กรณีคำแนะนำรักษามะเร็งว่าว่านแร้งคอคำดองเหล้า แก้มะเร็งมดลูก มะเร็งภายใน มะเร็งเต้านม ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ชี้แจงว่าขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าว่านแร้งคอดำช่วยรักษามะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านมในมนุษย์ โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วันนี้ (5 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชร์คลิปสุขภาพตามสื่อออนไลน์เรื่องว่านแร้งคอคำดองเหล้า แก้มะเร็งมดลูก มะเร็งภายใน มะเร็งเต้านม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีคลิปวิดีโอที่เผยแพร่วิธีการรักษามะเร็งชนิดต่างๆ ด้วยการใช้สมุนไพรแร้งคอคำที่นำไปดองเหล้า ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าว่านแร้งคอดำช่วยรักษามะเร็งมดลูก และมะเร็งเต้านมในมนุษย์ โดยว่านแร้งคอคำ (Crinum latifolium L.) เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะหัวกลมคล้ายหอมหัวใหญ่ มีการนำส่วนของหัวใต้ดินและใบของว่านแร้งคอดำมาใช้ในตำรับยาพื้นบ้าน ซึ่งสรรพคุณทางยามีหลายด้าน เช่น ลดอาการปวด ลดอาการอักเสบ แก้มดลูกหย่อน เป็นต้น จากการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาด้านการต้านมะเร็งในระดับเซลล์ พบว่า ว่านแร้งคอดำมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในกลุ่มอัลคาลอยด์และฟลาโวนอยด์ สารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกยืนยันแน่ชัดว่าว่านแร้งคอดำมีฤทธิ์ต้านมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสรรพคุณและผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้สมุนไพร ผลของการใช้ยาสมุนไพรมักแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ หรือ www.nci.go.th หรือโทร. 02 2026800
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าว่านแร้งคอดำช่วยรักษามะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านมในมนุษย์ โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข