บริษัทไปรษณีย์ไทย ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่มีการบริหารจัดการกำจัดอุปกรณ์ E-Waste อย่างถูกต้องและถูกวิธี ผ่าน 2 ขั้นตอนง่ายๆ คือ 1. เตรียม E-Waste ที่จะทิ้งใส่กล่อง พร้อมเขียนหน้ากล่อง “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์”2. ฝากทิ้ง กับบุรุษไปรษณีย์ที่มาส่งจดหมาย หรือพัสดุที่บ้าน
วันนี้ (23 ธ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ไปรษณีย์ไทย รับฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถึง 31 ธ.ค. 64 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) ถือเป็นอีก 1 ประเด็นที่หลายภาคส่วนต่างออกมารณรงค์ให้คนไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการทิ้งอย่างถูกที่ และถูกวิธี เพราะขยะประเภทนี้นอกจากจะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติแล้ว ยังปลดปล่อยสารพิษลงสู่สภาพแวดล้อม ซึ่งท้ายที่สุดก็จะย้อนกลับมาทำร้ายพวกเราได้อีกด้วย ที่ผ่านมา แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมาตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste แต่ก็อาจจะยังไม่ทั่วถึงอยู่ดี รวมถึงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ที่แม้จะทำให้เราควรต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติกันมากขึ้น แต่บริการรับ/ส่ง จดหมายหรือพัสดุจากไปรษณีย์ไทยไม่เคยหยุด นี่จึงเป็นที่มาของบริการ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับ บุรุษไปรษณีย์ นับเป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่าง เอไอเอส กับ ไปรษณีย์ไทย หลังจากร่วมกันตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ในโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” มาก่อนหน้านี้
ปัจจุบัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ในฐานะผู้ให้บริการด้านการขนส่งและการสื่อสารของชาติ และเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมทุกมิติ ในมิติสิ่งแวดล้อม ปณท ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดมาโดยตลอด ยึดหลัก 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle บริการ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ใช้แล้ว ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่มีการบริหารจัดการกำจัดอุปกรณ์ E-Waste อย่างถูกต้องและถูกวิธีอย่างเอไอเอส ผ่าน 2 ขั้นตอนง่ายๆ “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์” กับบุรุษไปรษณีย์
1. เตรียม E-Waste ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, สายชาร์จ, หูฟัง, พาวเวอร์แบงก์ และแบตเตอรี่มือถือ ให้พร้อม และนำใส่กล่อง พร้อมเขียนหน้ากล่อง “ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์”
2. ฝากทิ้ง กับบุรุษไปรษณีย์ ที่มาส่งจดหมาย หรือพัสดุ ที่บ้านได้เลย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจาก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.thailandpost.co.th หรือโทร. 1545
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม