กรณีผลิตภัณฑ์พริ้มพราว แสดงสรรพคุณช่วยให้ช่องคลอดกระชับ และแก้ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ พริ้มพราว ได้ถูกยกเลิกเลขสารบบอาหารแล้ว เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม ผู้ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่อ้างเลขสารบบอาหารดังกล่าวจะมีความผิดตามกฎหมาย
วันนี้ (14 มิ.ย.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการจำหน่ายเกี่ยวกับ ผลิตภัณฑ์ พริ้มพราว ช่วยให้ช่องคลอดกระชับ และแก้ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ พลิ้มพราว และใช้ข้อความโฆษณาแสดงสรรพคุณว่าทำให้ฟิต เฟิร์ม กระชับ ไร้ตกขาว หน้าอกขยายใหญ่ ภายในกระชับ ขับน้ำคาวปลา บำรุงน้ำนม พุงยุบกระชับได้ แก้ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ในระบบสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ พบผลิตภัณฑ์ พริ้มพราว ขออนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พริ้มพราว/ Primphraw Dietary Supplement Product เลขสารบบอาหาร 13-1-07458-5-0245 ผลิตโดย บริษัท เซอร์วิส แพค แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และได้ถูกยกเลิกเลขสารบบอาหารแล้ว หากพบผลิตภัณฑ์แสดงเลขสารบบอาหารดังกล่าวในท้องตลาด เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอม ผู้ผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่อ้างเลขสารบบอาหารดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและปรับ ส่วนข้อความโฆษณาเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือสรรพคุณของอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากในการยื่นขออนุญาตไม่มีการยื่นข้อมูลเพื่อประเมินประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพ หรือหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1556 และสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผลิตภัณฑ์ พริ้มพราว ถูกยกเลิกเลขสารบบอาหารแล้ว หากพบผลิตภัณฑ์แสดงเลขสารบบอาหารดังกล่าวในท้องตลาดจะเป็นความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคแต่อย่างใด
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข