จากกรณีมีเผยแพร่ข้อมูลว่าการกดเลื่อนนาฬิกาปลุกบ่อยๆ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และสมองเสื่อม ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า การกดเลื่อนนาฬิกาปลุกบ่อยๆ ไม่มีผลโดยตรงต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ หรือโรคสมองเสื่อม แต่การเลื่อนปลุกบ่อยๆ ก็เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพการนอนที่ไม่ดี จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี
วันนี้ (19 ม.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในประเด็นเรื่องการกดเลื่อนนาฬิกาปลุกบ่อยๆ เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ และสมองเสื่อม ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีที่มีการโพสต์ข้อมูลโดยระบุว่าแพทย์เตือน เลื่อนเวลาปลุกบ่อยๆ เสี่ยงโรคหัวใจ สมองเสื่อม ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า การกดเลื่อนนาฬิกาปลุกบ่อยๆ ไม่มีผลโดยตรงต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ หรือโรคสมองเสื่อม โดยปกติแล้วคนเราจะมีรอบการนอนประมาณเฉลี่ย 5-6 รอบต่อคืน กินระยะเวลาประมาณ 90-120 นาที โดยมีระดับการนอน 4 ระดับคือ การนอนหลับตื้นระดับ 1-2 (Non REM I-II) การหลับลึก (Non REM III) และการนอนหลับฝัน (REM) ซึ่งในสภาวะปกติ คนเราจะตื่นในช่วงหลังจาก REM ซึ่งจะตื่นง่าย แต่หากถูกปลุกในระยะที่เป็นหลับลึก (Non REM III) ก็จะตื่นยาก ซึ่งการเลื่อนนาฬิกาปลุก จะส่งผลต่อสุขนิสัยของการนอน ซึ่งจะส่งผลต่อความง่วงเหงาหาวนอนหรือความรู้สึกไม่สดชื่นในช่วงกลางวัน ปัญหาเหล่านี้สามารถจัดการได้ด้วยการปรับสุขนิสัยการนอน เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา การนอนหลับอย่างมีคุณภาพและสุขนิสัยที่ดี จะช่วยให้ร่างกายและการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ เป็นปกติ
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : แม้ว่าการเลื่อนปลุกบ่อยๆ จะไม่มีผลโดยตรงต่อระบบหัวใจและสมอง แต่ก็เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพการนอนที่ไม่ดี จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี
หน่วยงานที่ตรวจสอบ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข