องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ UN Women (องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ) ร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) จัดงานภายใต้ชื่อ "Safe Journey with Her: Ending Violence against Women for Safe and Fair Migration” ("ช่วยพวกเธอเดินทางอย่างปลอดภัย: หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงเพื่อการย้ายถิ่นทำงานที่ปลอดภัยและเป็นธรรม") เพื่อปลุกจิตสำนึก ความสนใจของสาธารณชน ให้รับรู้ถึงปัญหาและความท้าทายที่แรงงานข้ามชาติหญิงในประเทศอาเซียนต้องเผชิญ งานนี้จัดที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ปนัดดา บุญผลา รองผู้อำนวยการองค์การสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า จากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อแรงงานข้ามชาติหญิง รวมทั้งรัฐบาลประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียน ภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน มีส่วนช่วยให้แรงงานสตรีข้ามชาติได้รับการปกป้องที่ดีขึ้น
“องค์การแรงงานระหว่างประเทศให้ความสำคัญ กับการคุ้มครองในมิติของงานที่มีคุณค่า หรือที่เราใช้คำว่า decent work คือเรื่องของความเป็นธรรม ในสภาพของการทำงาน เช่น ค่าจ้าง ต้องได้รับความเท่าเทียม ที่สำคัญคือต้องมีส่วนจัดตั้งองค์กร หรือตั้งกลุ่มของตัวเอง เพื่อที่จะสะท้อนสิทธิ์ของตัวเองได้ มีกลไกของสหภาพแรงงาน ที่จะเปิดโอกาสให้เวทีของตัวเอง ในการนำเสนอปัญหา ร่วมคิดหาทางออก เพื่อสิทธิอันพึงมี พึงได้ อย่างไรก็ตามมิติชองแรงงานข้ามชาติ การตั้งสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีบ้างประเทศ เช่น มาเลเชีย หรือไทย สหภาพแรงงานได้พยายามให้แรงงานต่างด้าวเข้ามามีส่วนด้วย” ปนัดดากล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของแรงงานหญิง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ทุกคนได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรม ทั้งในแง่ของนโยบาย กฎหมายและอื่นๆ
“เป็นเรื่องที่น่ายินดี ขณะนี้ มีภาคีองค์กรต่างๆร่วมช่วยกันหาทางออก ทั้งภาครัฐ แรงงาน นายจ้าง ชุมชน ภาคีระดับชาติ และในระดับอาเซียน ซึ่งให้ความสำคัญและทำงานร่วมกัน เพื่อหาทางออกให้กับแรงงานหญิง “
ด้าน ซาราห์ นิบส์ (Ms Sarah Knibbs) รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาค UN Women กล่าวว่า โครงการนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมมือกันที่จะเปลี่ยนแปลง ทำให้คนเข้าใจชีวิตจริงของผู้หญิงที่สมควรได้รับการปกป้อง
“ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โครงการ Safe and Fair (“ปลอดภัยและเป็นธรรม”) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ILO, UN Women และ UNODC (สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ) ได้ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานหญิงมีความปลอดภัยและเป็นธรรม แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกมากที่ทำให้แรงงานหญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถพูดภาษาของประเทศที่ตัวเองไปทำงานอยู่ แม้ว่าหนทางที่จะลดความรุนแรงต่อสตรียังอีกยาวไกล แต่อยากเรียกร้องให้ทุกคนในสังคมรวมทั้งสถาบันและองค์กรต่างๆร่วมมือกันทำให้ความรุนแรงต่อสตรีหมดไป” รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาค UN Women กล่าว
การจัดงาน นี้ยังเปิดโอกาส ให้ผู้ที่คลุกคลีกับการทำงาน ด้านแรงงานสตรี จากประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์และไทย มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ และมุมมองที่จะช่วยผลักดัน ทำให้แรงงานหญิงข้ามชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย เพื่อบอกเล่าเรื่องราว และประสบการณ์ของแรงงานหญิงข้ามชาติ จำนวนหนึ่ง ในประเทศอาเซียน ที่เป็นตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ขณะทำงาน เช่น ที่ประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง รวมถึงและในประเทศไทย หลายคนถูกนายจ้างทุบตีหรือถูกเหยียดเชื้อชาติในที่ทำงาน บางคนก็ถูกทำร้ายโดยสามีของตัวเอง ทั้งนี้ได้มีแรงงานหญิงรุ่นพี่ ที่พัฒนาตนเองจนสามารถช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานรุ่นน้องที่ประสบปัญหาได้ และยังมีการแสดงผลงานภาพศิลปะ ของ ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา ซึ่งได้สะท้อนชีวิตแรงงานข้ามชาติหญิงในแขนงต่างๆ เช่น ประมง เกษตร โดยใช้ ดอกไม้ และสีสดใส ในผลงานเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความหวัง