xs
xsm
sm
md
lg

“เปิดต้นทุน รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ทุกสายทุกคนขึ้นได้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์กรของผู้บริโภค – กรมรางฯ - รฟม. พ้องเสียงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททำได้จริงแม้รัฐบาลต้องอุดหนุนแต่ถือว่าคุ้มค่ากับคุณภาพชีวิต ช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน นักวิชาการเสนอรัฐหนุนคนไทยต้อง ‘สร้างรถไฟฟ้าเอง’ เป็นวาระแห่งชาติ

จากการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประกาศเดินหน้านโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาท และกระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566 นี้ ให้นำร่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทใน 2 โครงการ คือ 1.รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และ 2.รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิต นั้น

วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) สภาผู้บริโภคจัด เสวนา "เปิดต้นทุน รถไฟฟ้า 20 บาท ทำได้ทุกสายทุกคนขึ้นได้" โดยมี นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ดร.พิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และรศ.ดร.ประมวล สุรีจารุวัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมเสวนาด้วย

ดร.พิเชษฐ์ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง
กล่าวว่า ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณานำร่อง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคา 20 บาท 2 สาย คือ สายสีม่วงและสายสีแดง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม โดยผู้ที่จ่ายค่าโดยสารระหว่าง 14 - 17 บาทจะจ่ายในราคาเดิม ส่วนผู้โดยสารที่จ่ายค่าโดยสารในราคามากกว่า 20 บาทจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในราคา 20 บาท รวมทั้งมีส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุโดยจะได้ใช้บริการในราคา 10 บาท

“รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงเป็นสายที่รัฐบาลดูแลทำให้สามารถลดราคาค่าโดยสาร 20 บาทลงได้ แต่แน่นอนว่ารัฐบาลต้องนำเงินงบประมาณมาสนับสนุน แต่เชื่อว่าคุ้มค่าเพราะทำให้ประชาชนลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดฝุ่น PM2.5 ลงเนื่องจากคนใช้รถยนต์น้อยลง” ดร.พิเชษฐ์กล่าว  

อย่างไรก็ตาม ดร.พิเชษฐ์ กล่าวว่า ขนส่งมวลชนถือเป็นบริการสาธารณะที่รัฐบาลต้องสนับสนุน จึงไม่อยากให้มองว่าทำไมรัฐบาลจึงนำเงินมามาอุดหนุนเฉพาะระบบราง เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลก็ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ เช่น ระบบถนน เช่นเดียวกับการอุดหนุนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็เพื่อไม่ต้องการให้ประชาชนแบกค่าโดยสารและทำให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทางมากขึ้น


ด้านนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  กล่าวว่า  สิ่งที่ รฟม. ได้ดำเนินการไปแล้วในส่วนของค่าโดยสาร คือ การลดค่าแรกเข้าระหว่างสายสีเหลือง น้ำเงินและม่วง และในปลายปีนี้ หากสายสีชมพูเปิดดำเนินการก็จะมีการลดค่าแรกเข้าเช่นกัน ทั้งนี้การดำเนินการรถไฟฟ้าราคา 20 บาทของ รฟม.จะเริ่มที่สายสีม่วง

อย่างไรก็ตามนโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาทจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณรอยละ 60 ของรายได้ปัจจุบัน แต่คาดว่าจะมี จำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน คือจาก 5.6 เป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน ทำให้มีต้นทุนค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท แม้ต้นทุนจะสูงกว่าค่าโดยสาร 20 บาท และรัฐต้องเข้าไปสนับสนุนก็ถือว่ามีความคุ้มค่ามากกว่า ในเรื่องมลพิษทางอากาศ ลดการใช้น้ำมัน


ขณะที่ รศ.ดร.ประมวล สุรีจารุวัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากรัฐดำเนินนโยบายเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายในรถไฟฟ้าทุกสี รัฐจะต้องอุดหนุนงบประมาณ ปีละ 12,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลข 12,000 บาทต่อปี เป็นการคิดคำนวณการเดินทางของผู้โดยสารข้ามไปมาแค่ 2 สายเท่านั้น

