xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อความงมงายทำลายมรดกชาติ!! “ผีไทย” ตัวขับไล่คนเข้าถึง “ดนตรี-นาฏศิลป์”? [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หยุดเรื่อง “ผี“ ใน “ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย” มันกำลัง ทำลายวัฒนธรรม ? มือระนาดเอกชี้ ไม่เกี่ยวเรื่อง “ผี” คนตั้งคำถาม อาจเพราะ “ขนบ” ที่มากมาย ทำให้นาฏศิลป์ กำลังจะหายไปหรือเปล่า?



เจาะตัวแปรสำคัญ เข้าไม่ถึง “ดนตรีไทย-นาฏศิลป์”
กลายเป็นที่ ถกเถียงกันในสังคมออนไลน์ เมื่อ ปาเจร พัฒนศิริ นักดนตรีไทยร่วมสมัย ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก “Fino the Ranad” ว่าหยุด! ผลิตซ้ำเนื้อหาและวาทกรรม "ผีดนตรีนาฏศิลป์ไทย"
ชาวดนตรีและนาฏศิลป์ไทย พยายามกันมาตลอดให้คนเปิดใจกับ ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยแต่มักจะต้องแพ้ต่อ ทัศนคติเชิงลบ ที่เชื่อว่า "ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย"มักมาคู่กับ "ภูตผีวิญญาณ"



“ตลอดเวลาที่เป็นนักดนตรีไทยมา ยังไม่เคยต้องวิ่งหัวซุกหัวซุนหนีผี ทุกวันนี้ผมยังนอนท่ามกลางเครื่องดนตรีไทย โดยไม่มีผีที่ไหนมาสีซอให้ฟัง ดังนั้นจึงอยากรณรงค์ให้หยุดสร้างเนื้อหาผีดนตรีนาฏศิลป์ไทยในสื่อต่าง ๆ”



และยังได้ตั้งคำถามว่า มันจะดีกว่าไหม ถ้าเรามารวมสร้างเนื้อหา “เชิงบวก” แทนที่จะเป็น “ความกลัว” อยากให้เป็นการพัฒนา ต่อยอด ดนตรีนาฏศิลป์ไทยดีกว่า “อย่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายศิลปะแขนงนี้เลย”



จากโพสต์นี้ หลายคนก็ได้เข้ามา แสดงความคิดเห็นว่า ที่คนไม่ค่อยสนใจ ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย เพราะเรื่อง “ผี” จริงๆเหรอ? หรือเป็นเพราะ ขนบประเพณีที่ทำให้มันกลายเป็นของสูงส่ง เสียจนคนเข้าถึงยาก

ทีมข่าวจึงต่อสายหา ขุนอิน-ณรงค์ โตสง่ามือระนาดเอก ผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรีไทยว่า ความกลัวเรื่อง “ผีสาง” มีผลต่อความนิยมของดนตรีไทยจริงๆหรือ?



                                              {ขุนอิน-ณรงค์ โตสง่า}

“ครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ผี เขามีไว้คุ้มครองด้วยซ้ำไปนะครับ ที่นี้ คนที่เล่นหรือไม่เล่นไม่เกี่ยวหรอกครับ”
เมื่อมีคนมองว่า ความเข้มงวดของขนบประเพณีของดนตรีไทย ทำให้คนไม่อยากเล่นขุนอิน บอกว่า ดนตรีไทยไม่มีอะไรเข้มงวด เหมือนการเรียนภาษาไทย ที่ต้องผสมสระก่อน ก็เหมือนกับการต่อเพลง
“มันไม่ได้ยากเย็นเลยครับ ถ้ามันยากเย็นก็คงไม่มีใครมาเรียนเลยสักคนนะครับ”



ขุนอินมองว่า ความนิยมในดนตรีไทยที่น้อยลงนั้น เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากกว่า ไม่ใช้ทัศนคติแง่ลบในเรื่องผี สมัยนี้ รายการดนตรีไทยคนไม่ค่อยดู ต่างจากดนตรีสากลที่เป็นที่นิยมมากกว่าในสื่อ
“มันคือยุคที่เปลี่ยนไปมากกว่า คือจริงๆ แล้ว ก่อนหน้านี้มันก็เป็นมานานแล้วนะ ยุคที่เปลี่ยนไปดนตรีไทยมันเข้าไม่ถึงคนธรรมดาทั่วไทย เพราะว่าสื่อไม่ช่วยเหลือ ไม่ค่อยมีคนดู”
โดยเฉพาะ ในสื่อตอนนี้เปิดไปช่องไหนก็เจอแต่ รายการประกวดเพลงสากล ทำให้ดนตรีไทยจะกลับมานิยมก็คงยาก ไม่เหมือนกับช่วงที่ หนังเรื่อง “โหมโรง” ออกฉาย
 


“พูดง่ายๆ สมัยก่อนมันมีหนังเรื่อง โหมโรง ออกมา ดนตรีไทยบูมมาก บูมจนดนตรีสากลแพ้ไปเลยช่วงหนึ่ง ดนตรีสากลแทบไม่มีคนเรียนเลยนะครับ”

