ICT4Society จัดเวทีสาธารณะเพื่อหารือการพัฒนาร้านเกมและอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ศึกษาวิจัยนำร่อง 5 จังหวัดภาคเหนือ จับมือไมโครซอฟท์ ยื่นข้อเสนอฝึกอบรมความรู้ด้านกฎหมาย แผนธุรกิจ เทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการ พร้อมชวนหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชนในพื้นที่จัดตั้งกรรมการชุมชน ร่วมแก้ปัญหาภัยร้านเกม
เมื่อวันที่ 21 - 25 มีนาคม 2551 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาสังคม (ICT4Society) สถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดยนายอิทธิพล ปรีติประสงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และนางลัดดา ตั้งศุภชัย ผอ.กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม วธ. จัดเวทีสาธารณะเพื่อหารือการพัฒนาร้านเกมและอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในเขตภาคเหนือเป็นพื้นที่นำร่องศึกษาวิจัยโครงการ โดยภายในงานมี นายชูชาติ นาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม พร้อมกันนี้ได้เดินทางพบปะและพูดคุยกับร้านเกมฯ หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ร้านอินเตอร์เน็ต และเกมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และเด็ก เยาวชน
นางลัดดา ตั้งศุภชัย ผอ.กลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม วธ. กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯได้รับหน้าที่ดูแลเรื่องสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์โดยตรง ซึ่งทางกระทรวงฯได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหิดล ดูแลในส่วนของงานวิชาการ ซึ่งนโยบายของกระทรวงจะเน้นเรื่องธรรมมาภิบาล หาแนวทางว่า ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการร้านเกมฯ มีพื้นที่ประกอบธุรกิจ มีความรู้ โดยไม่ละเมิดต่อเด็ก หรือสังคม ธุรกิจนี้จะได้มีความโปร่งใส เพราะ วธ.ไม่ได้มีบทบาทแค่ดูแลวัฒนธรรมที่ดีงาม หรือดูแค่เนื้อหาเกมอย่างเดียว แต่ต้องดูแลผู้ประกอบการให้มีคุณธรรม จริยธรรม
อ. อิทธิพล ปรีติประสงค์ หัวหน้าโครงการวิจัย และพัฒนา ฯ กล่าวว่า เป็นโครงการศึกษาวิจัยนำร่อง 5 จังหวัด มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมให้เกิดร้านเกม และอินเตอร์เน็ตที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็ก เยาวชน โดยยึดหลักผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนมีส่วนร่วม เกิดการทำงานระหว่างประชาชน และหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการร้านเกมฯ ที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องอยู่รอดได้ ดังนั้นโครงการจึงมีสิทธิประโยชน์ให้กับร้านที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์ อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้การทำงานของโครงการจะหารือ 5 จังหวัดนำร่อง จัดตั้งกรรมการชุมชน ที่มาจากทุกภาคส่วน ดูแลเรื่องเกม และอินเตอร์เน็ต โดยภาระหน้าที่ของกรรมการจะตั้งกฎเกณฑ์ในการ กำกับดูแล และส่งเสริมร้านเกมฯ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ พร้อมทั้งรับสมัครร้านเข้าร่วมโครงการ หลังจากนั้นเสนอกฎกติกาดังกล่าวให้ วธ. เพื่อดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งหากมีมติเห็นชอบ ก็จะสามารถนำไปจัดทำเป็นกฎกระทรวงภายใต้ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดีทัศน์ 2551 เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
นางสาวเพชรศิริ เหลืองไพโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายใต้โครงการ Unlimited Potential ของไมโครซอฟท์ ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการสร้างพื้นฐานการศึกษาที่ดี และสร้างให้เกิดโอกาสในการทำงาน ไมโครซอฟท์พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมโครงการวิจัย และพัฒนาร้านเกมฯในเรื่องเนื้อหาเพื่อการศึกษา การเรียนรู้โปรแกรม Microsoft office เบื้องต้น, การใช้คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวัน, การดูแลเรื่องความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และการดูแลบุตรหลานของผู้ปกครอง นอกจากนี้จะสนับสนุนการจัดอบรมแผนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการภายในร้าน โปรแกรมบัญชี การอัพเดทโปรแกรม ทั้งนี้เหตุที่ไมโครซอฟท์เลือกจัดทำโครงการ เพื่อสนับสนุนประเทศไทย เพราะเห็นความตั้งใจจริงของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องอินเตอร์เนต และเกม อีกทั้งหวังว่าบริษัทจะทำให้คนอีกกว่า 5,000 ล้านคนทั่วโลก ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี
