จากกรณีที่มีการโพสต์เกี่ยวกับสุขภาพ 7 อาหารและสมุนไพร ป้องกันโรคไต ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า ข้อมูลทางวิชาการในปัจจุบันไม่พบข้อมูลการศึกษาวิจัยในคนเกี่ยวกับประสิทธิผลบำรุงไต หรือชะลอการเสื่อมของไตโดยตรงของอาหารและสมุนไพรทั้ง 7 ชนิด คือ กระเทียมสด หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี ปลาสด แครนเบอร์รี่ กระเจี๊ยบแดง และใบบัวบก ไม่พบสมุนไพรชนิดหรือตำรับใดที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไตอีกด้วย
วันนี้ (14 พ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพเรื่อง7 อาหารและสมุนไพร ป้องกันโรคไต ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากกรณีที่มีการโพสต์แนะนำสรรพคุณด้านสุขภาพโดยระบุว่า วิธีบำรุงไต ด้วย 7 สุดยอดอาหารและสมุนไพร คือ กระเทียมสด หอมหัวใหญ่ กะหล่ำปลี ปลาสด แครนเบอร์รี่ กระเจี๊ยบแดง และใบบัวบก ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า อาหารและสมุนไพรทั้ง 7 ชนิด ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นอาหารและสมุนไพรที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหาร แร่ธาตุที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การรับประทานเป็นอาหารในปริมาณที่เหมาะสม บำรุงร่างกายและลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการทำงานของไต อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางวิชาการในปัจจุบันไม่พบข้อมูลการศึกษาวิจัยในคนเกี่ยวกับประสิทธิผลบำรุงไต หรือชะลอการเสื่อมของไตโดยตรงของอาหารและสมุนไพรทั้ง 7 ชนิดดังกล่าว และไม่พบสมุนไพรชนิดหรือตำรับใดที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไตอีกด้วย
ทั้งนี้ อาหารและสมุนไพรบางชนิดจำเป็นต้องระมัดระวังในผู้ป่วยหรือผู้ที่มีภาวะการทำงานของไตผิดปกติ โดยหากรับประทานในปริมาณมากและรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียได้ เช่น กระเทียมและแครนเบอร์รี่ ที่มีกรดอ็อกซาลิก (oxalic acid) ปริมาณค่อนข้างสูง สามารถจับกับแคลเซียมและตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วที่ไตได้ สำหรับกะหล่ำปลีมีปริมาณโพแทสเซียม (potassium) ค่อนข้างสูง อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมเกินทำให้ไตต้องทำงานหนักในการขับแร่ธาตุ
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข้อมูลทางวิชาการในปัจจุบันไม่พบข้อมูลการศึกษาวิจัยในคนเกี่ยวกับประสิทธิผลบำรุงไต หรือชะลอการเสื่อมของไตโดยตรงของอาหารและสมุนไพรทั้ง 7 ชนิดดังกล่าว และไม่พบสมุนไพรชนิดหรือตำรับใดที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไตอีกด้วย
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข