เด็กไทยที่ฝันอยากจะทำเกมขึ้นมาสักเกม เชื่อว่าหลายคนอาจเคยฝัน แต่อาจจะไม่ได้ไขว้คว้าอย่างจริงๆจังๆ และที่สำคัญพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจลูกอาจจะมองว่าฝันดังกล่าวอาจจะลมๆแล้งๆดูไม่มีอนาคต รวมไปถึงเม็ดเงินที่จะมาลงทุนให้เด็กกลุ่มนี้ก้าวตามฝันไปได้ก็ดูจะไร้วี่แวว เนื่องจากกลุ่มทุนเห็นผลงานจากรุ่นพี่ทำไว้ได้ไม่ค่อยสู้ดีนัก ความฝันจึงเป็นเพียงแค่ความฝันต่อไป
“นายพรพิพัฒน์ หงส์ไทย” หนุ่มวัย 24 ปี เป็นหนึ่งคนไทยที่ไล่ตามฝันตัวเองด้วยความมุ่งมั่น หลังเริ่มหัดเขียนโปรแกรมมาตั้งแต่ป.6 รวมทักษะการเขียนโปรแกรมกินเวลา 13 ปี โดยที่ 7 ปีหลังเขาตั้งหน้าตั้งตาเขียนโปรแกรมเกมเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจที่จะไปหางานอื่นทำ นอกเสียจากการนั่งวิจัยเกมอยู่กับบ้านเป็นเวลาถึง 2 ปีหลังเรียนจบปริญญาตรี โดยมีรางวัลที่ 2 จากผลงานเกม “Radiation” (NECTEC2005) เป็นเครื่องยืนยันฝีมือ
“พรพิพัฒน์” เดินทางมาไกลจากจ.ชลบุรีเพื่อบอกถึงความฝันของเขาให้สังคมได้รับรู้ หลายคนอาจจะมองว่าเขาไม่ปกติ ดูบุคลิกแล้วไม่เชื่อมั่นว่าเขาจะทำได้ และปฏิเสธที่จะช่วยสานต่อผลงานของเขาในแง่เงินลงทุน หลังจากยื่นโปรเจกต์เกม “อานารยะ” (ANARAYA)ไปแล้วหลายบริษัท แต่ทว่าคนที่มีความมุ่งมั่นแบบนี้ในการทำอะไรสักอย่างที่ตัวเองชอบแบบไม่วอกแวก เราเชื่อว่าสักวันหนึ่งเขาจะประสบความสำเร็จ ขาดแต่เพียงโอกาสที่หยิบยื่นให้เขาเท่านั้นเอง แต่ยังโชคดีที่เขาบอกว่าพ่อแม่ปล่อยให้ลูกทำตามฝัน ไม่ได้กดดันอะไรกับตัวเขาเลย
ฝันให้ไกลไปให้ถึง
พรพิพัฒน์เล่าชีวิตส่วนตัวในอดีตให้ฟังว่า ช่วงที่เขาเรียนอยู่ ม.2นั้น เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงตกต่ำจากครอบครัวที่จัดได้ว่ามีฐานะก็กลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวไปเลยทันที จากที่เคยเรียนโรงเรียนนานาชาติก็ต้องย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี หลังจากนั้นเมื่อจบชั้นม.ปลายก็ทำความฝันของตัวเองด้วยการเลือกศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีการสอนเขียนเกมโดยตรง ที่คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์มัลติมีเดียมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี แต่สุดท้ายที่นี่ก็มีเรียนวิชาเขียนเกมแค่ตัวเดียวด้วย Visual Basic ซึ่งในตอนเรียน เขาก็ได้รางวัลที่ 2 จากเกมที่ส่งประกวดกับ NECTEC มันจึงเหมือนว่าได้ข้ามขั้นตอนนั้นไปแล้ว
สำหรับเกม “อานารยะ” นั้นพัฒนาต่อยอดมาจากเกม Radiation ความฉลาดของระบบ AI จะมีความฉลาดขึ้น มันสามารถวิ่งหลบเสาได้ เพียงแต่ยังไม่ได้เพิ่มพวกอาการกลัวของมอนสเตอร์และการตัดสินใจลงไป พรพิพัฒน์เล่าต่อว่า เขาทำเกมเพียงคนเดียวโดยครอบคลุมทุกส่วนของเกมตั้งแต่การออกแบบเกม ,การออกแบบเลเวล ,เขียนเนื้อเรื่อง ,วางจุดสมดุลเกม ,เขียนโปรแกรมด้านระบบฉาก, ระบบอาวุธ , ระบบ AI , ระบบสคริป, ระบบเรนเดอร์ ,การทำโมเดล ,แอนิเมชัน ,เขียนสคริปต์ ,ลงสีเท็กซ์เจอร์,วางแผนทางด้านธุรกิจ และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าเขาทำเกมเพียงคนเดียว 90% และเพื่อนๆอีก 3 คนช่วยกันรวม 10%
ทำงานเป็นทีมดีกว่าทำคนเดียว
ด้วยการทำเกมที่ครอบคลุมศาสตร์หลายแขนงจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะคนๆเดียวจะทำเกมออกมาได้อย่างลงตัว พรพิพัฒน์จึงต้องการทีมงานเข้ามาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่เข้าใจระบบการใช้แสงขั้นสูงแบบที่เกมระดับโลกโดยทั่วไปทำ HDR และฟิสิกส์เอนจิน NOVADEX ที่ใช้ในเกมใหญ่ๆแบบเกียร์ ออฟ วอร์ จึงจำเป็นที่จะต้องให้เพื่อนที่ผู้เชี่ยวชาญลาออกจากงานมาทำงานให้เต็มที่ รวมไปถึงทีมงานฝ่ายศิลปะ ทั้งนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีงบประมาณมาสนับสนุนในการรวมทีมและว่าจ้าง
พรพิพัฒน์กล่าวถึงปัญหาความล่าช้าในการทำเกมว่า อยู่ที่การขาดขาดฝ่ายศิลป์ เขาจึงจำเป็นต้องวาดภาพต่างๆ ด้วยตัวเอง อย่างเท็กซ์เจอร์ภาพๆหนึ่ง เขาต้องลบแล้วทำใหม่ภาพละ 3 รอบเป็นอย่างต่ำ กินเวลาไปถึง 2 อาทิตย์ต่อ 1 ภาพ และถึงแม้จะทำใหม่ภาพละหลายรอบแล้วก็ตาม แต่งานศิลป์ก็ยังออกมาไม่สวยเท่าที่ควรอยู่ดี จำเป็นต้องมีคนที่เรียนจบด้านนี้มาโดยตรงมาทำให้
ด้านแนวเกมที่ทำออกมาในแนว “FPS RPG” หรือเกมชูตติ้งมุมมองบุคคลที่หนึ่งผสมเกม RPG เก็บเลเวล ,อัปเกรดตัวละคร ,ใช้สกิลล์ ,แต่งปืน ,แต่งตัวละคร ,ใช้เงินแลกเปลี่ยนสิ่งของกับผู้เล่น รวมทั้งการเล่นแบบ Co-op ร่วมกันได้ 32 คน
“ผมยอมรับว่าสร้างเกมเพื่อมอมเมาเยาวชนกับเกมแนวที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ชอบ แต่ก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแนวไปทำแบบอื่น สำหรับผมทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองรู้สึกชอบก็พอ หากมีบริษัทหนึ่งสนใจให้การสนับสนุนแล้วขอให้เปลี่ยนแนวเกมก็คงไม่ทำเช่นกัน เกมเพื่อคุณธรรมเพื่อชีวิตต่างๆ มันไม่ค่อยเป็นที่นิยมและไม่เป็นที่รู้จัก เราไม่สามารถที่จะทำเกมเพื่อคุณธรรมได้ เนื่องจากเราต้องกินต้องใช้” พรพิพัฒน์กล่าวถึงจุดยืนตามความคิดของเขา
เก็บเงินตั้ง บ.เกมเองคงตามไม่ทัน
“หลังจากเรียนจบมา 2 ปี ผมไม่คิดจะไปทำงานอื่น เพื่อนๆผมรู้ดีว่าตัวผมทำอะไรอยู่ ก็ถามไถ่อยู่ว่าเมื่อไหร่เกมจะเสร็จหรือเมื่อไหร่จะไปหางานทำ แต่เมื่อมาคิดว่าเวลาคงไม่พอในการพัฒนาเกมของตัวเอง ตอนที่จบมากราฟิกในเกมนี้ถือว่ายังอยู่ในขั้นยอมรับได้อยู่ แต่พอผ่านมา 2 ปี เกม ‘ครายซิส’ ออกมา กราฟิกของเกมนี้ทำให้ผมไม่สามารถอยู่นิ่งได้ หากผมไปทำงานก่อนแล้วเก็บเงินมาเปิดบริษัทเอง เงินเดือนโปรแกรมเมอร์ประมาณ 3 หมื่นบาท กว่าจะครบจำนวนที่ต้องการ ป่านนั้นคงมีครายซิส3ออกมาแล้ว ผมหมดปัญญาที่จะไล่ตามเทคโนโลยีได้ทัน”
หนุ่มผู้มีใจรักในการพัฒนาเกมบอกอีกว่า จริงๆแล้วการเขียนโปรแกรมใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่ใช้เวลาทำงานศิลป์อยู่ 1 ปี 3 เดือน งานศิลป์เป็นอะไรที่โปรแกรมเมอร์ทำไม่ไหวจริงๆก็เลยค่อนข้างยืด แต่ก็ทำให้รู้อะไรเพิ่มขึ้น เพื่อนในทีมส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมเมอร์ ความจริงพวกเขาชอบเล่นเกม แต่ไม่มีความฝันในการทำเกมแบบจริงจัง รวมทั้งมีภาระทางด้านชีวิตความเป็นอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามพวกเขาก็มีความสามารถในการทำเกม
“เคยมีนักศึกษาจากม.ศิลปากรมาติวนักเรียนที่โรงเรียนที่พ่อทำงานอยู่ ผมเพิ่งรู้ตัวว่าตัวเองไม่มีความรู้ทางด้านศิลปะเอาเลย รวมทั้งองค์ประกอบสีพื้นฐาน จากนั้นก็ไม่สามารถที่จะทำเกมต่อไปได้เลยในช่วงนั้น ถ้ามีคนทำภาพกราฟิกดีๆ ภาพเกมที่เห็นก็จะออกมาดีกว่านี้แน่นอน”พรพิฒน์ยอมรับความไม่มีหัวศิลป์ของตัวเอง
พรพิฒน์ยกอีกตัวอย่างปัญหาการขาดช่วงจากสิ่งที่เขาสามารถเขียนเป็นโปรแกรมขึ้นมาให้ฟังพร้อมสาธิตให้ชมว่า อย่างเทคนิคโกลว์อิ้ง เอฟเฟกต์ นั้นจุดที่เขาทำไม่ได้ก็คือสมการแสงที่ตกกระทบ คนที่รู้เรื่องสมการก็คือเพื่อนอีกคนหนึ่ง คนนี้เขาเขียนโปรแกรมตัวนี้ไม่เป็น แต่คิดสมการเป็น ตอนนี้คงได้แต่รอเพื่อนที่จะสามารถเอาเข้าไปประยุกต์ในเกม จากนั้นเมื่อทำสำเร็จจะช่วยให้แสงทำงานได้เร็วขึ้น เป็นระบบแสงชั้นสูง ในต่างประเทศก็ใช้ไม่ต่างไปจากเราขึ้นอยู่กับสมการแสงที่ใส่เข้าไป
1ปีเสร็จใช้งบ 2 ล้าน
เมื่อถามว่าโปรเจกต์เกมนี้ทั้งหมดต้องใช้เงินทุนเท่าไรในความคิดของเขา พรพิพัฒน์ตอบว่า ต้องการเงินประมาณ 2 ล้านบาทในการให้เงินเดือนเพื่อนและค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์โปรแกรมเท่านั้น ใช้เวลาเพียง 1 ปีก็คงเสร็จ และชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงด้วยน้ำเสียงน้อยเนื้อต่ำใจว่า “ทีมเรามีพลังในด้านการทำเกมสูงมาก แต่พลังในด้านการติดต่องานค่อนข้างต่ำมาก ในโลกนี้การทำอะไรสักอย่างต้องใช้เงินหมดเลย ตัวผมเป็นคนธรรมดา ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง แต่อยากจะทำเกมขึ้นมา ผมรู้ว่าจะทำเกมอย่างไร แล้วจะทำยังไงให้เกมออกมาแล้วสนุก ขายได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีสิทธิ์ได้ทำ ถ้าตัดสินใจไปทำงานเมืองนอกแล้วคงไม่กลับมาเมืองไทยอีกแล้ว”
