กรณีมีการแชร์ว่า “อย่ากลืนหมากฝรั่ง เพราะเสี่ยงหมากฝรั่งพันลำไส้” อย. ชี้แจงว่า การกลืนหมากฝรั่งคล้ายกับการกลืนอาหารธรรมดาทั่วไป หมากฝรั่งนั้นมีส่วนผสมที่ทำมาจากสารที่อยู่ในกลุ่มของยางสังเคราะห์ ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายด้วยน้ำย่อยในร่างกายได้ แต่หมากฝรั่งไม่สามารถไปพันลำไส้ได้ เพราะเมื่อหมากฝรั่งถูกกลืนลงไปแล้ว จะค่อยๆ เคลื่อนลงไปตามลำไส้ใหญ่ และถูกขับถ่ายออกมาในรูปแบบของอุจจาระ แต่การกลืนหมากฝรั่งก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะอาจจะติดคอได้
วันนี้ (23 ก.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่คำเตือน เรื่องกลืนหมากฝรั่ง ทำให้ลงไปพันลำไส้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีการแชร์ข้อความว่า “อย่ากลืนหมากฝรั่ง เพราะเสี่ยงหมากฝรั่งพันลำไส้” ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ชี้แจงว่า การกลืนหมากฝรั่งคล้ายกับการกลืนอาหารธรรมดาทั่วไป หมากฝรั่งนั้นมีส่วนผสมที่ทำมาจาก สารที่อยู่ในกลุ่มของยางสังเคราะห์ (Polyisobutylene) ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายด้วยน้ำย่อยในร่างกายได้ แต่หมากฝรั่งก็ไม่สามารถไปพันลำไส้ได้อย่างที่ใครหลาย ๆ คนบอก เพราะเมื่อหมากฝรั่งถูกกลืนลงไปแล้ว หมากฝรั่งจะค่อย ๆ เคลื่อนลงไปตามลำไส้ใหญ่ และถูกขับถ่ายออกมาในรูปของอุจจาระ
โดยหมากฝรั่งนั้น มีส่วนประกอบหลัก ได้แก่
1. สารที่อยู่ในกลุ่มของยางสังเคราะห์ (Polyisobutylene)
2. สารให้ความหวาน เช่น น้ำตาล ไซลิทอล (Xylitol) และ ซอร์บิทอล (Sorbitol)
3. สารแต่งกลิ่น (Flavoring agents)
4. สารกันเสีย (Preservatives) ซึ่งการกลืนหมากฝรั่งนั้นไม่ได้อันตรายอย่างที่หลายคนคิด แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะในเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะอาจทำให้เผลอกลืนหมากฝรั่งลงไปได้ และเสี่ยงที่หมากฝรั่งจะติดคอได้อีกด้วย
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร. 1556
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เมื่อหมากฝรั่งถูกกลืนจะค่อย ๆ เคลื่อนลงไปตามลำไส้ใหญ่และถูกขับถ่ายออกมาในรูปของอุจจาระ ไม่สามารถลงไปพันลำไส้ตามที่มีการแชร์