xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประวัติสมณะโพธิรักษ์ ผู้นำทางจิตวิญญาณสันติอโศก มรณภาพโรคชรา สิริอายุ 90 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดประวัติ สมณะโพธิรักษ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณของสันติอโศก ชาวศรีสะเกษ จบโรงเรียนเพาะช่าง เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นำคณะกลุ่มชาวอโศกก่อตั้งชุมชนบุญนิยม พุทธสถานสันติอโศก ย่านนวมินทร์ เกิดองค์กรและชุมชนเครือข่ายพึ่งตนเอง และบทบาททางการเมืองในการชุมนุมต่างๆ

วันนี้ (11 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า สมณะโพธิรักษ์ ผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณของสันติอโศก ได้มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 06.40 น. ที่ผ่านมา สิริอายุได้ 90 ปี ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า สมณะโพธิรักษ์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยอาการปอดอักเสบ กระทั่งออกจากโรงพยาบาล กลับราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา

สำหรับสมณะโพธิรักษ์ มีชื่อจริงว่า "มงคล รักพงษ์" เกิดเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2477 ที่จังหวัดศรีสะเกษ บิดาเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก มารดาประกอบอาชีพที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพฯ ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "รัก รักพงษ์" ระหว่างนั้นทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ไปด้วย เมื่อจบการศึกษาได้เข้าทำงานที่บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ในปี 2501 เป็นผู้จัดรายการเด็ก รายการการศึกษา และรายการวิชาการต่างๆ และเป็นครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียนต่างๆ เมื่อมารดาเสียชีวิตลง นายรักได้รับภาระเลี้ยงดูน้องทั้ง 6 คนให้เรียนจนจบตามความต้องการ

นายรัก รักพงษ์ มีความสามารถในศิลปะการประพันธ์ ทั้งเรื่องสั้น สารคดี บทกวี บทเพลง โดยเฉพาะ เพลง "ผู้แพ้" ซึ่งประพันธ์สมัยที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่าง ได้รับความนิยมสูงสุดในสมัยนั้น (พ.ศ. 2497-2498) เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องโทน เช่น เพลงฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เพลงชื่นรัก เพลงกระต่ายเพ้อ ก็ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน เคยสนใจเรื่องไสยศาสตร์อยู่ระยะหนึ่ง มีคนนิยมมาก กระทั่งได้หันมาศึกษาพุทธศาสนาอย่างเอาจริงเอาจัง และได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดมา สามารถเลิกละอบายมุข โลกธรรม กามคุณ รับประทานอาหารมังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ

เมื่อเกิดความมั่นใจแล้ว จึงอุปสมบทที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ในคณะธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2513 ได้รับฉายาว่า "พระโพธิรักขิโต" โดยมีพระราชวรคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัด สงบสำรวม เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส มีผู้มาขอศึกษาปฏิบัติตามทั้งฆราวาสและนักบวชจากคณะธรรมยุต และมหานิกาย ต่อมาพระราชวรคุณ ไม่ต้องการให้พระฝ่ายมหานิกายมาศึกษาอยู่ร่วมด้วย พระโพธิรักษ์จึงเข้ารับการสวดญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2516

พระโพธิรักษ์มุ่งสารธรรมเป็นใหญ่ ไม่ติดใจเรื่องนิกาย จึงมีพระทั้งมหานิกายและพระธรรมยุต ที่มีปฏิปทาเป็น “สมานสังวาส” กัน มาร่วมศึกษาปฏิบัติอยู่ด้วย โดยยึดถือธรรมวินัยเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้พระอุปัชฌาย์ทางฝ่ายธรรมยุตไม่พอใจ พระโพธิรักษ์จึงคืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุตไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2516 ถือแต่ใบสุทธิฝ่ายมหานิกายเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีพระจากทั้งสองนิกายอยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วย เพราะพระโพธิรักษ์ไม่รังเกียจนิกายใดๆ มุ่งหมายทำงานเพื่อพระศาสนา เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ให้ผิดพระวินัยเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติที่เคร่งครัด เช่น การฉันอาหารมังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ ไม่ใช้เงินทอง นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก มีชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีการเรี่ยไร ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์ ไม่ใช้การบูชาด้วยธูปเทียน และไม่มีไสยศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากพระสงฆ์ในมหาเถรสมาคม ที่มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ทำให้บางครั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพระนอกรีต การทำงานด้านศาสนาได้รับอุปสรรคตลอดมา พระโพธิรักษ์และคณะจึงประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2518 แต่เมื่อถูกพิพากษาว่าไม่สามารถเรียกขานตนเองว่าเป็นพระได้ จึงเรียกตนเองว่า "สมณะ" แทน แต่ยังคงปฏิบัติเคร่งครัดเหมือนเดิม

จากนั้นสมณะโพธิรักษ์ได้นำคณะที่เรียกว่า "กลุ่มชาวอโศก" สร้างชุมชนบุญนิยมขึ้น และก่อตั้งพุทธสถานสันติอโศก ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2519 เดิมเป็นเรือนทรงไทยหลังใหญ่ ที่มีนางสันติยา (กิติยา) วีระพันธุ์ เป็นเจ้าของ ได้ถวายไว้ตั้งแต่ปี 2515 มีอาณาเขตติดกับเขตชุมชนบุญนิยมของฝ่ายฆราวาส ที่ผ่านมาเรือนทรงไทยหลังใหญ่ได้ใช้ประโยชน์เรื่อยมา กระทั่งชำรุดทรุดโทรม จึงได้รื้อเรือนทรงไทยหลังใหญ่และก่อสร้างวิหารพันปี เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ กระทั่งในปี 2546 สมณะโพธิรักษ์ พร้อมหมู่สงฆ์และชาวชุมชนอโศก ร่วมกันซื้อที่ดินด้านหน้าพุทธสถานสันติอโศก ตั้งแต่ทาวน์เฮาส์หน้าพุทธสถานฯ ถึงอาคารพาณิชย์ริมถนนนวมินทร์ เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ภายใต้โครงการร่วมบุญปฐพีพุทธ วิหารพันปีเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันพุทธสถานสันติอโศก มีพื้นที่ประมาณ 13 ไร่เศษ

นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งองค์กรในชุมชนบุญนิยมสันติอโศก รวม 8 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิธรรมสันติ กองทัพธรรมมูลนิธิ สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมทัศน์สมาคม มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา สมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม และมูลนิธิบุญนิยม เกิดกลุ่ม เกิดชุมชนเครือข่ายเป็นชุมชนพึ่งตนเองแบบครบวงจร รวมทั้งเกิดพุทธสถานและชุมชนบุญนิยม 9 แห่ง ได้แก่ พุทธสถานสันติอโศก เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ, พุทธสถานปฐมอโศก อ.เมือง จ.นครปฐม, พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ, พุทธสถานศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์, พุทธสถานสีมาอโศก อ.เมือง จ.นครราชสีมา, พุทธสถานราชธานีอโศก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี, พุทธสถานภูผาฟ้าน้ำ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่, สังฆสถานทะเลธรรม อ.เมือง จ.ตรัง และ สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

ในทางการเมือง มีการก่อตั้ง "พรรคเพื่อฟ้าดิน" มีคำขวัญว่า “เศรษฐกิจพึ่งตน ชุมชนเข้มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศมีไท” โดยก่อนหน้านี้ สมณะโพธิรักษ์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังธรรม ร่วมกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในปี 2531 ได้รับความนิยมสูงสุดจากพื้นที่กรุงเทพมหานครในปี 2535 ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ตระบัดสัตย์ จึงนำพาผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 การชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2549 และปี 2551 การชุมนุมของกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ในปี 2556 การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2556-2557 และล่าสุด การชุมนุมของเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฎิรูปประเทศไทย (คปท.) Saveกระบวนการยุติธรรม ในปี 2567 เรียกร้องให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร กลับมาติดคุก เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น