“วงการเกมคนไทย คนรุ่นเก่าทำไว้ดีมาก (ประชด) การสร้างเกมไม่ใช่แค่ลากวางลงบนเอนจินง่าย เขียนโปรแกรมไปสักหน่อยก็ได้นะ การเขียนโปรแกรมพื้นฐานขึ้นมาเองนั้นเราจะสามารถไปได้ไกลแบบที่ไม่ต้องมีขีดจำกัดของตัวเอนจินมาเกี่ยว” พรพิพัฒน์กล่าว
ปลุกสัตว์โบราณคดีไทยมาทำเกม
ด้านเรื่องราวในเกมจะมีพระเอก 2 คน ทั้งสองคงคนทำงานในองค์กรหนึ่งที่เป็นทหารรับจ้าง ตัวพระรองจะทำหน้าที่คุ้มกันนักวรรณคดีเข้ามาในป่าแห่งความฉงน (Forest of confuse) จากนั้นก็ได้พบกับโบราณสถานวัฒนธรรมโซนเอเชียขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ขณะกำลังสำรวจอยู่นั้น อยู่ๆก็มีพวกโครงกระดูกและพวกรูปปั้นคชสีห์ รวมไปถึงพวกสัตว์ใบราณคดีไทยฟื้นคืนชีพขึ้นมา พระเอกก็พยายามเข้าไปช่วย แต่ก็ไม่สำเร็จ จากนั้นนักใบราณคดีก็หายสาบสูญไป พระเอกจึงมีภารกิจต้องออกตามหา สำหรับโบราณสถานแห่งนี้เป็น 5 อาณาจักรขนาดใหญ่ (อาณาจักรสัตว์ 4 เท้า,อาณาจักรสัตว์น้ำ,อาณาจักรสัตรปีก,อาณาจักรภูตผี และอาณาจักรสัตว์ขนาดใหญ่) ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะเดินเข้าไปอาณาจักรใด อย่างอาณาจักรภูตผี ถ้าเราโผล่ไปตอนแรก เราจะยิงผีไม่ได้ เราต้องไปหา Artifact ที่ทำให้ปืนของเรายิงธาตุศักดิ์สิทธิ์ได้ ผู้เล่นต้องออกตามหาตาม Act ต่างๆไล่ไปเรื่อยๆ
ตัวละครจะแบ่งเป็น 5 คลาสตั้งต้น (มีด,ปืนพก,ปืนกลเบา,ปืนกลประเภทไรเฟิล และปืนไรเฟิลซุ่มยิง) แต่ละคลาสจะมีสกิลล์แตกต่างกัน เช่น Berserker call, Rapid fire,Artillery Support, Soul Storm เป็นต้น พอถึงจุดๆหนึ่งเราจะสามารถเปลี่ยนเป็นคลาส 2ได้ (10 คลาส) แต่เปลี่ยนได้ครั้งเดียว อย่างเราจะเลือกว่าเราศรัทธาในสิ่งลี้ลับหรือศรัทธาในวิทยาศาสตร์ ถ้าเราศรัทธาในวิทยาศาสตร์เราก็จะเปลี่ยนเป็นไรเฟิลมาสเตอร์ มีความสามารถเช่นเรียกปืนใหญ่ถล่มจากระยะไกล แต่ถ้าศรัทธาในสิ่งลี้ลับเราก็จะสามารถเปลี่ยนวิญญาณเป็นพลังงานอาวุธ หรือขั้นสูงสุดเราสามารถเรียกวิญญาณกลายเป็นปีศาจขนาดใหญ่
“คนต่างประเทศเขาไม่รู้จริงๆหรอกว่าสัตว์ในตำนานของเรามีอะไรแค่ไหนกันแน่ จุดเด่นของเกมเรามีทั้ง RPG และมีสกิลล์เข้ามาเสริม คล้ายๆ Hellgate:London แต่เขาไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจาก Diablo เลย เกมของผมจะใช้สกิลล์ที่แตกต่างๆ และมีการตีบวกอาวุธด้วย”พรพิพัฒน์กล่าวเสริม
หากใครสนใจความตั้งใจของ “พรพิพัฒน์ หงส์ไทย” สามารถติดต่อไปให้กำลังใจและสนับสนุนเขาได้ที่ 086-5755780 และที่อีเมล์ ht_pat@hotmail.com