xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวบิดเบือน! กดค้างหรือบีบนวดบริเวณแก้มแรง ทำให้เกิดอาการปากเบี้ยวได้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




กรณีที่มีข้อความระบุว่า การนวดบริเวณแก้ม หรือด้านข้างขมับ ต้องเบามือ หากกดค้าง หรือบีบแรง จะทำให้ปากเบี้ยว หรือกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าประเด็นดังกล่าว เป็นข้อมูลบิดเบือน

วันที่ 29 พ.ค. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีข้อความปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง กดค้างหรือบีบนวดบริเวณแก้มแรง ทำให้เกิดอาการปากเบี้ยวได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สถาบันประสาทวิทยาพบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

จากกรณีที่มีข้อความระบุว่า การนวดบริเวณแก้ม หรือด้านข้างขมับ ต้องเบามือ หากกดค้าง หรือบีบแรง จะโดน block facial nerve บางทีก็ปากเบี้ยว หรือกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงได้ ทางสถาบันประสาทวิทยา ได้ชี้แจงประเด็นนี้ว่า การกด นวด บริเวณใบหน้า โดยทั่วไปไม่มีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บ เพราะเส้นประสาทอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ซึ่งจะมีส่วนของกล้ามเนื้อและไขมันปกป้องและช่วยลดแรงกระทำจากภายนอกอยู่แล้ว ส่วนการกดนานแล้วเริ่มรู้สึกชา หรือมีอาการคล้ายจะเป็นเหน็บนั้นเกิดขึ้นได้ และควรหยุดการกดเพื่อให้เกิดการไหลเวียน

อีกทั้งคำอธิบายว่าแต่ละสี เป็นเส้นประสาท เส้นเลือด เป็นคำอธิบายทีคลาดเคลื่อน เพราะทั้งหมดเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 แต่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อและรับรสที่ลิ้น

ซึ่ง Facial nerve หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จะวิ่งผ่านกะโหลกศีรษะบริเวณด้านหน้าใบหู มาเลี้ยงบริเวณใบหน้า ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า รับรส และควบคุมกล้ามเนื้อควบคุมเยื่อแก้วหู การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุกระแทกอย่างแรก เช่น การทุบ กระแทกรุนแรง สามารถทำให้เส้นประสาทอักเสบเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก และหลับตาข้างเดียวกันไม่สนิท อาจจะมีอาการชาลิ้น และรู้สึกมีเสียงดังก้องในหูหรือหูอื้อๆ ได้ตามหน้าที่ของเส้นประสาท

นอกจากนี้การอักเสบของเส้นประสาทคู่ที่ 7 ภายหลังการติดเชื้อไวรัส หรือมีอักเสบติดเชื้อโดยตรงที่เส้นประสาทก็ทำให้มีอาการดังกล่าวข้างต้นได้

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา สามารถติดตามที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02 3069899


กำลังโหลดความคิดเห็น