xs
xsm
sm
md
lg

บพข.หนุนท่องเที่ยวรักษ์โลกลงพื้นที่สุราษฎร์ดันชุมชนยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บพข.หนุนท่องเที่ยวรักษ์โลก มุ่งคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทดสอบโครงการวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนวิถีแห่งสายน้ำ คลองร้อยสาย จ.สุราษฎร์ธานี เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว ลงพื้นที่ทดสอบและประเมินกิจกรรม ภายใต้โครงการวิจัย การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนวิถีแห่งสายน้ำตามแนวทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)

โดยมีการลงพื้นที่คลองร้อยสาย จ.สุราษฎร์ธานี ผ่านกิจกรรมที่ช่วยรักษ์โลก ลดการปล่อยคาร์บอน คือ การล่องเรือคลองร้อยสไตล์ CO2 Neutral การปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน การทำกระถางลดโลกร้อน การพายเรือเก็บขยะในคลอง การนำขยะในพื้นที่มาทำเพิ่มมูลค่า ทำเมนูอาหาร low carbon จากเตาชีวมวล โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน พร้อมทั้งเข้าชมสวนลุงสงค์ เพื่อเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าว เช่น สบู่ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ส่วนที่เหลือใช้จากมะพร้าว ซึ่งได้รับมาตรฐานมากมาย รวมถึงการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย (คาร์บอนฟุตพริ้นท์)

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช กล่าวว่า สกสว. และ บพข. ได้สนับสนุนการวิจัย Carbon Neutral Tourism ตั้งแต่ปลายปี 2563 – ปัจจุบัน 2566 ซึ่งบพข.จัดสรรงบประมาณที่ได้รับจากกองทุน ววน. จำนวนราว 120 ล้านบาท ผ่าน 17 แผนงาน เพื่อส่งเสริมและเพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เร่งขยายเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ชุมชน เน้นการขยายตลาดและยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวคุณภาพสูง

“แผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.ได้ออกแบบการวิจัยควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนโดยเป็นการวิจัยที่มุ่งเน้นให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูงจากฐานมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสร้างงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการที่มีความถนัดในด้านการตลาด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มรายได้ให้กับประเทศ พร้อมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย ” ผศ.สุภาวดีกล่าว

ทั้งนี้การท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) เป็นการสนับสนุนให้มีการดำเนินธุรกิจที่สอดรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบต่อโลก และช่วยลดโลกร้อน













กำลังโหลดความคิดเห็น