xs
xsm
sm
md
lg

Griselda : ‘แม่พระ’ แห่งวงการค้ายา หญิงบ้าระห่ำ ที่ปาโปล เอสโกบาร์ ยังกลัว!/อภินันท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



“ผมไม่กลัวผู้ชายหน้าไหน นอกจากผู้หญิงที่ชื่อ กริเซลดา บลังโก” (“ปาโบล เอสโกบาร์”)

เชื่อว่า หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามหรือรับรู้เรื่องราวของ “ปาโบล เอสโกบาร์” กันมาบ้าง เขาคือชาวโคลัมเบียซึ่งได้รับการขนานามว่าเป็น “ราชายาเสพติด” เพราะกิจการค้ายาของเขาที่รุ่งเรืองสุดขีดในช่วงปลายทศวรรษ 1980 จนถึงต้นทศวรรษ 1990 สร้างความมั่งคั่งร่ำรวย รวมทั้งอิทธิพลให้กับเขาอย่างมหาศาล แต่แล้วทำไม ชายผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่กลัวผู้ชายหน้าไหน กลับสารภาพแบบซื่อ ๆ ว่า เขากลัวผู้หญิงคนนี้ ... กริเซลดา บลังโก ...

เรื่องราวของกริเซลดา ได้รับการนำมาบอกเล่าอีกครั้งผ่านมินิซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์เรื่อง Griselda จำนวน 6 ตอนจบ ผลงานเรื่องนี้ไม่ได้บอกว่า เป็นซีรีส์ชีวประวัติ แต่เลือกใช้คำว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของกริเซลดา ดังนั้น คนที่เคยอ่านประวัติของเธอ หรือเคยดูหนังที่สร้างมาจากชีวิตของเธอ เช่น Cocaine Godmother อาจจะรู้สึกตงิด ๆ หรือตะขิดตะขวงใจไปบ้าง เพราะซีรีส์ค่อนข้างจะปรุงเสริมเติมแต่งรายละเอียดหรือแง่มุมเข้าไปเยอะพอสมควร ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่า ทางผู้สร้างมีแนวทางที่อยากชูให้เด่นขึ้นมาเป็นการพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของ “ผู้หญิง” ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่

เรื่องราวของซีรีส์ เริ่มต้นด้วยช่วงเวลาสำคัญที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในชีวิตของกริเซลดา หลังจากที่ทำมาหากินด้วยการรับจ้างเดินยาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในย่านเมเดยิน ซึ่งเป็นถิ่นที่ปาโปล เอสโกบาร์ ครอบครองอยู่ (และจริง ๆ เธอก็คือลูกข่ายของเอสโกบาร์นั่นเอง) แต่แล้วก็มีชนวนเหตุให้เธอต้องรีบหนีจากโคลัมเบีย เธอเดินทางไปยังไมอามี่ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พร้อมกับลูกชาย 3 คน และต้องขอพักอาศัยบ้านเพื่อนเพราะไม่มีเงินพอจะหาที่พักได้เอง

ชีวิตในไมอามี่ของเธอเริ่มต้นอย่างพอถูไถไปวัน ๆ ด้วยการทำงานให้กับบริษัทขายตั๋วเครื่องบินซึ่งเป็นกิจการเล็ก ๆ ของเพื่อน แต่ก็ดูท่าจะไม่พอตั้งตัวได้ จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอตัดสินใจนำ “ของสำคัญ” ที่ติดตัวมาจากโคลัมเบีย นั่นก็คือ โคเคน 1 ห่อ ที่แอบยัดเข้ามาในกระเป๋าใส่ของเล่นของลูก เมื่อเห็นลู่ทาง เธอจึงลองนำไปเสนอขายให้กับพวกค้ายาในไมอามี่ และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นจริง ๆ อีกครั้งของผู้หญิงคนนี้ ที่ได้รับสมญานามว่า “หม้ายดำ” และ “แม่อุปถัมภ์” หรือแม่พระแห่วงการค้ายา

สำหรับผู้สร้างซีรีส์เรื่องนี้ เป็นทีมเดียวกับที่ทำเรื่อง NARCOS ซีรีส์ที่ว่าด้วยประวัติชีวิตของปาโบล เอสโกบาร์ จึงอาจพูดได้ว่า น้ำหนักของการเล่าเรื่องคนค้ายาและวงการค้ายาเสพติดนั้น เป็นสิ่งถนัดอยู่แล้ว และสำหรับ Griselda ก็ต้องบอกว่า ไม่มีความน่าผิดหวังในจุดนี้ อีกทั้งชีวิตของกริเซลดาก็มีความดราม่าอยู่ในตัวเองสูง จึงเป็นต้นทุนให้ซีรีส์ทำออกมาได้ดีและดูสนุก

