ถึงแม้จำนวนเพลงดังอาจมีมากไม่เท่านักร้องลูกทุ่งระดับตัวท็อปในตำนาน กระนั้นคงไม่มีคอเพลงลูกทุ่งคนไหนปฏิเสธว่า ‘ลาสาวแม่กลอง’ หาใช่ ‘ตำนานเอก’ แห่งวงการลูกทุ่งที่จะคงอยู่คู่กับเมืองไทยไปตราบนานเท่านาน
คนรุ่นใหม่คงมีไม่มากนักที่จะรู้จัก พนม นพพร ยกเว้นเป็นผู้ที่ชื่นชอบฟังเพลงลูกทุ่งเก่า รวมทั้งเคยฟังนักร้องรุ่นหลังที่เอาเพลง ‘ลาสาวแม่กลอง’ มาขับร้องใหม่ อาจจะคุ้นหูอยู่โขทีเดียว
ฟังมาว่า ก่อนพนม นพพร จะอัดแผ่นเสียงเพลงลาสาวแม่กลอง เขาไม่สมัครใจในเพลงนี้นัก ให้เหตุผลว่าไม่ใช่ทางหรือร่องของเขา แต่อย่างไรก็ตาม เพลงลูกทุ่งที่เป็นอภิมหาจำนวนไม่น้อยมักจะมีตำนานหันเหแบบเดียวกันนี้ ครั้นพอคนฟังได้ยินเป็นหนแรก เพลงหลายเพลงที่ว่ากลับกลายเป็นเพลงดังไปทั่วฟ้าเมืองไทยชั่วข้ามวัน
ลาสาวแม่กลองก็เช่นเดียวกัน
ผู้เขียนขออนุญาตไม่เอ่ยอ้างถึงเครดิตผู้ประพันธ์ลาสาวแม่กลอง เพราะไม่ถ่องแท้เสียทีเดียวว่าคนแต่งจริงคือใคร เอาเป็นว่าเป็นเรื่องราวความลับของเพื่อนกันสองคนในอดีตก็แล้วกัน
ตอนเรียนหนังสือชั้นประถม ผู้เขียนมีโอกาสดูวงดนตรีพนม นพพร น่าจะมากกว่า 3 ครั้ง เพลงดังของนักร้องรูปหล่อท่านนี้นอกจากลาสาวแม่กลอง ยังมีเซิ้งสวิง หนุนขอนต่างแขน นักร้องพเนจร เป็นต้น
จำติดตามาจนถึงวันนี้ก็ตรงที่นอกจากได้ดูการแสดงดนตรีลูกทุ่งแล้ว ยังได้ดูการแสดงจำลองฉากหนังบู๊ด้วย
เรื่องของเรื่องคือ นอกจากร้องเพลง พนม นพพร ยังเล่นหนังด้วย ส่วนมากเป็นหนังบู๊แอ็คชั่น ดังนั้นเขาจึงแปลงเวทีให้เป็นฉากจำลองของการถ่ายทำหนังไทยในยุคนั้นกำนัลให้กับคนดู
ตื่นเต้นและวาดเสียวมากกับฉากที่เขาเล่นเป็นตัวเอกแล้วถูกกลุ่มดาวร้ายถล่ม มีทั้งมีดจริง ขวานจริง ฟันโถมเข้าใส่ ส่วนพนม นพพร ใช้ปี๊บเป็นเครื่องป้องกัน
ฟันจังๆ จนปี๊บยุบต่อหน้าต่อตา
ต่อมาพนม นพพร ผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจ มีค่ายเพลงเป็นของตัวเอง ทำบริษัท เป็นนายกสมาคมนักเพลงลูกทุ่งฯ สร้างหนัง กระทั่งพาตัวเองไปอยู่เบื้องหลังแล้วเสียชีวิตในวัย 77 ปี
อย่างที่บอก พนม นพพร อาจไม่เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ แต่พอใครสักคนร้องบทเพลงที่เนื้อหาขึ้นต้นว่า....สิ้นแสงดาวดุเหว่าเร่าร้อง จากสุมทุมลุ่มน้ำแม่กลอง....
อีกคนต้องร้องได้ทันที่ว่า....พี่จำจากน้องคนงาม แว่วหวูดรถไฟ พี่แสนอาลัยสมุทรสงคราม...
แล้วค่อยตามไปครับพี่