จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในประเทศไทยมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะในต้นปี และปลายปี และจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร พบว่าค่า PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง จำนวน 15 สถานี อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงขอแนะนำประชาชนให้ป้องกันตนเอง และติดตามรับฟังข่าวสารอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (17 ธ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่อง พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง ให้ระวังผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศไทย ระหว่างปี 2560 – 2562 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานเฉพาะในช่วงต้นปี (เดือนมกราคมถึงเมษายน) และปลายปี (เดือนตุลาคมถึงธันวาคม) และจากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษร่วมกับกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 พบว่าค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง จำนวน 15 สถานี อยู่ระหว่าง 22-69 มคก./ลบ.ม (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยคาดว่าในช่วงนี้ (วันที่ 12-18 ธ.ค. 64) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง มีโอกาสได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองจากฝุ่น เช่น ผื่นคัน ตาอักเสบ ไอ จาม เจ็บคอ บางรายอาจมีเลือดกำเดาไหล เป็นต้น กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) และระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ควรลดการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากมีความจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ และโดยเฉพาะผู้ที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นเวลานาน และตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละออง สวมแว่นตา เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันฝุ่นด้วย และขอความร่วมมือประชาชนให้งดการเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนติดตามรับฟังข่าวสารและข้อมูลจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยติดตามสถานการณ์ค่า PM2.5 ได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง รวมถึงมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะประชาชนกลุ่มนี้ อาจเกิดอาการกำเริบได้ง่ายจากการสูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็ก หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจติดขัด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลโดยเร็ว
ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมโรค และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข