จากที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสุขภาพโดยระบุว่า เผือกต้องกินสุกเท่านั้น กินดิบอันตรายมีแคลเซียมสูง ผู้แพ้นมสามารถกินเผือกทดแทนนมจะได้แคลเซียมเช่นกัน ทางสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เผือกเป็นแหล่งหนึ่งของแคลเซียมแต่ไม่สามารถทดแทนนมได้เพราะว่านมนอกจากมีแคลเซียมแล้วยังมีฟอสฟอรัส ซึ่งช่วยดูดซึมแคลเซียมบำรุงกระดูก สำหรับผู้ที่แพ้นมวัวควรเลือกอาหารที่มีโปรตีนแทน
วันนี้ (1 เม.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นสุขภาพเรื่องผู้แพ้นมสามารถกินเผือกทดแทนได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากที่มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับสุขภาพโดยระบุว่า เผือกต้องกินสุกเท่านั้น กินดิบอันตราย มีแคลเซียมสูง ผู้ที่แพ้นมสามารถกินเผือกทดแทนนมจะได้แคลเซียมเช่นกัน ทางสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เผือกเป็นแหล่งหนึ่งของแคลเซียม แต่ไม่สามารถทดแทนนมโดยเฉพาะในเด็กได้ เพราะว่านมนอกจากมีแคลเซียมแล้วยังมีฟอสฟอรัส แมกนีเซียม วิตามินดี ซึ่งช่วยดูดซึมแคลเซียมบำรุงกระดูก สำหรับผู้ที่แพ้นมวัวไม่ว่าจะเป็นเด็กโต หรือผู้ใหญ่ควรเลือกอาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ หรือถั่วเมล็ดแห้ง อาหารแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็ก เต้าหู้ก้อน บรอกโคลี ผักกวางตุ้ง ฯลฯ เพื่อเป็นอาหารทางเลือกที่นำมาทดแทนนม
อย่างไรก็ตาม เผือกดิบมีกรดออกซาลิกสูง การต้มจะช่วยลดปริมาณกรดออกซาลิกได้แต่ก็ไม่ทั้งหมด หากกินบ่อยหรือกินมากเกินไปอาจทำให้คันระคายคอหรือเป็นนิ่วได้ นอกจากนี้เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ควรกินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมสูง ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับแสงแดดอย่างพอเพียง เพื่อให้ผิวหนังสร้างวิตามินดี ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/ หรือโทร. 02-5904339
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เผือกเป็นแหล่งหนึ่งของแคลเซียม แต่ไม่สามารถทดแทนนมโดยเฉพาะในเด็กได้ นมนอกจากแคลเซียมยังมีฟอสฟอรัส แมกนีเซียม วิตามินดี ซึ่งช่วยดูดซึมแคลเซียมบำรุงกระดูก สำหรับผู้ที่แพ้นมวัวควรเลือกอาหารที่มีโปรตีน เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ หรือถั่วเมล็ดแห้ง อาหารแคลเซียมสูง เช่น ปลาตัวเล็ก เต้าหู้ก้อน บรอกโคลี ผักกวางตุ้ง ฯลฯ เพื่อเป็นอาหารทางเลือกที่นำมาทดแทนนม
หน่วยงานที่ตรวจสอบ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข