xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนลุยนอก$2.3หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนรวม และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพโกยวงเงินลงทุนต่างแดนอย่างต่อเนื่องต่อเนื่อง หลัง ก.ล.ต.จัดสรรวงเงินให้รวมกัน 23,000 ล้านเหรียญ ล่าสุดตัวเลขวงเงินลงทุนรวมเหลือเพียง 7,000 ล้านเหรียญ จากเดิมที่แบงก์ชาติอนุมัติให้ 30,000 ล้านเหรียญ "ธีระชัย"พอใจนโยบายส่งเสริมการลงทุนข้ามฟ้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้านนายกฯบลจ.ระบุช่วยเพิ่มความหลากหลายและช่วยกระจายความเสี่ยงให้ผู้ลงทุน ขณะที่ผู้จัดการกองทุนถ่อมตัวขอทยอยขนเงินออกตามจังหวะและภาวะการณ์ พร้อมเห็นด้วยหากแบงก์อนุมัติเพิ่ม

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวภายหลังการประชุมระหว่าง ก.ล.ต. กับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนว่าในการประชุมทางคณะกรรมการก.ล.ต.ได้แจ้งตัวเลขวงเงินลงทุนในต่างประเทศ ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขยายวงเงินลงทุนรวมทั้งหมดเป็น 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกานั้น ทั้งนี้ก.ล.ต.ได้อนุมัติวงเงินในส่วนของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2551 ไปแล้วเป็นจำนวน 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมานโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของ ก.ล.ต. ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ประกอบกับการเพิ่มช่องทางลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลและบริษัทหลักทรัพย์โดยตรง ทำให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับความต้องการของตนเองได้มากขึ้น
นายมาริษ ท่าราบ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า การเพิ่มวงเงินลงทุนต่างประเทศและการอนุมัติให้กองทุนส่วนบุคคลลงทุนในต่างประเทศได้นั้น ทำให้ธุรกิจของบริษัทจัดการมีความหลากหลายและผู้ลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ บริษัทจัดการมีความพร้อมที่จะให้บริการในรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลเพื่อลงทุนในต่างประเทศแล้ว
นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการขยายการลงทุนในต่างประเทศอีก 30,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีในการลงทุนเพราะถือว่าเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า ธปท. จะอนุมัติวงเงินในการลงทุนเพิ่มก็ตาม แต่การลงทุนยังต้องรอดูถึงสถานการณ์ในการลงทุนไม่ใช่ว่าเมื่ออนุมัติเข้ามาแล้วจะสามารถเข้าไปลงทุนได้ทันที ดังนั้นการลงทุนจึงต้องเป็นไปในรูปแบบการทยอยออกไปลงทุนในต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้นายนายธีรพันธุ์ จิตตาลาน รองกรรมการผู้จัดการสายงานจัดการลง บลจ.กรุงไทย กล่าวว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ จะส่งผลทำให้กองทุนส่วนบุคคลได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากนักลงทุน เพราะผู้ลงทุนหลายรายมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศมาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ประเมินว่าบริษัทจัดการลงทุนจะคิดค้น หรือหาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมานำเสนอแก่ลูกค้าที่มีความสนใจลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนการเข้าลงทุนในตราสารคุณภาพจากสถาบันการเงินในทวีปยุโรป (ECP) ซึ่งผลตอบแทนปรับตัวลดลงจากภาครัฐบาล และมีการคาดหมายจะทรงตัวต่อไปจนถึงครึ่งปีหน้า
ทั้งนี้เมื่อกองทุนส่วนบุคคลสามารถออกไปลงทุนต่างประเทศได้แล้ว น่าจะช่วยชดเชยธุรกิจกองทุนรวมได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ที่มีในปัจจุบันอาจจะใช้เวลาค่อนข้างนานในการจัดตั้งกองทุนแต่ละกอง แต่หากออกไปลงทุนในรูปของกองทุนส่วนบุคคลนั้น สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องขอจัดตั้งกองทุน หรือส่งหนังสือชี้ชวน

**ซักซ้อมธุรกรรมซื้อคืนกองทุน
ขณะเดียวกัน รายงานข่าวจาก ก.ล.ต. ระบุว่า หลังจากธปท.ได้มีหนังสือให้สำนักงานเผยแพร่แนวทางปฎิบัติมาตรฐานในการทำธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน (Market Coventions) ในรูปของ Annex ซึ่งจัดทำโดยชมรมนักค้าเงิน และได้รับความเห็นชอบจากสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารต่างประเทศให้สามารถใช้แนวทางปฎิบัติมาตรฐานดังกล่าวในการทำการเจรจาเข้าทำสัญญามาตรฐาน (สัญญา GMRA) ได้ นั้น
ทั้งนี้สำนักงานขอซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนของกองทุนดังต่อไปนี้ โดยในกรณีการคำนวนมูลค่าของหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ซื้อ (หลักประกัน) ณ สิ้นวันให้ใช้ราคาตลาด ซึ่งหมายความรวมถึง ราคาของหลักทรัพย์หรือตราสารหนี้ที่คำนวนจาก RP Reference Yield ซึ่งกำหนดโดยสมาคมตราสารหนี้ไทยในหน้าจอ http://www.thaibma.or.th/priceyield/RPreferenceyield ด้วย
ขณะที่ในกรณีที่บริษัทจัดการใช้ RP Reference Yield มาคำนวนมูลค่าหลักทรัพย์หรือตราสารหนี้ที่ซื้อตามธุรกรรมซื้อ โดยมีสัญญาขายคืน (หลักประกัน) ให้บริษัทจัดการใช้ราคาตลาดดังกล่าวในการคำนวนอัตราส่วนการลงทุน (company limit) ของหลักทรัพย์หรือตราสารหนี้ที่ซื้อด้วย และในกรณีการทำธุรกรรม reverse repo บริษัทจัดการต้องคำนวน company limit ทั้งของคู่สัญญา (ผู้กู้) และผู้ออกหลักประกัน ทั้งนี้ในการคำนวน company limit ของผู้กู้ ให้รวมดอกเบี้ยค้างรับด้วย
นอกจากนี้สำนักงานขอซักซ้อมเพิ่มเติมว่า ตามข้อ 26(1) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน.25/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2549 กำหนดให้การทำธุรกรรม reverse repo กองทุนต้องดำรงมูลค่าหลักประกัน ณ สิ้นวันไม่น้อยกว่าราคาซื้อ โดยใช้ราคาตลาดในการคำนวนมูลค่าหลักประกันนั้น เจตนารมย์ของข้อกำหนดดังกล่าว ต้องการให้มูลค่าหลักประกันคุ้มมูลหนี้ที่กองทุนให้กู้
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของประกาศและเป็นไปตามหลักความระมัดระวัง (conservative) กองทุนจึงควรดำรงมูลค่าของหลักประกันไม่น้อยกว่ามูลค่าธุรกรรม และใช้มูลค่าธุรกรรมดังกล่าวในการคำนวนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้มูลค่าธุรกรรม หมายถึง ราคาหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ซื้อรวมกับดอกเบี้ยค้างรับจนถึงวันที่คำนวนมูลค่าธุรกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น