กรณีการแชร์ข้อมูลโดยระบุว่าเป็นสูตรรักษาไอเรื้อรังจากวัณโรคปอดด้วยน้ำอ้อย ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า แม้ตามตำรายาไทยช่วยในเรื่องให้ความชุ่มชื้นบรรเทาอาการไอ แต่ยังไม่พบหลักฐานหรืองานวิจัยที่ระบุว่าอ้อยสามารถรักษาไอเรื้อรังจากวัณโรค
วันนี้ (9 ก.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อมูลปรากฎในสื่อออนไลน์ถึงเรื่องสูตรน้ำอ้อยรักษาอาการไอเรื้อรังจากวัณโรคปอด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการแชร์ข้อมูลโดยระบุว่าเป็นสูตรรักษาไอเรื้อรังจากวัณโรคปอดด้วยน้ำอ้อย ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่าคำแนะนำดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากตามตำรายาไทย “อ้อย” มีรสหวานขมชุ่ม ใช้แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้หืด ไอ แก้คลื่นไส้อาเจียน แต่ยังไม่พบหลักฐานงานวิจัยที่พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรควัณโรค รวมทั้งไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้อ้อยรักษาวัณโรคปอด
ทั้งนี้ วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เป็นอันตราย ผู้ป่วยวัณโรคระยะแสดงอาการ เป็นระยะที่แพร่เชื้อได้ง่ายควรได้รับการรักษาทันทีเมื่อเริ่มมีอาการ ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายขาดได้ และเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด การบ้วนน้ำลายหรือเสมหะทิ้งในภาชนะที่สามารถปิดปากภาชนะ และเผาทิ้งได้ ควรอยู่แต่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอก พักอาศัยในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรนอนร่วมห้องกับผู้อื่นในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ที่มีอาการ สวมหน้ากากอนามัยและปิดปากเวลาไอหรือจาม
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : แม้ตามตำรายาไทยช่วยในเรื่องให้ความชุ่มชื้นบรรเทาอาการไอ แต่ยังไม่พบหลักฐานหรืองานวิจัยที่ระบุว่าอ้อยสามารถรักษาไอเรื้อรังจากวัณโรค
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข