันสมองใหญ่ให้กับนินเทนโด แต่เขาต้องทำงานกับทีมพัฒนาเกมอิสระเพื่อให้มาร่วมงานกับทางนินเทนโดอีกด้วย "ในญี่ปุ่น มีกลุ่มคนที่ใช้เครื่องพีซีสร้างสรรค์ความสนุกได้ และยังมีงานศิลปะในเชิงอินเตอร์แอคทีฟอีกด้วย แม้พวกเขาไม่ได้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมเกม แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถหาไอเดียเด็ดๆในการสร้างเกมจากกลุ่มคนพวกนี้"