ขุนอิน เสริมว่า แต่กลับไม่มีใครฉวยโอกาส ตอนที่กระแสดนตรีไทยกำลังมา บวกกับไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอ คนดนตรีก็ไม่มีที่ ให้เล่นให้แสดงออก สื่อและผู้ใหญ่วงการการเมืองต้องช่วยกัน ให้ดนตรีไทยกลับมา
และใน 10ปีที่ผ่านมาการนำเสนอ ”ดนตรีไทย” สู่โลกภายนอก หรือทำให้รวมสมัย มัก “เอาแค่เป็นกลิ่นเฉยๆ” ทำให้ดนตรีไทยเป็นได้แค่ตัวประกอบ การที่จะมีวิวัฒนาการหรือกลับมาเป็นที่นิยม เป็นไปได้ยาก
 


“โลกมันเปลี่ยนไป ดนตรีไทย ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร พยายามจะเปลี่ยนนะแต่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่ได้การสนับสนุนที่ดี”

“ขนบ” เยอะไป ทำลายตัวเอง?
แต่คนกลุ่มหนึ่งมองว่า วงการดนตรีและนาฏศิลป์ไทย เองนั้นแหละที่ทำให้มันไม่น่าสนใจ เพราะพิธีที่ยุ่งยาก และข้อจำกัดที่มากมาย มันทำให้คนไม่อยากเสพ และนี่คือหนึ่งในคอมเมนต์ที่น่าสนใจบนโซเชียลฯ
“ถ้าถามว่าทำไมเครื่องดนตรีไทยเหมือนกำลังจะตาย และได้รับความนิยมเท่าเครื่องดนตรีสากล ส่วนตัวผมว่ามันอยู่ที่ความยุ่งยากและเข้าถึงยาก เช่น ถ้าคุณอยากเล่นเครื่องดนตรีไทย วงการจะบอกให้คุณทำพิธีกรรมนู่นนี่ ทำตามธรรมเนียมนู่นนี่ ขณะที่เครื่องดนตรีสากล คุณสามารถไปซื้อที่ร้านพร้อมหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อฝึกเล่นได้เลย”



น้าตั๋ว-คชรักษ์ แก้วสุราช นักรีวิวหนัง ได้โพสต์ในแฟนเพจ “ตั๋วร้อนWorldwide” ว่า ถ้าอยากให้หยุดเรื่อง “ผี” ที่เกี่ยวกับ ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย คนในวงการนาฏศิลป์ไทยเอง ก็ควรเลิกขู่เด็กให้กลัวก่อน
“ระวังอย่าจับอย่างวางไว้ส่งเดชนะ เดี๋ยวของเข้าตัว ชุดไทยของสูงนะ ระวังโดนหักคอ ฯลฯ และอีกมากมายหลายคำขู่คำต้องห้าม สตอรี่ต่างๆล้วนเกิดจากการที่ถูกฝังหัวแล้วเอาไปสานต่อจินตนาการนี่แหละ”



หรืออย่างเพจ “horrorclub.net” ก็ได้โพสต์ประเด็นที่หน้าสนใจเอาไว้ว่า การที่เรามอบความศักดิ์สิทธิ์ ให้กับนาฏศิลป์ไทย “ทำให้ศิลปะไทยแทนที่น่าเข้าหา กลับยิ่งดูน่ากลัวมากกว่า” ไม่แปลกที่คนจะมองว่า “ดนตรีไทย นางรำ = ผี”



“ไอ้ความกลัวว่า ศิลปะวัฒนธรรมไทยจะถูกลบหลู่ดูหมิ่น จนต้องสร้างกฎเคร่งครัดขึ้นมารักษา มันกลับยิ่งจะทำให้คนรุ่นใหม่ถอยห่างออกจากการเรียนรู้ศิลปะไทยนะ”
อย่าแปลกใจ ถ้าเด็กรุ่มใหม่จะ“เบื่อ” ในกฎระเบียบและขนบที่มากมายของ “ศิลปะวัฒนธรรมไทย” เขาแค่ อยากสนุก อยากลองผิดลอง ไม่ใช่ต้องมานั่งตัวเกร็ง “ไอ้นั้นก็ไม่ได้ ไอ้นี้ก็ห้ามคือถ้ามันสูงส่งนักก็เก็บไว้ดูกันเองบนหิ้งเถอะ"

ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ได้เคยสัมภาษณ์ไว้ในบทความ “ผีนางรำ ในภาพยนตร์ไทย สะท้อนอะไรในสังคม?” ถึงการนำนาฏศิลป์มาใช้ในหนังสยองขวัญ ทำให้ภาพลักษณ์ไม่น่าเข้าหาหรือเปล่า จากหนัง “เศียรสยอง”
ความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตื้นเขินเกิดไป การนำของที่มีนับถือหรือเครารพบูชา มาใส่ในหนังสามารถทำได้ ถ้าไม่ใช้การดูถูกเหยียบหยามมันไม่ได้แปลว่าแตะต้องไม่ได้
 


“เป็นปัญหาของการที่เรางมงายอยู่กับความเชื่ออะไรบางอย่างจนเกินไป แล้วนำทุกสิ่งทุกอย่างมาปะปนกัน ความเชื่อจะเป็นการยับยั้งการเติบโตของงานศิลปะ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)



สกู๊ป: ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ขุนอิน ปีศาจระนาด” ,”ขุนอิน โหมโรง ณรงค์ โตสง่า”, “Fino the Ranad”, www.4gamers.co.th
คลิป : จิตริน เตื่อยโยชน์
พากย์เสียง : ดรงค์ ฤทธิปัญญา



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น