  “หากรัฐบาลทำโครงการรถไฟฟ้าราคา 20 บาทนำร่อง สีม่วงกับสีแดง รัฐต้องเตรียมเงินชดเชย  90 ล้านบาท ดังนั้น ในระยะสั้นของการทำโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในรถไฟฟ้าทุกสาย รัฐต้องอุดหนุนปีละ12,000 ล้านบาท” รศ.ดร.ประมวลกล่าว

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ประมวล ได้เสนอแผนลดการอุดหนุนค่าโดยสารของรัฐบาลในระยะยาว 2 ข้อ คือ 1) หาวิธีการลดต้นทุน เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าขบวนรถไฟฟ้าจากต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้นหากต้องการลดต้นทุน รัฐบาลต้องมีแผนในการสร้างขบวนรถไฟฟ้าเอง เป็นอุตสาหกรรมใหม่เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ    

2) รัฐต้องพัฒนาพื้นที่ ในส่วนที่ รฟม. รฟท. และกทม. เป็นเจ้าของที่ดินให้สามารถนำไปทำธุรกิจประเภทอื่นได้เพื่อพัฒนาเป็นเชิงพาณิชย์ให้หารายได้มาชดเชยค่าโดยสารที่รัฐบาลสนับสนุนไป โดยในเรื่องนี้ อาจจะต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งต้องมีการหารือในประเด็นนี้ต่อไปในอนาคต

“สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เรื่องราคา แต่หัวใจสำคัญคือรัฐเอาเงินไปอุดหนุน ผมรอว่ารัฐจะมีแผนสอง แผนสาม อย่างไร เพื่อลดต้นทุนและไปสร้างประโยชน์จากธุรกิจอื่นได้ เพื่อลดต้นทุน นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายและอยากให้นายกรัฐมนตรีมองเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติและรีบมาทำ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถสร้างรถไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองไม่ต้องนำเข้าตัวรถจากต่างประเทศ” รศ.ดร.ประมวล กล่าว


ด้าน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงาน สภาผู้บริโภค กล่าวว่า สนับสนุนนโยบายรัฐบาลรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พร้อมยืนยันว่าสามรถทำได้จริง ในเมื่อสายสีแดงและสีม่วงรัฐบาลต้องอุดหนุนอยู่แล้วจากการขาดทุน ดังนั้นหากการทำค่าโดยสารถูกลง และมีคนใช้บริการเพิ่มขึ้นก็จะทำให้โอกาสสายสีแดง และสายสีม่วงมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

“สภาผู้บริโภค เห็นว่าการชดเชยขนส่งมวลชนเป็นเรื่องที่ทำทั่วโลกทำกัน และ ไม่มีที่ไหน ที่ประชาชนจะจ่ายค่าขนส่งสาธารณะแบบ 100 เปอร์เซ็นต์แต่จะทำอย่างไรให้เกิดค่าโดยสารราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคมากที่สุด” เลขาธิการสภาผู้บริโภคกล่าว 

นางสาวสารี  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะใน 32 จังหวัดเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป โดยได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลักดันให้ผู้บริโภคสามารถใช้ บริการขนส่งสาธารณะ ได้ทุกคน ทุกวัน  ในราคาค่าบริการขนส่งมวลชนไม่เกินร้อยละ 5 - 10  ของค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่เกิน 35 บาทต่อวัน โดยได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวไปไปยังรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาแล้วเช่นกัน

“เราสนับสนุนรัฐบาลในนโยบายรถไฟฟ้าราคา 20 บาทและเรามั่นใจว่าสามารถทำได้ นอกจากนี้เรายังเห็นว่าการกำหนดราคารถไฟฟ้า 20 บาทจะทำให้ทุกคนสามารถเดินทางได้ทุกวันไป - กลับวันละ 40 บาทใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำมากขึ้นจึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งมวลชน  และสภาผู้บริโภคจะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งในกทม. และต่างจังหวัดเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงการเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย ราคาเป็นธรรม” นางสาวสารี  กล่าว 





กำลังโหลดความคิดเห็น