โดยระหว่างการหารือ นายเทวัญ ณ เชียงใหม่ ผู้ประกอบการร้าน Ozone Net จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เวลานี้รัฐกำลังบีบให้ผู้ประกอบการลงดิน จากช่วง 3 – 4 เดือนตั้งแต่ออกกฎหมายใหม่ที่ให้ร้านปิดตั้งแต่ 23.00 น. ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน รายได้หายไปประมาณ 30 – 40% เพื่อความอยู่รอดทำให้หลายร้านยอมจ่ายส่วยให้ตำรวจ ทั้งที่ความจริงร้านเกมพยายามทำตนเองให้โปร่งใส และพยายามดูแลเด็กตลอด
ซึ่งร้านเกมฯ ทั้ง 2 จังหวัดยืนยันตรงกันว่า หากไม่จ่ายส่วยบางครั้งต้องเจอกับคดีลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้ก่อขึ้น หลายครั้งที่ตำรวจใช้วิธีการจ้างเด็กเข้ามาเล่นในร้าน แล้วใส่เพลง หรือภาพยนตร์ลงเครื่อง พอตำรวจมาค้น ตรวจเจอ ก็จะอ้างเอกสารการมอบอำนาจจากเจ้าของธุรกิจ ซึ่งร้านหลายแห่งไม่มีความรู้ว่าคือเอกสารจริงหรือไม่ เครื่องก็จะถูกยึด และถูกจับดำเนินคดี ซึ่งหากไม่ต้องการถูกจับ บางคนต้องจ่ายให้ถึง 25,000 บาท ร้านที่เจอเหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่จะเป็นรายใหม่ ส่วนร้านที่เปิดมานานจะแก้ปัญหาด้วยการลงโปรแกรมป้องกัน ซึ่งพอแก้ปัญหานี้ไปได้ ล่าสุดตำรวจใช้วิธีเข้ามาตรวจจับลิขสิทธิ์ พอไม่เจอ เพราะร้านมีโปรแกรมป้องกัน ทางตำรวจก็จะพาเจ้าของร้านไปคุย และปล่อยให้เด็กที่มาด้วยกัน เปิดคอมพิวเตอร์ของร้าน เด็กจะเปิดเว็บลามก จังหวะนั้นตำรวจจะหันมาเห็นพอดี เจ้าของร้านจะเจอความผิดซึ่งหน้า ที่ปล่อยให้มีสื่อลามกอนาจารอยู่ในร้าน
นายฐิติการณ์ ศิริอิศรานุวัฒน์ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรม จ.เชียงราย กล่าวว่าปัญหาในเรื่องร้านเกม และอินเตอร์เน็ตมีมาก ตามดูแลก็เป็นเรื่องที่ลำบาก จึงเสนอให้มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาบันทึกการเล่นของเด็ก และการเปิด-ปิดร้าน ที่ทุกร้านจะต้องติดตั้งโปรแกรมนี้ หากทางโครงการสนใจก็อาจจะใช้วิธีนี้ และเพิ่มข้อเสนอให้ร้านเกมอีกต่อหนึ่งว่า หากร้านไหนติดตั้งโปรแกรมนี้จะได้การสนับสนุนด้านอื่นๆ จากเอกชนรายใหญ่ ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงรายกำลังพัฒนาระบบโปรแกรมนี้แล้ว โดยจะเอามาใช้สำหรับผู้ประกอบการเป็นจังหวัดแรก ที่จะจัดเก็บข้อมูลของทุกร้านว่าได้ทำผิดไปกี่ครั้ง ระบุเวลาในการเปิดปิด ร้าน และจัดเก็บประวัติการเล่นของเด็ก เพื่อไม่ให้สามารถไปเล่นที่ร้านอื่นได้ เพราะตัวโปรแกรมของแต่ละร้านจะเชื่อมต่อข้อมูลหากัน
ด้านความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย ทางโครงการได้จัดเวทีชี้แจงโครงการ และความร่วมมือกับคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งทั้ง 2 สถาบันเห็นด้วยกับโครงการ เบื้องต้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยินดีเข้าร่วมโครงการ โดยสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้แก่ร้านเกมที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับแนวทางการจัดระเบียบร้านเกม ของจังหวัดเชียงใหม่ จะจัดตั้งกรรมการชุมชน เพื่อร่างกฎเกณฑ์ในการประกอบการร้านเกม และอินเตอร์เนต ที่เหมาะสมกับพื้นที่ หลังจากนั้นนำกฎที่ร่างเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้ ครม. พิจารณาเป็นกฎหมายบังคับใช้ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชน จาก 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายบริหาร ผู้ประกอบการ และประชาชน โดยในเบื้องต้นผู้ประกอบการเห็นด้วยกับระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ยกเว้นระบบการบันทึกการใช้งานลูกค้า และเสนอให้ผ่อนผันเด็กเข้าร้านก่อน 14.00 น. ในช่วงปิดภาคเรียน นอกจากนี้มีข้อตกลงสำหรับร้านเกมที่เข้าโครงการ ที่ต้องสนับสนุนการบริการเพื่อสังคม เช่น ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน และจัดกิจกรรมเพื่อเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น ทั้งนี้จะหารือกันในกรรมการทั้งหมด หลังการแต่งตั้งอย่างเป็นรูปธรรม