กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Optrix สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา ปรับปรุง และฟื้นฟูการมองเห็นได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Optrix มีการใช้ข้อความโฆษณาแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต และแอบอ้างชื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ตัวตนจริง รวมถึงไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อใดสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาหรือทำให้สายตาดีขึ้นได้
วันนี้ (17 มิ.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีคำแนะนำชวนเชื่อเรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Optrix สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา ปรับปรุง และฟื้นฟูการมองเห็นได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีโฆษณาชวนเชื่อสรรพคุณขายผลิตภัณฑ์โดยระบุว่าสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา ปรับปรุง และฟื้นฟูการมองเห็นได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ Optrix ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออพทริกซ์/ OPTRIX Dietary Supplement Product เลขสารบบอาหาร 11-1-18157-5-0071 และจากการตรวจสอบเว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Optrix ได้ระบุสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ว่า สามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตา ช่วยปรับปรุงและฟื้นฟูความสามารถทางการมองเห็น และป้องกันโรคเกี่ยวกับตาได้ อย. ตรวจสอบแล้วพบว่า เว็บไซต์ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว แสดงข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นเท็จ และมีการใช้ข้อความโฆษณาแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังพบมีการแอบอ้างชื่อบุคลากรทางการแพทย์(จักษุแพทย์) ในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาปัญหาทางสายตา โดยกล่าวว่าเป็นผู้รับรองผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่แท้จริงแล้วนั้น ไม่มีตำแหน่งทางการแพทย์ตามที่กล่าวอ้างในราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อีกทั้งชื่อแพทย์ตามที่กล่าวอ้างในเว็บไซต์ ไม่มีข้อมูลชื่อในฐานข้อมูลตรวจสอบรายชื่อแพทย์จากเว็บไซต์ของแพทยสภา และภาพชายที่อ้างว่าเป็นจักษุแพทย์ที่มีชื่อเสียงนั้น เป็นภาพชายที่เผยแพร่ทั่วไปอยู่บนอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อใดสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาหรือทำให้สายตาดีขึ้นได้ ขอให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุอย่าหลงเชื่อใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว อาจทำให้โรคตาที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้น อาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556 และสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : มีการใช้ข้อความโฆษณาแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังพบมีการแอบอ้างชื่อบุคลากรทางการแพทย์(จักษุแพทย์) รวมถึงไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อใดสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับดวงตาหรือทำให้สายตาดีขึ้นได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข