xs
xsm
sm
md
lg

ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว : จะ ‘วิสัชนา’ ให้รู้แจ้ง หรือฟาดด้วย ‘ไม้เรียวศีลธรรม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



ในยุคที่ทุกคนสามารถพูดเรื่องเพศได้อย่างไม่เคอะเขินปิดบังอย่างในปัจจุบัน และยิ่งช่องทางสื่อโซเชียลเปิดกว้าง แม้แต่เหล่าดาราคนดังก็พากันทำรายการสนทนา “เรื่องอย่างว่า” กันแบบโจ๋งครึ่ม แต่รู้หรือไม่ว่า ย้อนเวลากลับไปไม่กี่สิบปีก่อน ในประเทศเดียวกันนี้เอง “เรื่องบนเตียง” ต้องอยู่เพียงในห้องหับมิดชิดหรือในความมืดมิดของค่ำคืน และเรื่องใต้ร่มผ้าต้องเก็บซ่อนไว้ จะพูดคุยเปิดเผยมิได้

“ดอกเตอร์ไคลแมกซ์” พาคนดูย้อนกลับไปในช่วงเวลาเหล่านั้น ซึ่งถ้าจะว่ากันตรง ๆ ก็คือ สังคมไทยในช่วงปี พ.ศ.2521 ซึ่งแม้จะเริ่มมีการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาในชั้นเรียนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่ทว่าความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศของคนส่วนใหญ่ สามารถกล่าวได้ว่าอยู่ในระดับขั้น “ยังอ่อนเดียงสา” ขณะที่ปัญหาหรือความสงสัยหลายอย่างที่เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศหรือเรื่องบนเตียง ก็ทำได้แค่เพียง “สงสัยใคร่รู้” แต่ไม่รู้จะไปหาความรู้จริงจากที่ไหน อย่าว่าแต่จะกล้าเดินเข้าไปขอคำตอบได้จากใคร

และนั่นก็คือปฐมบทที่มาของคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศที่ชื่อว่า “ปุจฉาพาเสียว” ในหนังสือพิมพ์บางกอกทันข่าว ด้วยสโลแกนแนวคิด ที่มุ่งเน้นให้คำตอบ ต่อ “คำถามที่ทุกคนอยากรู้ แต่ไม่มีใครกล้าถาม”...


“ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว” เป็นซีรีส์ที่สตรีมทางเน็ตฟลิกซ์ ความยาว 8 ตอนจบ ตอนละประมาณหนึ่งชั่วโมง รวม ๆ แล้วก็ 8 ชั่วโมง และเป็น 8 ชั่วโมงที่มีอะไรให้เก็บเกี่ยว เกาะติด และคิดตาม หลากแง่หลายมุม ส่วนในมุมของการเป็นสื่อบันเทิง ก็ต้องยอมรับว่า “ดอกเตอร์ไคลแมกซ์” มีหลากรสหลายอารมณ์ให้เสพสม ทั้งตลก ดราม่า สุขสม และขมขื่น และอื่น ๆ อีกมากมาย ขณะที่แต่ละตอน ซีรีส์ได้นำศัพท์เทคนิคทางการเพศมาตั้งเป็นชื่อตอน ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความรู้ (Educate) แก่คนดูได้เกิดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมต่าง ๆ ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ หรือความหลากหลายของรสนิยมทางเพศ เช่นเดียวกับที่ช่วยปลดเปลื้องความสงสัยและความเข้าใจแบบผิด ๆ ให้กับตัวละครในเรื่องไปด้วยในขณะเดียวกัน

ซีรีส์เรื่องนี้ เขียนบทและกำกับโดย “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” และ “ไพรัช คุ้มวัน” ซึ่งคนหลังนี้เคยทำหนังสยองขวัญผสานดราม่าดี ๆ อย่าง “สยามสแควร์” มาแล้ว ขณะที่คงเดช จาตุรันต์รัศมี คงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ เพราะผลงานที่ผ่านมาของเขาทั้งในบทบาทการเขียนบทและกำกับภาพยนตร์อยู่ในความทรงจำและความรักของคนดูหนังจำนวนไม่น้อย และที่สำคัญ เป็นคงเดชคนนี้นี่เองที่เคยทำหนังเรื่อง “สยิว” ไว้เมื่อปี 2546 โดยหนังเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับนิตยสารปลุกใจเสือป่าซึ่งได้รับความนิยมสูงมากในกาลก่อน (เหตุการณ์ในหนังตั้งใจให้เกิดในปี 2535 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ)


“สยิว” คือการบันทึกประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหน้าของสังคมไทยในยุคสมัยที่คนส่วนหนึ่งเสพความรื่นรมย์ทางเพศผ่านสื่อกระดาษ โดยหนึ่งในไฮไลต์ที่หนังได้เอ่ยถึง คือคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศในนิตยสารเล่มดังกล่าว ซึ่งถ้าจะพูดกันตรง ๆ ก็คือ มันอ้างอิงจากพื้นฐานความจริงอย่างไม่อาจปฏิเสธ เพราะสำหรับผู้อ่านยุคนั้นคงเชื่อมโยงได้ว่า คอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศที่หนังหยิบมาเอ่ยถึงนั้น มีแบบเบ้ามาจากเรื่องจริงของยุคนั้น ... เพียงแต่ในหนัง “สยิว” อาจจะยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่สำหรับซีรีส์ “ดอกเตอร์ไคลแมกซ์” จัดหนักจัดเต็ม