นอกเหนือจากเรื่องของการค้ายาที่เป็นด้านมืดและมากด้วยเหลี่ยมเล่ห์ชนิดที่มีชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งซีรีส์ทำออกมาได้เห็นภาพและดึงดูดน่าสนใจ แต่หลักใหญ่ใจความ ซีรีส์นำเสนอให้เห็นตัวตนของกริเซลดาที่พยายามมุ่งมั่นและทะเยอทะยานขั้นสุดเพื่อสร้างธุรกิจค้ายาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไมอามี่ รวมถึงอธิบายเหตุผลว่าเพราะอะไร เธอจึงต้องพยายามมากมายแบบสุดกู่ถึงเพียงนั้น

ทั้งบาดแผลชีวิตในวันเก่าก่อน รวมทั้งความสกปรกเลวทรามของวงการค้ายาในไมอามี่ที่เจออยู่ในปัจจุบัน ผลักดันให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องกระทำอะไรต่าง ๆ อย่างบ้าระห่ำหรือจะเรียกว่าบ้าคลั่งก็ได้ ซีรีส์พยายามอธิบายจุดนี้แบบจงใจและเห็นอกเห็นใจในตัวละครตัวนี้ที่คนดูทุกคนคงสัมผัสได้ ขณะที่ตัวนักแสดงอย่าง โซเฟีย เวอร์การ่า ก็เล่นเป็นกริเซลดาได้อย่างสมบทบทบาทและดุเดือดสุด ๆ

อย่างไรก็ดี อีกแง่มุมหนึ่งซึ่งถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นธีมหลักของซีรีส์ก็ว่าได้ นั่นก็คือการพูดถึงผู้หญิงในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1980 ถือเป็นห้วงเวลาสำคัญอีกช่วงหนึ่งที่กระแสเฟมินิสต์เติบโตอย่างมาก (ซึ่งก็เติบโตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน) ดังนั้น การที่ซีรีส์เลือกจะนำเสนอชีวิตของกริเซลดาออกมาในมุมนี้ จึงไม่ถือว่าเป็นการผิดที่ผิดทางแต่อย่างใด

ในซีรีส์ เราจะเห็นได้ว่า มีตัวละครหญิงที่สำคัญอยู่ 2 คนด้วยกัน คนแรกคือกริเซลดา อีกคนคือ “จูน” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามเอาผิดกริเซลดาให้ได้ ทั้งนี้ เราจะเห็นว่า ทั้งกริเซลดาและจูนต่างก็เผชิญปัญหาคล้าย ๆ กัน นั่นก็คือ การไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มใจจากผู้ชาย ขณะที่กริเซลดาต้องฟาดฟันกับพวกผู้ชายในวงการยาเสพติดที่เหมือนจะฟังแต่เสียงผู้ชายด้วยกัน อำนาจการตัดสินใจหรือการคุมถิ่นไมอามี่ต้องเป็นของผู้ชายเท่านั้น ทางด้านของจูนเองก็เหมือนจะเป็นเพียงไม้ประดับในโรงพัก แม้จะอยู่แผนกสืบสวนสอบสวนก็ตามที แต่บทบาทหรือความคิดของเธอก็มักจะหายไปกับสายลมทุกครั้งที่เธอหยิบยกขึ้นมานำเสนอ นายตำรวจซึ่งเป็นหัวหน้าที่เธอทำงานด้วย ถึงกับพูดออกมาว่า หน้าที่ของเธอก็มีเพียงทำให้กาแฟร้อนเสมอและเขียนรายงานไป หัวหน้า(ผู้ชาย)สรุปยังไงก็ว่าไปตามนั้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งกริเซลดาและจูน ต่างก็ได้พิสูจน์ตัวเองให้พวกผู้ชายได้เห็นถึง Woman Power หรือ “พลังหญิง” ในที่สุด แม้ว่าในส่วนของกริเซลดา เมื่อซีรีส์เดินทางไปถึงตอนที่ 4-5-6 ชีวิตของเธอจะเริ่มเหวี่ยงเข้าสู่ด้านที่มืดมนอีกครั้ง แต่เราคนดูก็ทั้งเข้าใจและเห็นใจในชะตากรรมที่เธอต้องเจอ ซึ่งสุดท้าย ความบ้าระห่ำทั้งหลายทั้งปวง ล้วนมีที่มา แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากการอัปยาเกินขนาดก็ตามที

แต่ที่แน่ ๆ นี่คือผู้หญิงที่ไม่ธรรมดามากที่สุดคนหนึ่ง เท่าที่โลกนี้เคยมีมา เธอเป็นทั้ง “แม่อุปถัมภ์” ที่ดูแลอุ้มชูผู้คนไม่น้อย แต่ก็มีด้านที่เป็นนางมารร้ายทำลายชีวิตของคนไม่น้อยเช่นกัน ความมุ่งมั่นแบบหลุดโลกของเธอ ไม่มีใครเอาอยู่ คิดดูก็แล้วกัน แม้กระทั่งราชายาเสพติดอย่างเอสโกบาร์ยังบอกว่า กลัว และไม่อยากพบอยากเจอผู้หญิงคนนี้











กำลังโหลดความคิดเห็น