xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวจริง! สธ. - ศธ. อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงสูง ฉีดวัคซีนแล้วเข้าเรียนแบบ On-Site ได้ ในวันที่ 17 พ.ค. 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับเปลี่ยนมาตรการการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้ที่ดีในโรงเรียนของเด็กไทย โดยมีการประชุมชี้แจงมาตรการเปิดเรียน On-Site ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด 19 ในสถานศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565
วันนี้ (9 พ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลข่าวสารในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสธ. – ศธ. อนุญาตให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงสูง ฉีดวัคซีนแล้วเข้าเรียนแบบ On-Site ได้ ในวันที่ 17 พ.ค. 65 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 นี้ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับเปลี่ยนมาตรการการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อการเรียนรู้ที่ดีในโรงเรียนของเด็กไทยต่อไป โดยได้มีการประชุมชี้แจงมาตรการเปิดเรียน On-Site ปลอดภัย อยู่ได้กับโควิด 19 ในสถานศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ด้วยหลักการพื้นฐานก็คือ 3T 1V “ตัดความเสี่ยง เพิ่มภูมิคุ้มกัน” มาตรการ 6-6-7 เป็นสิ่งที่ยังคงเน้นย้ำ ส่วนโรงเรียนประจำ ต้องดำเนินการตาม Sandbox Safety zone in School โดยเน้นย้ำพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัด ให้ดำเนินการ เพื่อให้เด็กไทยสามารถเรียนรู้ที่โรงเรียนได้เต็มที่ ตามมาตรการต่อไปนี้คือ

1. เร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อให้นักเรียนได้รับวัคซีนตามความสมัครใจให้ครอบคลุม
2. สถานศึกษา ต้องเข้ารับการประเมิน Thai Stop COVID Plus โดยต้องผ่านการประเมินมากกว่าร้อยละ 95
3. เน้นย้ำการทำตามแผนเผชิญเหตุ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ดำเนินการปิดชั้นเรียนหรือโรงเรียน เป้าประสงค์นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน
4. เน้นย้ำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ปฏิบัติตามมาตรการ โดยมอบหมายให้ศูนย์อนามัยในเขตสุขภาพเป็นพี่เลี้ยง

ในส่วนของแผนเผชิญเหตุ ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 นี้ หากพบผู้ติดเชื้อในโรงเรียนประจำให้แยกกักตัวที่โรงเรียน (School Isolation) ตามมาตรการ Sandbox: Safety Zone in School (SSS) สำหรับโรงเรียนไป-กลับ ให้ปฏิบัติตามมาตรการการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข หรือพิจารณาจัดทำ School Isolation โดยคณะกรรมการสถานศึกษา หน่วยงานสาธารณสุข ผู้ปกครอง ชุมชน พิจารณาร่วมกันให้ความเห็นชอบตามความเหมาะสม จุดเน้นที่แตกต่างเมื่อพบผู้ติดเชื้อในห้องเรียน คือ ให้ทำความสะอาดห้องเรียน ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข แล้วดำเนินการเรียนการสอนได้ตามปกติ ส่วนจุดเน้นที่แตกต่างเมื่อพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคือ ถ้านักเรียนได้วัคซีนครบตามแนวทางปัจจุบันและไม่มีอาการ ไม่แนะนำให้กักกัน พิจารณาให้เข้าเรียนได้โดยพิจารณาร่วมกันระหว่างครอบครัว สถานบริการสาธารณสุข และสถานศึกษา กรณีไม่ได้รับวัคซีน ให้แยกกักกัน (Self-quarantine) เป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน รวมเป็น 10 วัน ทั้งนี้ หากมีอาการ ให้ตรวจคัดกรอง ATK ทันที หากไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แนะนำให้ตรวจ ATK ในวันที่ 5 และวันที่ 10 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ

สำหรับการเตรียมความพร้อม เปิดภาคเรียนที่ 1/2565 สิ่งที่ทุกสถานศึกษาต้องทำ คือ การประเมินตนเองในระบบ Thai Stop COVID Plus ซึ่งเป็นมาตรการของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยการประเมินนี้จะมีการประเมินอยู่ 44 ข้อ ทั้งในแง่ของการเตรียมการและการจัดการด้านกายภาพ ส่งไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้เปิดเรียนได้ เมื่อเปิดเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ทุกสถานศึกษาต้องดำเนินงานตามมาตรการ 6-6-7 และประเมินตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ซึ่งสิ่งที่แตกต่างระหว่างภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 กับภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 คือ การเว้นระยะห่าง ในห้องเรียน จะเหลือ 1 เมตร จาก 1.5 เมตร เพราะฉะนั้น ห้องเรียนปกติที่มีขนาด 8 X 8 เมตร สามารถจัดโต๊ะเรียนได้ 7 แถว ๆ ละ 6 ที่นั่ง รวม 42 คน ซึ่งโดยปกติ 1 ห้องเรียนจะมีนักเรีนนประมาณ 40 คน ไม่มีปัญหาในเรื่องการเว้นระยะห่าง แต่อาจจะมีปัญหาในโรงเรียนประถมศึกษาบางแห่งเท่านั้น ที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ บางห้องอาจจะมีขนาด 6 X 8 เมตร และสิ่งสุดท้ายที่มีความแตกต่าง คือ บางโรงเรียนเป็นการเรียนในห้องปรับอากาศ ต้องมีการเปิดระบายอากาศ ทุก 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 นาที ในช่วงพัก สำหรับโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อในโรงเรียน คือ การถอดหน้ากาก กินข้าวร่วมกันสนทนาระหว่างกันโดยไม่สวมหน้ากาก ดังนั้น ในโรงอาหารควรมีการแยกสำรับกับข้าว แยกพื้นที่งดการพูดคุย ขณะกินอาหาร และเมื่อมีการเล่นร่วมกัน ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา แต่ถ้ามีการแพร่ระบาดในโรงเรียน ขอให้ทุกสถานศึกษาดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เช่น หากพบผู้ติดเชื้อเข้าไปเรียนให้ปิดทำความสะอาด 3 วัน แล้วเปิดเรียนตามปกติ โดยสิ่งที่น่ากังวล คือ ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 คน มีการแพร่กระจายมากกว่า 2 ห้อง ทางโรงเรียนต้องประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อเข้ามากำกับดูแล ระงับการแพร่ระบาดต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://ops.moph.go.th/public/ หรือโทร. 02 590 1000

หน่วยงานที่ตรวจสอบ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข


กำลังโหลดความคิดเห็น