จากคำแนะนำรับประทานใบป่าช้าเหงาผสมน้ำผึ้ง ช่วยรักษาโควิด-19 ได้ ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่พบการศึกษาวิจัยใด ๆ ที่พบว่าใบป่าช้าเหงา ช่วยรักษาโควิด-19 และห้ามผู้ป่วยโรคโควิด-19 รักษาด้วยวิธีการนี้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย อีกทั้งไม่ควรใช้สมุนไพรตามข่าวลือที่เชื่อต่อกันมา โดยขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต
วันนี้ (11 ก.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีคลิปวิดีโอในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง รับประทานใบป่าช้าเหงาผสมน้ำผึ้ง ช่วยรักษาโควิด-19 ได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากคลิปวิดีโอที่กล่าวว่ารับประทานใบป่าช้าเหงาผสมน้ำผึ้ง สามารถช่วยรักษาคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้นั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่พบการศึกษาวิจัยใด ๆ ที่พบว่าใบป่าช้าเหงา หรือใบหนานเฉาเหว่ย ช่วยรักษาโควิด-19 และห้ามผู้ป่วยโรคโควิด-19 รักษาด้วยวิธีการนี้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากยังขาดข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย ประกอบกับโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรง ผู้ป่วยต้องอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ควรใช้สมุนไพรโดยข่าวลือที่เชื่อต่อกันมา โดยขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ซึ่งใบป่าช้าเหงา หรือ ใบหนานเฉาเหว่ย เป็นสมุนไพรที่มีรสขมเย็น จัดอยู่ในพืชตระกูลเดียวกับพญายอ ฟ้าทะลายโจร ช่วยลดการอักเสบ อาการปวด จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าใบป่าช้าเหงา มีการใช้ในการแพทย์พื้นบ้านทั่วไปทั้งในทวีปแอฟริกา อเมริกา จีน และทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยใช้รักษาโรคได้หลากหลาย การแพทย์พื้นบ้านภาคเหนือ ใช้เข้าตำรับยารักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคขาง โรคสาน (โรคที่มีก้อนเนื้อผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย) และใช้แก้พิษ เชื่อกันว่าเป็นสมุนไพรที่ทำให้คนเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังลดลง จนเป็นที่มาของชื่อ “ป่าช้าเหงา” หรือในภาษาเหนือเรียก “ป่าเฮ่วหมอง” ซึ่งการรับประทานที่หมอพื้นบ้านแนะนำ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงคือ ใบสด (ขนาดใหญ่) ให้กินวันละ 1 ใบ กินบ้างหยุดบ้าง เช่น วันเว้นวัน หรือ 2-3 วัน/ครั้ง ติดต่อไม่เกิน 1 เดือน และมีการศึกษาด้านเภสัชเวทของหนานเฉาเหว่ย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อสนับสนุนประโยชน์ทางยา ได้แก่ ฤทธิ์ต้านมาลาเรีย ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ในการถ่ายพยาธิ ฤทธิ์ต้านมะเร็งและความเป็นพิษต่อเซลล์ ฤทธิ์ต้านการเจริญพันธุ์ ฤทธิ์ยับยั้งการจับตัวของลิ่มเลือด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ฤทธิ์ในการป้องกันตับ และฤทธิ์ต้านเบาหวาน
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ขณะนี้ยังไม่พบการศึกษาวิจัยใด ๆ ที่พบว่าใบป่าช้าเหงา หรือใบหนานเฉาเหว่ย ช่วยรักษาโควิด-19
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข