xs
xsm
sm
md
lg

“อี๊ฟ พุทธธิดา” เคลียร์ดรามา “ลูกเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน” ลั่นแค่สะเทือนใจ ทำไมครูต้องตะคอก “น้องมีบุญ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อี๊ฟ พุทธธิดา” เคลียร์ดรามาโพสต์ระบายลูกถูกครูตะคอก ลั่นไม่ได้อยากได้คำขอโทษ แต่อยากให้จัดการกับอารมณ์ บอกตำหนิตนเสียดีกว่าจะไปตะคอกเด็กที่ไม่รู้เรื่อง โชคดีสามีไม่ได้ไปด้วย ไม่งั้นจะไม่ทนแน่ๆ

เป็นประเด็นดรามาอยู่ไม่น้อย กรณีที่ “อี๊ฟ พุทธธิดา ศิระฉายา” โพสต์เล่าเหตุการณ์ตอนพา “น้องมีบุญ” ลูกชายวัย 4 ขวบ ไปที่โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้แห่งหนึ่ง แต่ลูกชายกลับเกิดอาการงอแงหนักมาก ไม่ยอมเข้าเรียน ก่อนถูกคุณครูตะคอกใส่ลูก ลั่นไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นครูได้ และไม่ใช่ทุกคนที่จะเอาใจใส่เข้าใจเด็ก ต่อมามีชาวเน็ตรายหนึ่งเข้ามาวิจารณ์ว่าลูกเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน ถ้าลูกไม่พร้อม และจัดการกับลูกไม่ได้ ควรแยกไปหาที่สงบๆ คุยกันเอง บางที การร้องไห้ไม่หยุด มันส่งเสียงรบกวนสมาธิในการเรียนของคนอื่น ซึ่งอี๊ฟก็ตอบกลับว่า “ก็แค่ไม่ควรมาตะคอกเด็กค่ะ จะแจ้งผู้ใหญ่จะตำหนิหรือบอกกล่าวพูดกันแบบผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ขอให้ลูกหลานคุณไม่ต้องเจอคนที่ไม่รู้จักกันมาตะคอกใส่แบบนี้ เพราะมันไม่โอเค ยิ่งอาชีพที่ต้องรับมือกับเด็กก็ควรมีวิธีแบบมืออาชีพและจิตใจที่เมตตาค่ะ”

ล่าสุดได้เจอตัวอี๊ฟ พุทธธิดา ในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไทยยอดเยี่ยม “ชมรมวิจารณ์บันเทิง ครั้งที่ 31” เจ้าตัวก็เผยว่าสิ่งที่โพสต์แค่ระบายเล็กๆ ไม่ได้อยากให้ใครต้องมาขอโทษอะไรทั้งนั้น แต่โชคดีที่วันนั้นสามี “ต้น เติมศักดิ์” ไม่ได้ไปด้วย เพราะอีกฝ่ายจะไม่ทนแน่ๆ
 
“ไม่หรอกค่ะ มันเป็นเรื่องความรู้สึกของคนเป็นแม่มากกว่า จริงๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร แล้วก็ไม่ได้ต้องการให้มันเป็นประเด็นด้วย มันเป็นแค่ความรู้สึกเหมือนเราก็สะเทือนอารมณ์ของเรา ณ เวลานั้น ตอนที่เราเห็นลูกโดนตะคอก แล้วมันดันเป็นตอนที่เขาอุตส่าห์อยากจะกลับลงไปเรียนแล้ว แต่ความงอแงของเขามันไม่เอื้อ จังหวะหมุนตัวที่จะพาลูกออกจากประตูก็คิดว่าเขาจะเดินตามเรามา เห็นว่าเขาหยุดยืนอยู่ที่เดิมและร้องไห้ เราก็กำลังจะหันไปคว้าลูกแต่ไม่ทันถึงตัว ครูคนนั้นก็เดินอ้อมเคาน์เตอร์มาตะคอกลูกเราก่อนว่า No! แล้วก็ยังทำเสียง…ชู่ว! ใส่อีก เราก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ย! ขนาดเราเป็นแม่เรายืนอยู่ตรงนั้น เขามาบอกเราหรือตำหนิเราก็ได้ว่า คุณแม่คะรบกวนน้องคนอื่น รบกวนพาลูกออกไปข้างนอก เรารับได้เพราะเรารู้ว่ามันรบกวนจริงๆ คือเราไม่ได้พูดว่าลูกเราไม่งอแง เพราะก่อนหน้านั้นเราก็พาลูกออกมาแล้วรอบนึงแล้วกลับเข้าไป โอเคเข้าใจได้ว่าอาจจะไม่พอใจ รำคาญ หรืออะไร แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เขาควรจะทำกับเด็ก

