กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งสำหรับ น.ส.ฐิตินาถ ณ พัทลุง หรือ ครูอ้อย หลังเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่เจ้าตัวเป็นโจทก์ฟ้องสื่อในเครือผู้จัดการ ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาพร้อมเรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวน 5,052,777 บาท
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เจ้าตัวฟ้องร้องนั้นก็มาจากความไม่พอใจการนำเสนอข่าวประเด็นเรื่อง “รวมคนดังชีวิตหวิดพังเพราะเข็มทิศ” ของสื่อในเครือผู้จัดการ ซึ่งให้รายละเอียดถึงคนบันเทิงที่เคยตกเป็นข่าวเกี่ยวกับครูอ้อยหลายต่อหลายคน อาทิ ครูเงาะ รสสุคนธ์ อุ๋ย บุดดาเบลส, เอ๋ มณีรัตน์ รวมถึง กาละแมร์ พัชรศรี ฯ
อ้อย ฐิตินาถ อาจจะมีชื่อเสียงโด่งดังจากในการออกหนังสือ How to ที่มีชื่อว่าเข็มทิศชีวิตตั้งแต่ปี 2547 แต่กระนั้นที่ทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับเจ้าตัวจริงๆ ก็เห็นจะเป็นการต่อยอดหนังสือดังกล่าวด้วยธุรกิจการจัดสัมนาและฝึกอบรมคอร์สอบรมสัมนาในนามของบริษัทเข็มทิศความสุข จำกัด ซึ่งในช่วงพีคๆ นั้นว่ากันว่า บริษัทของเธอสามารถทำรายได้จากธุรกิจตรงนี้อย่างเดียวเฉียด 100 ล้านบาท
นอกจากออกหนังสือ, ขายคอร์สฝึกอบรมแล้ว อ้อย ฐิตินาถ ยังได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจอสังหาและนักเล่นหุ้นคนหนึ่ง โดยที่ผ่านมาเคยมีการประเมินตัวเลขในสินทรัพย์ทั้งหมดของครูอ้อยนั้นน่าจะมีมูลค่าที่สูงถึงหมื่นล้านบาทกันเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าข่าวคราวของเจ้าตัวที่ออกมาต่างๆ ดูจะเป็นไปในทางลบอยู่บ่อยครั้งทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าตัวกับพวกเคยกล่าวหาพระปราโมทย์ ปราโมชโช เจ้าสำนักสวนสันติธรรม จังหวัดชลบุรี ในหลายๆ เรื่อง อาทิ อวดอุตริ, ยักยอกทรัพย์, มีความความสัมพันธ์กับอดีตภรรยาก่อนที่เรื่องจะจบลงโดยเป็นเธอกลับพวกที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก
จากนั้นเจ้าตัวก็มีปัญหาฟ้องร้องกับคนบันเทิงที่เคยชอบพลอกัน, เรื่องคดีความของลูกชาย รวมถึงล่าสุดในการตัดสินยกฟ้องที่ออกมาซึ่งส่วนหนึ่งในคำพิพากษาได้ระบุไว้ชัดเจนว่า..."จึงต้องเชื่อได้ว่าตัวโจทก์เป็นคนที่ได้กระทำให้บุคคลผู้เสียเงินสมัครเข้าอบรมคอร์สเข็มทิศชีวิต ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทั้งในด้านชื่อเสียงและเงินทอง จึงนับว่าเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยหลักธรรมอันเป็นหลักการของศาสนาพุทธ"
"ดังนี้ โจทก์จึงไม่อาจอาศัยการกระทำที่ขัดแย้ง ไม่ตรง และไม่เป็นไปโดยชอบด้วยคำสอนของพระศาสดา มีเจตนามุ่งหวังและแสวงหากำไรเป็นประโยชน์เฉพาะตน มาใช้เป็นฐานรองรับในการขอใช้อำนาจแห่งกฎหมายคุ้มครอง การกระทำดังกล่าวว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของตนโดยชอบธรรม เพื่อให้ลงโทษบุคคลอื่นที่กล่าวประกาศตีแผ่และตำหนิติเตียนเฉพาะแต่การกระทำและผลของการกระทำของโจทก์ โดยไม่ใช่เป็นการใส่ร้ายในเรื่องส่วนตัวของโจทก์แต่ประการใด"