หนังซอมบี้ นับเป็นหนังอีกตระกูลที่ได้รับความนิยมจากคนดูอย่างเหนียวแน่นและมีการผลิตขึ้นมาไม่เว้นแต่ละปี โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 20 หรือตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา แทบจะเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคทองของ “ซอมบี้” ที่สตูดิโอใหญ่ ๆ ต่างพร้อมใจกันลงทุน และมีซอมบี้วิ่งมาจากมากมายหลายชาติ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ผู้กำกับ “แดนนี่ บอยล์” ส่งฝูงซอมบี้วิ่งไล่กัดคนอย่างบ้าคลั่งในเรื่อง 28 Days Later เมื่อปี 2002 จากนั้นสตูดิโอใหญ่ ๆ ต่างก็พากันเทงบให้กับการสร้างหนังซอมบี้ เช่น หนังบล็อกบัสเตอร์ที่นำเอาดาราดังอย่างแบรด พิตต์ มาวิ่งหนีฝูงซอมบี้เป็นกองทัพในเรื่อง World War Z เช่นเดียวกับซีรีส์ The Walking Dead ที่ฮิตติดลมบนจนมีการทุ่มทุนสร้างต่อมาหลายซีซั่น
ขณะเดียวกัน ก็มีหนังซอมบี้หลากรสชาติมาให้รับชม ไม่เฉพาะพวกเน้นความสยองหรือแอ็กชั่น อย่าง Resident Evil หรือซอมบี้เกาหลีอย่าง Train to Busan แต่ยังมี Shaun of the Dead และ Zombieland ที่เน้นความตลกเป็นหลัก หรือหนังซอมบี้ที่มากด้วยอารมณ์ขันจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้รับการยกย่องในความช่างคิด อย่าง One Cut of The Dead
แน่นอนว่า ถ้าพูดหนังซอมบี้ในทศวรรษ 2000 คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่เอ่ยถึง Dawn of the Dead เมื่อปี 2004 ซึ่งนำเอาหนังซอมบี้สุดคลาสสิกของผู้กำกับ “จอร์จ เอ. โรเมโร” มาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ จนกลายเป็นผลงานแจ้งเกิดของ “แซ็ค ซไนเดอร์” ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ขณะที่ “เจมส์ กันน์” ซึ่งเขียนบทให้กับหนัง ก็ได้รับการจับตามอง ก่อนที่ทั้งสองจะก้าวขึ้นมาเป็นคนทำหนังเบอร์ต้น ๆ ของฮอลลีวูดในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี ในปี 2004 ปีเดียวกันนั้น ขณะที่ Dawn of the Dead เล่นกับความลุ้นระทึกแบบหนัง Survival เอาตัวรอดจากฝูงซอมบี้ผีดิบ และหนังซอมบี้ Shaun of the Dead เน้นขายความฮาน้ำตาเล็ด ประเทศไทยของเราก็ได้ให้กำเนิดหนังซอมบี้เรื่องหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นตำนานอีกเรื่องไปแล้ว ณ ปัจจุบัน นั่นก็คือ “ขุนกระบี่ ผีระบาด” ซึ่งจะครบรอบ 20 ปีในช่วงเดือนธันวาคมนี้
หนังเรื่องนี้กำกับโดย “ทวีวัฒน์ วันทา” ซึ่งถ้าแนะนำกันอย่างรวบรัดเข้าใจง่ายที่สุดก็คือ เขาเป็นผู้กำกับหนังสยองขวัญเรื่อง “ธี่หยด” ที่ทำเงินถล่มทลายไปหลายร้อยล้านบาทเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา และกำลังจะมีภาค 2 ตามมาในช่วงเดือนตุลาคม 2567 นี้
ที่มาของผลงานชิ้นนี้นับว่ามีความน่าสนใจและเป็นประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหน้าของวงการบันเทิงไทย เพราะ “ขุนกระบี่ ผีระบาด” มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นผลงานประกวดในโครงการ Fat Film ของ Fat Radio ซึ่งเป็นเวทีของคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ ผู้กำกับดัง ๆ หลายคนก็เคยผ่านการประกวดในเวทีนี้มาแล้ว เช่น วิทยา ทองอยู่ยง หนึ่งในหกผู้กำกับแฟนฉัน และ บรรจง ปิสัญธนะกุล ผู้กำกับหนังชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, แฝด และ ร่างทรง ฯ และทวีวัฒน์ วันทา ก็คือหนึ่งในนั้น ซึ่งงานของเขาได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากเพลง “ขุนกระบี่” ของวง “แคนตารูท”
สำหรับคนที่ชอบดูหนังซอมบี้ คงจะรู้ประวัติศาสตร์ของหนังซอมบี้ว่ามีจุดเริ่มต้นมาอย่างไร ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ปี 1932 ที่ซอมบี้เกิดจากลัทธิโบราณอย่างลัทธิวูดู (White Zombi , 1932) ก่อนมาถึงยุคของจอร์จ เอ. โรเมโร ที่รื้อขนบเก่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดของซอมบี้ แล้วให้ซอมบี้เป็นผีดิบกินคนไปเลยพร้อมทั้งวิพากษ์ทุนนิยมได้เจ็บ ๆ (Night of the Ling Dead , 1968) จากนั้นจึงมี “แซม ไรมี่” ที่ทำ The Evil Dead (1980) ใช้ความเชื่อในเรื่องคำสาปจากคัมภีร์มรณะเป็นจุดกำเนิดของซอมบี้ ขณะที่ยุคหลัง ๆ ก็มีการเสกสร้างจุดกำเนิดซอมบี้ต่าง ๆ กันไป
และในเรื่อง “ขุนกระบี่ ผีระบาด” ก็มีการนำเอาเรื่องเชื้อโรคมาเป็นปฐมบทในการสร้างซอมบี้ นั่นคือเชื้อโรคซาร์ส ที่ระบาดหนักในหลายประเทศเมื่อปี 2003 ซึ่งประเทศไทยก็ขวัญผวากับเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งหนังขุนกระบี่ฯ ก็หยิบเอามาเป็นมวลสารตั้งต้นในการแต่งเรื่องที่ต้องบอกว่า ฮาหลุดโลก แถมมีการตั้งชื่อภาษาอังกฤษได้สุดเท่ว่า Sars War อันเป็นการล้อกับชื่อหนัง Star Wars ได้อย่างลงล็อก (แม้จะไม่มีอะไรเกี่ยวกันเลยก็ตาม!)
ถ้าพูดแบบไม่เกินเลยความจริงไปนัก ก็คงต้องบอกว่า ขุนกระบี่ ผีระบาด มาพร้อมกับเรื่องราวที่ดูจะมองหาเหตุผลและความเป็นไปได้ไม่ได้เลย เรียกว่าหลุดโลกก็คงจะน้อยไป พูดว่าบินออกไปนอกจักรวาลความเป็นจริงไปเลยก็คงจะเหมาะสม ดั่งเรื่องราวในการ์ตูนที่อะไร ๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เรื่องที่ดำเนินไปในแต่ละฉากแต่ละซีนก็สุดลิ่มทิ่มจินตนาการ เหนือความคาดเดา ขณะที่การกระทำของตัวละครแต่ละตัว ก็พูดได้ว่า เพี้ยน ๆ และบ้า ๆ บอ ๆ แบบชวนให้ขำ
ทั้งป๋าเทพ โพธิ์งาม ทั้งต๊อก ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ อาจารย์กับศิษย์ล้วนพากันแต่งเติมความตลกให้กับหนังได้เป็นอย่างดี รวมถึงบอลลูน-พินทุ์สุดา ตันไพเราะห์ ที่มาแบบฮาไม่ห่วงสวย และใครที่ได้ดู ก็คงไม่มีวันลืม “กระบี่ชาเขียว” ของจอมยุทธ์หนุ่ม รวมทั้งกระบวนท่า “มังกรกินหมี่” “ชะนีกินกล้วย” ไปจนถึง “มังกรทิ้งดิ่ง” ที่ตอนดูก็คิดในใจว่า คิดได้ยังไง(วะ)ครับ
เอาเข้าจริง ถ้าจะบอกว่านี่เป็น “ทางถนัด” อย่างหนึ่งของทวีวัฒน์ วันทา ที่มักจะมาพร้อมพล็อตแบบหลุดโลกก็ว่าได้ เพราะอีกเรื่องคือ “อสุจ๊าก” ก็มาในฟีลคล้าย ๆ กัน คือ มหัศจรรย์พันลึกช่างนึกและคิดไปได้!
น่าเสียดายอยู่อย่าง คือหนังเรื่องนี้ไม่ทำเงินมากนัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่เชื่อเถิดว่า นี่คือหนังไทยที่ตลกที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งในวาระที่หนังซอมบี้ไทยเรื่องล่าสุดอย่าง “ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ” ของก้องเกียรติ โขมศิริ กำลังจะเข้าฉาย และณเดชย์ คูกิมิยะ จะไล่ฟัดผีอีกรอบใน “ธี่หยด 2” การหวนระลึกนึกถึงผลงานอีกชิ้นหนึ่งของผู้กำกับคนนี้ ก็นับเป็นวาระที่ประเสริฐและบันเทิงยิ่ง!