ปกติเป็นคนไม่ค่อยโพสต์หรือบ่นอะไร แต่พอมันเป็นเรื่องลูก…คือเราก็อยากรู้ด้วยแหละว่าเราโพสต์ไปแล้วแม่คนอื่นเขาจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งก็มีบางคอมเมนต์พูดกลับมาเหมือนกันว่าลูกเราไม่ได้น่ารักกับทุกคน เราก็บอกว่าเราเข้าใจตรงนั้น แต่เราแค่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่ที่วุฒิภาวะมาตะคอกเด็ก โดยเฉพาะกับคนที่เด็กไม่ได้รู้จักด้วย มันถูกแล้วเหรอ เราก็แค่อยากรู้ว่ามันถูกหรือเปล่าหรือเราคิดมากไปเอง”

ลั่นยิ่งตะคอก ไม่ได้ทำให้ลูกเงียบ
“เขาตกใจสะดุ้งนิดหนึ่ง แต่เขาก็ยิ่งร้องไง มันไม่ได้ทำให้เขาเงียบ เลยทำให้เห็นว่านั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา โดยเฉพาะคุณไม่ได้เป็นคนที่เด็กรู้จักด้วย เขาก็ยิ่งกลัวเปล่า เราแค่รู้สึกว่าโรงเรียนเด็กเล็ก เด็กเล็กขนาดนี้คงต้องใช้บุคลากรที่มีความเข้าใจนิดนึงหรือเปล่า”
 
ไม่ได้อยากให้โรงเรียนหรืออีกฝ่ายมาขอโทษ โพสต์เพื่อระบายเล็กๆ
“หลังจากโพสต์ไม่มีฟีดแบ็กกลับมาค่ะ แล้วจริงๆ เราไม่ได้อยากให้เขามาขอโทษหรืออะไร คือไม่ได้ต้องการอะไรเลย มันเป็นการโพสต์เพื่อลงความเห็นและการระบายเล็กๆ ของเรามากกว่า แล้วตอนที่เจอเองเราไม่ได้เทกแอ็กชั่นอะไรเลย แค่ดึงลูกตัวเองออกมา แล้วก็มายืนพูดกับลูกข้างหน้าโรงเรียนว่า หนูจะไม่ได้กลับมาที่นี่แล้วนะคะเพราะว่าหนูงอแง แล้วหนูก็ต้องไม่งอแงแบบนี้อีก อย่างที่บอกเราไม่ได้มองว่าลูกเราทำถูก ก็พาลูกเดินไป จะไปกินข้าว แล้วก็ไปผ่านอีกโรงเรียนหนึ่ง แล้วการตอบสนองของอีกโรงเรียนหนึ่งในสภาวะเดียวกันมันต่างออกไป มันเลยยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า เราคงไม่ได้คิดเองมั้ง ว่าการรับมือกับเด็กเล็ก มันควรจะทำวิธีไหน

ถามว่าอีกโรงเรียนหนึ่งเขามีวิธีจัดการได้ดีกว่าใช่ไหม คือมีบุญก็ไม่ได้หยุดร้องนะ คือวันนั้นเขางอแงมาก ไม่รู้ว่าเขาง่วงไรอะไร เพราะปกติเวลาไปห่างลูกไม่เคยร้องขนาดนี้เลย ทำให้เราแปลกใจ ว่าเขาคงอารมณ์ไม่ดีอะไรสักอย่าง คงขัดใจเขา เพราะตอนแรกเขาคิดว่าเขาจะเรียนอีกที่หนึ่ง แต่เราลากเขาไปอีกที่หนึ่ง แล้วพอเรายอมเรียนแล้ว ก็ไม่ให้เรียนอีก พอจะกลับบ้านดันไปผ่านโรงเรียนที่อยากจะเรียนอีก เขาก็เลยเสียใจ

ถามว่าจากนี้เราจะกังวลไหม ถ้าพาลูกไปเรียนแล้วจะเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก มันอาจจะแยกเป็นประเด็นๆ ได้ ว่าถ้าเกิดใครที่อยู่ในอาชีพนี้ หรือว่าเป็นเจ้าของกิจการก็ได้ เพราะบางทีก็ไม่ใช่ตัวเจ้าของกิจการ ไม่ใช่ตัวคุณครู อาจจะเป็นแค่เจ้าหน้าที่ก็ได้ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเด็ก อี๊ฟว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความรู้สึกของเด็กก็หนึ่ง ความรู้สึกของผู้ปกครองก็อีกหนึ่ง เป็นสิ่งที่ควรจะคำนึงถึงสักนิดหนึ่งค่ะ

โชคดีสามีไม่ได้ไปด้วยเพราะอีกฝ่ายจะไม่ทนแน่ๆ
“ดีมากที่ต้นไม่ได้ไป (หัวเราะ) ถ้าต้นไปอาจจะไม่ใช่แบบนี้ เพราะเขาจะไม่ทน แล้วมีแม่หลายคนที่บอกว่าอี๊ฟใจเย็น คืออี๊ฟไม่ได้ใจเย็นหรอก อี๊ฟอึ้งมากกว่า อี๊ฟตกใจ อี๊ฟพูดตรงๆ คือเราอึ้ง แล้วก็รู้สึกว่าใช่เหรอ เรารู้ว่าลูกเราทำไม่ถูก แต่เขาก็คือเด็ก 4 ขวบ เขาไม่ได้ไปขว้างปาข้าวของอะไร เขาก็แค่ร้องไห้”

บอกตีลูกลงโทษไปแล้ว เพราะงอแง
“จริงๆ คืออี๊ฟตีลูกไปแล้ว ก่อนที่เขาจะสงบสติอารมณ์และลงไปว่าอยากเรียน ตีไปแล้ว ลงโทษไปแล้ว ว่าจะงอแงพูดไม่รู้เรื่องแบบนี้ไม่ได้ เพราะตอนแรกเขาไม่เอาเลย เขาอยากไปอีกที่หนึ่ง ซึ่งอี๊ฟก็ดึงออกมาข้างนอก แล้วคุยกันแล้ว เคลียร์กันแล้ว เขาก็ยืนยันว่าเขาอยากเรียน เราก็เลยบอกงั้นลูกต้องเงียบก่อน ต้องสงบก่อน พอเขานิ่งแล้วก็เลยเอาเขาลงไป แล้วอี๊ฟไม่เปิดประตูให้ด้วย อี๊ฟบอกว่าถ้าอยากเรียนให้เปิดประตูเข้าไปเอง เขาก็เป็นคนผลักประตูเข้าไปเอง

หลังจากเหตุการณ์นี้ถามว่าเราสอนเขายังไงบ้าง เราก็สอน แต่ก็อย่างที่อี๊ฟพูด ว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกวัน เราก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงงอแงวันนั้น แต่ก็อย่างที่บอกว่าความรู้สึกเด็กเรื่องหนึ่ง ความรู้สึกผู้ปกครองเรื่องหนึ่ง การคัดสรรบุคลากรหรือว่าการรับมือ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องดูค่ะ”

ตำหนิตนเสียดีกว่าจะไปตะคอกเด็กที่ไม่รู้เรื่อง
“คือเขาไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กมาก่อน ง่ายที่สุดคือบอกผู้ปกครอง คือตำหนิเราซะยังดีกว่า ที่จะไปตะคอกเด็กที่เขาไม่รู้เรื่องอะไร เขาก็รู้เรื่องแหละ แต่ไม่ใช่เวลานั้น และมันก็ไม่ใช่การวิธีรับมือกับเด็กที่กำลังงอแงได้ดี

ถามว่าอยากบอกอะไรไหม ใครก็ตามที่ทำอยู่ในบริเวณที่เกี่ยวกับเด็ก อาจจะได้สะท้อนดูด้วย ว่าเราเต็มที่ไหม เรามีความพร้อมหรือเปล่า ที่จะทำงานกับเด็ก เพราะมันเป็นเรื่องหนึ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หรือถ้าใครกำลังเครียดมากๆ กับสภาวะการทำงานเกี่ยวกับเด็ก ก็อยากให้ใจเย็นด้วยตัวเองก่อน คิดให้ดีก่อนที่จะทำสิ่งนี้กับเด็กค่ะ”

















กำลังโหลดความคิดเห็น