xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวบิดเบือน น้ำต้มลูกยอผสมขิง รักษาอาการมือ-เท้าชา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ขิงและลูกยอสามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตได้ดี แต่ยังไม่พบการศึกษาที่ยืนยันประสิทธิผลของขิงและลูกยอในรูปแบบการกิน เพื่อรักษาอาการชาปลายมือปลายเท้า ทั้งยังไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป

วันที่ 26 มิ.ย. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อความปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องน้ำต้มลูกยอผสมขิง รักษาอาการมือ-เท้าชา ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากสูตรยาสมุนไพรที่นำลูกยอและขิงมาต้มดื่ม เพื่อรักษาอาการมือ เท้าชา ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่าขิงและลูกยอเป็นสมุนไพรที่มีรสร้อน สามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตได้ดี ใช้ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ แต่ยังไม่พบการศึกษาที่ยืนยันประสิทธิผลของขิงและลูกยอในรูปแบบการกิน เพื่อรักษาอาการชาปลายมือปลายเท้า ทั้งยังไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป

ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยพบว่าขิง มีสารสำคัญชื่อ 6-gingerol มีฤทธิ์ลดการอักเสบ อาจช่วยลดความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น โดยพบว่ามีการนำขิงมาผลิตเป็นยาใช้ภายนอกเพื่อแก้อาการกล้ามเนื้ออักเสบ หรืออาการชาปลายเท้าร่วมกับการนวดแล้วมีประสิทธิผลต่อการรักษา แต่ยังไม่มีการยืนยันประสิทธิผลในรักษาอาการชาปลายมือปลายเท้า ด้านลูกยอ ช่วยแก้อาการอาเจียนได้ดี พบว่ารากและผลมีฤทธิ์ระงับความปวด แต่เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่พบการศึกษาวิจัยในมนุษย์

โดยอาการมือชาเท้าชา มีหลากหลายสาเหตุ เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทรับความรู้สึก สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นนิ้ว มือ แขน ขาหรือเท้า เป็นอาการที่รู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หรือเย็นน้อยกว่าปกติ หรือไม่มีความรู้สึกเลย บางคนอาจรู้สึกซ่า ๆ หรือเจ็บจี๊ด ตามปลายมือปลายเท้าด้วยก็ได้ หรือจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการตลอดเวลาก็ได้เช่นกัน ควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพื่อค้นหาสาเหตุและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02-591-7007


กำลังโหลดความคิดเห็น