ในระยะที่ใกล้ที่สุด ซีรีส์เรื่องนี้พาเราไปส่องดูการเกิดขึ้นของคอลัมน์ “ปุจฉาพาเสียว” โดย “ดร.ไคลแมกซ์” ซึ่งเป็นนามปากของหมอนัท ที่เป็นหมอด้านผิวหนังและกามโรค แต่เดิมหมอนัทมีความฝันที่จะเป็นนักเขียนนวนิยายผจญภัยโดยมีรุ่นพี่อย่าง “ทองเทียน” เป็นแรงบันดาลใจ แต่สุดท้ายเขาต้องมาเริ่มต้นบนเส้นทางน้ำหมึกด้วยการตอบปัญหาทางเพศ อย่างไรก็ตาม คอลัมน์นี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างรวดเร็วอย่างเป็นปรากฏการณ์ ยอดขายหนังสือพิมพ์บางกอกทันข่าวที่กำลังอ่อนตัว ไล่หลังคู่แข่ง ก็กลับแข็งตัวขึ้นมาด้วยคอลัมน์นี้


อย่างไรก็ดี การดีดตัวขึ้นมาของคอลัมน์นี้ก็กลายเป็นที่จับจ้องของผู้มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะ “หมอพรชัย” ส.ส.ผู้ประกาศตัวว่าเป็นผู้เทิดทูนศีลธรรมสูงส่งไว้เหนือจิตเหนือใจ เขาเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้พิทักษ์ศีลธรรมอันดีตามค่านิยมดั้งเดิมที่มีคำว่า “ความดีงาม” เป็นคำกล่าวอ้าง ดังนั้น เมื่อเขาเห็นคอลัมน์ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ฮอตฮิตติดลมบน ก็พานกังวลแทนชาวบ้านชาวเมือง หวั่นเกรงว่าคอลัมน์นี้จะดึงสังคมลงต่ำ จึงพยายามไล่ล่าหาคำตอบและกระชากหน้ากากตัวตนที่แท้จริงของดอกเตอร์ไคลแมกซ์

นี่คือเส้นเรื่องหลักของซีรีส์ที่ยึดโยงไว้ให้เป็น “แกนกลาง” เพื่อให้เรื่องราวเดินทางไปข้างหน้า ซึ่งมีรายละเอียดและแง่มุมปลีกย่อยอีกมากมายให้ซึมซับ ภายใต้โครงเรื่องหลักที่ว่าด้วยกันปะทะกันระหว่างค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมและแนวคิดแบบใหม่ ความสนุกส่วนหนึ่งในการรับชมซีรีส์จึงคือการท่องไปในโลกแห่งความคิดและค่านิยมในยุคนั้นที่บางสิ่งอาจะจะเลือนจางไปแล้วในยุคนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ยังคงเลื่อนไหลมาจนปัจจุบัน เรายังคงเห็นตัวละครอย่างหมอพรชัยโลดแล่นเอาไม้เรียวแห่งศีลธรรมไล่หวดคนอื่นอยู่เรื่อย ๆ คอยกำหนดกฎเกณฑ์และตีกรอบความดีความงามว่า “ควร” หรือ “ต้อง” เป็นเช่นไร “เพศ” ควรจะมีแค่สอง พ้นจากนี้คือวิปริตวิตถาร หรือ “เรื่องเพศ” ควรจะคุยกันอย่างลับ ๆ

แน่นอนว่า เมื่อมองตัวละครหมอพรชัย เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่คือตัวแทนแห่งอำนาจรัฐรูปแบบหนึ่ง เป็นอำนาจรัฐที่กำหนดว่าประชาชนควรหรือไม่ควรพูดอะไรได้บ้าง ขณะที่การสอนเพศศึกษาในโรงเรียนที่รัฐเป็นผู้ออกแบบ ก็ไม่สามารถแก้โจทย์ความสงสัยได้ครอบคลุม แต่เมื่อมีคนให้ความรู้ “นอกตำรา” เกิดขึ้นมา ก็เป็นธรรมดาที่อำนาจรัฐต้องจัดการโดยมีฐานที่มั่นที่จับยึด นั่นก็คือ “ศีลธรรมอันดีงาม” อันผู้ใดจะปฏิเสธมิได้


...ท่ามกลางองค์ประกอบที่ดีในทุกส่วน ทั้งงานโปรดักชันที่พิถีพิถัน เก็บเกี่ยวเสน่ห์แห่งบรรยากาศและบริบทสังคมยุค 70 ปลาย ๆ มาให้คนดูย้อนระลึกนึกถึง ขณะที่การแสดงของดาราทุกคนในเรื่องก็ดีงามไม่มีอะไรให้ติดขัด ทุกคนเจิดจรัสในบทบาทของตัวเอง และคงรู้สึกดีที่ได้มีโอกาสร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพชิ้นนี้ขึ้นมา

ท่ามกลางองค์ประกอบทั้งหมดดังกล่าว หนึ่งในสิ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้สื่อสะท้อนออกมาได้อย่างชวนให้ปุจฉาและวิสัชนาก็คือ ใช่หรือไม่ว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราต่างเจ็บปวดล้มลุกคลุกคลานและทำร้ายกันมามากจากความไม่เข้าใจและไม่เปิดใจในเรื่องเพศ

ดังนั้นแล้ว การเกิดขึ้นของ “ดอกเตอร์ไคลแมกซ์” จึงตีแสกหน้าแบบตรง ๆ ว่าสังคมยังขาดองค์ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเพศ อันเป็นต้นตอสาเหตุแห่งปัญหาหลายอย่างตามมา การวิสัชนาคำถามจากผู้อ่านที่ส่งเข้ามา จึงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ส่องเข้าไปในโลกอันมืดมนใบนั้น แม้จะถูกมองด้วยสายตาแห่งอคติจากคนจำนวนหนึ่งก็ตามที















กำลังโหลดความคิดเห็น